คุณ ปริตา เพชรพิพัฒน์ หรือคุณหมวย ทนายความจากรัฐนิวเซสท์เวลส์เล่าให้เอสบีเอสไทยฟังถึงเรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจในการเรียนทนายความว่า เมื่อครั้งที่เลือกเรียนปริญญาตรีเธอเคยคิดอยากเรียนกฎหมายแต่สุดท้ายก็เลือกไปเรียนสายภาษา บวกกับเธอชอบทำงานช่วยเหลือคนอยู่เป็นทุนเดิม และเมื่อต้องย้ายตามสามีมาอยู่ออสเตรเลียเธอจึงคิดว่าอยากเลือกเรียนสิ่งที่ตัวเองชอบจริงๆ และต้องเป็นการเรียนที่ต่อยอดและเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้เธอในประเทศออสเตรเลีย
“ตอนย้ายตามสามีมาออสเตรเลีย หมวยรู้สึกว่าเราอายุเยอะ ถ้าจะเรียนอะไรสักอย่างอีกครั้งต้องเป็นสิ่งที่เราชอบจริงๆ สองต้องเป็นการเรียนที่เปิดประตูโอกาสให้เราในออสเตรเลีย และข้อที่สามคือการที่เรามาจากต่างประเทศภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาแม่ของเรา บางครั้งโอกาสของเราค่อนข้างจำกัด หมวยเลยอยากเรียนอะไรที่ไม่เหมือนคนอื่น ”
การเรียนกฎหมายในออสเตรเลียมีขั้นตอนอย่างไร
คุณ หมวยเปิดเผยว่าการเรียนกฎหมายในออสเตรเลียมีหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การสอบไอเอลส์ให้ได้คะแนนที่มหาวิทยาลัยต้องการ เมื่อผ่านแล้วจึงยื่นสมัครเรียน หลักสูตรการเรียนกฎหมายเต็มเวลาเป็นเวลา 3 ปี เมื่อเรียนจบแล้วต้องเรียน Practical เป็นระยะเวลา 1 ปี หลังจากนั้นต้องยื่นเรื่องไปยังศาล Supreme court เพื่อเข้าพิธีสาบานตน และต้องยื่นขอ practising certificate ซึ่งเป็นเหมือนการขึ้นทะเบียนเป็นทนายความกับ Law society ในรัฐนั้นๆ เมื่อผ่านขั้นตอนทั้งหมดแล้วจึงได้รับการรับรองว่าเป็นทนายความอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เธอเล่าประสบการณ์ของตนเองว่า
“ก่อนที่จะเป็นทนายได้ต้องเรียนเนื้อหากฎหมายจบแล้วต้องเรียนด้าน Practical 1 ปี พอจบแล้วเราต้องยื่นเรื่องไปยังศาล Supreme court เพื่อเข้าพิธีสาบานตน และต้องยื่นขอ practising certificate ซึ่งเป็นเหมือนเป็น Licence สำหรับทนายความกับ Law society of NSW จึงจะสามารถทำงานเป็นทนายได้”
คุณ ปริตา เพชรพิพัฒน์ ทนายความในรัฐนิวเซาท์เวลส์
หลักสูตรการเรียนกฎหมายที่ประเทศออสเตรเลียยากแค่ไหน
คุณปริตา เผยว่าสำหรับเธอนั้นมันยากมาก เธอต้องใช้ความพยายามมากกว่านักเรียนเจ้าของภาษาหลายเท่าแต่เธออาศัยความมุ่งมั่น อดทน ความมีวินัยและไม่ล้มเลิกจึงสามารถเรียนจนจบได้
“เรียนกฎหมายยากยังไง ยกตัวอย่างคือ (อ่านหนังสือ) รอบแรกไม่เข้าใจอะไรเลย รอบสอง 25% รอบสามเข้าใจ 50% แล้วก็ต้องอ่านรอบที่ 4 เพื่อให้เข้าใจจริงๆ ซี่งการเรียนกฎหมายของหมวยช่วงแรกๆ ต้องบอกเลยว่า work load ของหมวยมากกว่านักเรียนเจ้าของภาษาถึง 4 เท่า เพราะว่าระดับภาษาเรายังไม่ได้ แต่ว่าความมีระเบียบวินัย เคารพความสามารถของตัวเองและการไม่ล้มเลิก ภาษาของเราก็ดีขึ้นเรื่อยๆ”
คุณปริตาอธิบายว่า การเรียนกฎหมายในออสเตรเลียจะเน้นการทำความเข้าใจข้อกฎหมายและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่าการท่องจำตัวบทกฎหมายอย่างเดียว
การเรียนกฎหมายที่นี่เน้นความเข้าใจและใช้ให้เป็น เวลาเค้าทดสอบเค้าจะทดสอบความเข้าใจกฎหมายของเรามากกว่าว่าเราใช้เป็นหรือเปล่า ถ้าเราเข้าใจและสามารถใส่ reference ได้ ยังไงก็เรียนผ่านแน่นอน
การพัฒนาภาษาอังกฤษสำหรับคนที่ต้องการเรียนต่อ
คุณปริตาแนะนำเคล็ดลับการพัฒนาภาษาอังกฤษให้ดีขึ้นว่าอันดับแรกต้องวิเคราะห์จุดเด่น จุดด้อยของตนเอง แล้วจึงพัฒนาด้านนั้นอย่างสม่ำเสมอ การเตรียมตัวการการฝึกฝนอย่างเต็มที่ช่วยให้เราใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างมั่นใจมากขึ้นไม่ว่าสถานการณ์ใดก็ตาม
“อันดับแรกเลยต้องรู้ว่าเราด้อยจุดไหน อย่างหมวยตอนแรกรู้ตัวเลยว่าด้อยภาษาพูด ก็เลยพยายามที่จะฟัง podcast เกี่ยวกับกฎหมายทำให้เราได้เรียนรู้ความหมายของคำศัพท์ต่างๆ ในบริบทที่ถูกต้องจะเราก็นำมาใช้ได้ถูกต้อง ยิ่งเราเตรียมตัวมากเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้น”
คุณปริตาเล่าว่าเธอรู้สึกว่าการที่มีภูมิหลังมาจากชุมชนหลากวัฒนธรรมไม่ได้เป็นจุดด้อยแต่เธอนำความเข้าใจด้านภาษาและวัฒนธรรมมาเป็นจุดเด่นและเอกลักษณ์ซึ่งมีประโยชน์ในการทำงานเป็นอย่างมาก
“การว่าความครั้งแรกที่ประทับใจเพราะว่าหมวยได้ความแตกต่างของหมวยเอง คือความแตกต่างด้านความรู้ของวัฒนธรรม ภาษาที่แตกต่างกันนำมาใช้ช่วยเหลือลูกความ โดยหมวยสามารถอธิบายให้คนฟังเข้าใจว่าทำไมคุณคนนี้ถึงทำแบบนี้มากกว่าทนายที่เป็นคนออสเตรเลีย มันก็เลยทำให้เคสออกมาได้ดีมากขึ้น”
จะขอรับคำปรึกษาทางกฎหมายที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายจากองค์กรใดได้บ้าง
คุณ ปาริตา กล่าวว่ามีหลากหลายองค์กรที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายฟรีแต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของกฏหมายด้วย เช่นกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจ หรือการซื้อขายบ้านซึ่งองค์กรเหล่านี้อาจไม่สามารถให้คำปรึกษาได้ นอกจากนี้คุณยังสามารถขอใช้บริการล่ามเพื่อช่วยเหลือในการขอรับคำปรึกษาทางกฎหมายกับองค์กรดังกล่าวได้ด้วย
“มีหลายองค์กร (ในรัฐนิวเซาท์เวลส์) อย่างเช่น Community Legal centre ต่างๆ สามารถ google ได้และมีลิตส์ออกมาเอยะมาก หรือ Law access ที่ 1300 888 529 จะเป็นการให้ข้อมูลเบื้องต้น และสามารถติดต่อล่ามได้ที่เบอร์ 13 14 50 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ก็มี Legal aids ตามรัฐต่างๆ”
คุณสามารถขอรับคำปรึกษาทางกฎหมายเบื้องต้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ที่
Community Legal centres ในรัฐของคุณ
Law access เบอร์โทรศัพท์ 1300 888 529
Legal aids ในรัฐของคุณ
สามารถติดต่อล่ามได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 13 14 50
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่