เห็ดราที่อันตรายมากที่สุดพันธุ์หนึ่งของโลก ถูกพบในว่าเติบโตอยู่ในพื้นที่ทางเหนือสุดของรัฐควีนสแลนด์ โดยห่างไกลจากถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของมันในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี
เห็ดราพันธุ์ "พอยสัน ไฟร์ คอรัล" (Poison Fire Coral) หรือปะการังไฟพิษ มีลักษณะคล้ายปะการังสีแดงอมส้มสดใส ถูกพบว่าเติบโตอยู่บนพื้นดินใกล้รากของต้นไม้ใหญ่ โดยนายเรย์ พาล์เมอร์ ช่างภาพที่เชี่ยวชาญการถ่ายภาพเห็ดราในป่าดิบชื้น เรดลินช์ (Redlynch) เป็นผู้ค้นพบขณะสำรวจพื้นที่ป่าดังกล่าวใกล้เมืองแคนส์ (Cairns)
มีหลายคนที่เสียชีวิตในญี่ปุ่นและเกาหลีหลังจากบังเอิญกินเห็ดราดังกล่าวเข้าไป พิษของมันทำให้สมองของมนุษย์หดตัว และยังทำให้อวัยวะภายในร่างกายหลายอย่างล้มเหลวได้
มหาวิทยาลัยเจมส์ คุก ยืนยันว่าการค้นพบเห็ดราพันธุ์ "พอยสัน ไฟร์ คอรัล" เป็นการค้นพบเห็ดราพันธุ์ดังกล่าวครั้งแรกในออสเตรเลีย
ดร.แมตต์ บาร์เรตต์ นักพฤกษศาสตร์ ของ มหาวิทยาลัยเจมส์ คุก ที่ประจำอยู่ในศูนย์พฤกษาศาสตร์พืชเขตร้อนของออสเตรเลียในเมืองแคนส์ เตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือจับต้องเห็ดราที่มีสีสันสะดุดตาชนิดนี้ เนื่องจากมันเป็นเห็ดราพันธุ์เดียวในโลกที่นักวิทยาศาสตร์ทราบว่าพิษของมันสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ทางผิวหนัง“มันมีสารเคมีชุดหนึ่งที่เป็นอันตรายอย่างมากสำหรับสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่” ดร.บาร์เรตต์
People are warned not to touch the poison fire coral which has been detected growing in Australia for the first time. Source: Supplied: Ray Palmer
เขากล่าวต่อไปว่า ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเหตุใดเห็ดราพันธุ์นี้จึงมีพิษร้ายแรงเช่นนี้
“มันอาจเป็นเพื่อปัดป้องตัวมันเองจากเห็ดราอื่นๆ หรือเพื่อปกป้องตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของแมลง แต่บังเอิญที่มันเป็นพิษอย่างร้ายแรงถึงตายสำหรับมนุษย์”
นายเรย์ พาล์เมอร์ ชายวัยเกษียณที่บอกว่าตนเองเป็น “ผู้คลั่งไคล้เห็ดรา” กำลังสำรวจซอกหนึ่งของป่าดิบชื้นที่อยู่ใกล้บ้านของเขาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะที่เขาสังเกตเห็นเห็ดราที่มีลักษณะโดดเด่นพันธุ์ดังกล่าว
ด้วยความที่เขาตระหนักถึงอันตรายที่อาจแฝงอยู่ในเห็ดราชนิดนี้ เขาจึงได้เก็บตัวอย่างเห็ดราที่พบอย่างระมัดระวัง
“ผมไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะพบมัน ผมแค่ออกไปถ่ายรูปเห็ดราพันธุ์อื่นๆ ผมจึงได้เก็บมันขึ้นมาด้วยการใช้ใบไม้ในป่า และใช้ใบไม้เหมือนกับถุงมือ ค่อยๆ เก็บพวกมันบรรจุลงกล่อง และนำมันไปให้แมตต์ดู”
ดร.บาร์เรตต์ ได้เปรียบเทียบดีเอ็นเอและยืนยันการค้นพบครั้งนี้
ไม่ใช่ครั้งแรกที่นายพาล์เมอร์ได้ช่วยค้นพบเห็ดราพันธุ์ใหม่ที่เติบโตในออสเตรเลีย นับตั้งแต่เขาเริ่มบันทึกข้อมูลเห็ดราที่เขาพบในพื้นที่ท้องถิ่น
“พวกมันแตกต่างกันไปหลากหลายตั้งแต่น่าเกลียดจนถึงสวยงาม คุณไม่อาจรู้ได้เลยว่าจะพบเจออะไรบ้าง ว่าไปแล้วมันเหมือนกับการไปค้นหาสมบัติที่ถูกซุกซ่อนไว้”
ดร.บาร์เรตต์ กล่าวว่า มีรายงานว่าเห็ดราพันธุ์ที่ว่านี้เติบโตในปาปัวนิวกินี และอินโดนีเซีย แต่ไม่เคยพบในออสเตรเลียมาก่อนหน้านี้
เป็นไปได้ว่าสปอร์ของมันอาจถูกลมพัดพามา
“เราคิดว่ามันเติบโตอยู่ที่นั่นมานานมากแล้ว แต่แค่เพียงถูกค้นพบเมื่อเร็วๆ นี้ เราไม่รู้มากนักเกี่ยวกับเห็ดราต่างๆ ในออสเตรเลีย เพราะไม่มีผู้คนมากพอที่จะออกไปมองหา และเก็บตัวอย่างมาให้”
สำหรับเห็ดราพันธุ์ "พอยสัน ไฟร์ คอรัล" นี้นั้น มีผู้คนหลายคนเสียชีวิตจากพิษของมันในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี หลังจากเข้าใจผิดคิดว่าเห็ดราที่มีพิษถึงตายนี้เป็นพืชชนิดอื่นที่กินได้ จึงนำมันไปต้มชาเพื่อใช้เป็นยาแผนโบราณ
เห็ดราพันธุ์ "พอยสัน ไฟร์ คอรัล" ผลิตสารพิษอย่างน้อย 8 ชนิด และเพียงแค่การจับหรือสัมผัสกับมันสามารถทำให้ผิวหนังเป็นผื่นแดงหรือบวมแดงได้
“หากกินเข้าไป มันจะทำให้เกิดอาการเลวร้ายหลายอย่าง ขั้นแรกจะปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย มีไข้ และชาตามร่างกาย ตามมาด้วยอาการหลายชั่วโมงหรือหลายวันจากผิวหนังอักเสบที่ใบหน้า มือ และเท้า และสมองหดตัว ซึ่งจะทำให้การรับรู้เปลี่ยนไป เคลื่อนไหวร่างกายลำบาก และการพูดผิดปกติ” ดร.บาร์เรตต์ อธิบาย
หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา อาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ จากการที่อวัยวะภายในหลายอย่างล้มเหลว หรือเส้นประสาทในสมองทำงานผิดปกติ
เห็ดราพันธุ์ "พอยสัน ไฟร์ คอรัล" เป็นหนึ่งในเห็ดราต่างๆ กว่า 20 ชนิดที่ ดร.บาร์เรตต์ได้ระบุชี้ ซึ่งไม่เคยมีการบันทึกข้อมูลไว้มาก่อนในพื้นที่ทางเหนือของรัฐควีนสแลนด์
“การที่เราสามารถพบเห็ดราที่มีลักษณะโดดเด่นและมีความสำคัญทางการแพทย์อย่างเห็ดราพันธุ์ "พอยสัน ไฟร์ คอรัล" ที่ในสวนหลังบ้านของเราเองนั้น แสดงให้เห็นว่าเรายังมีอะไรให้ต้องเรียนรู้อีกมากเกี่ยวกับเห็ดราที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ทางเหนือของออสเตรเลีย” ดร.บาร์เรตต์ กล่าว
Source: SBS News and AAP
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
ไม่ให้พีอาร์ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ว่าอยู่ชนบทจริง