ชาวเอเชียมีแนวโน้มถูกเลือกปฏิบัติสูงสุดในออสเตรเลีย

NEWS: การสำรวจล่าสุดพบว่า ชาวเอเชียมีแนวโน้มเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่รายงานว่าเคยถูกเลือกปฏิบัติมากที่สุดในออสเตรเลีย

Multi racial businesswomen in meeting with coffee

Four out of five Asian Australians say they have experienced discrimination. Source: Getty

กำลังมีการเรียกร้องให้ธุรกิจต่างๆ ทบทวนแนวคิดด้านความเป็นผู้นำ “ตามบรรทัดฐานของชาวตะวันตก” ขณะที่ผลการสำรวจล่าสุดพบว่า ชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชีย 4 ใน 5 คน กล่าวว่า พวกเขาเคยมีประสบการณ์ถูกเลือกปฏิบัติในออสเตรเลีย

การสำรวจทั่วประเทศดังกล่าวที่สอบถามกลุ่มตัวอย่าง 2,000 คน พบว่าชาวเอเชียมีแนวโน้มจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่รายงานว่าเคยถูกเลือกปฏิบัติมากที่สุดในออสเตรเลีย

ร้อยละ 82 ของชาวเอเชียที่ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า พวกเขาเคยประสบการถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน หรือในฐานะผู้บริโภคในออสเตรเลีย เมื่อเทียบกับร้อยละ 81 ของผู้มีเชื้อสายชาวตะวันออกกลางที่รายงานว่าเคยประสบเรื่องนี้ ขณะที่ชาวออสเตรเลียที่มีเชื้อสายชาวพื้นเมืองร้อยละ 71 รายงานว่าเคยมีประสบการณ์เดียวกัน

ร้านค้าและร้านอาหารเป็นสถานที่พบการเลือกปฏิบัติได้มากที่สุด
การสำรวจดังกล่าวจัดทำขึ้น สำหรับการประชุมสุดยอดด้านความเป็นผู้นำของชาวเอเชีย-ออสเตรเลีย ซึ่งมีขึ้นเพื่ออภิปรายกันว่าเหตุใดชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชีย จึงมีจำนวนคิดเป็นอัตราส่วนไม่มากนักในหมู่ผู้ที่ได้ดำรงตำแหน่งอาวุโสในบริษัทและในองค์กรชุมชนต่างๆ

นายเจห์-ยุง โล นักวิจัยของมหาวิทยาลัยออสเตรเลียน เนชันแนล ยูนิเวอร์ซิตี ซึ่งช่วยดำเนินการจัดการประชุมสุดยอดครั้งนี้ กล่าวว่า การสำรวจเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงปรากฎการณ์ที่เรียกกันว่า เพดานไม้ไผ่ หรือแบมบู ซีลิง (Bamboo Ceiling) ที่จำกัดศักยภาพที่อาจเป็นไปได้ของชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชีย

“การสำรวจนี้ส่งสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่าที่ทำงานต่างๆ และผู้นำอาวุโสจำเป็นต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพราะชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชียมีจำนวนราวร้อยละ 12 ของประชากรและกำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้ชัดว่าประเด็นนี้จะยังไม่หายไปไหน” นายโล กล่าว

ขณะที่คำว่าเพดานแก้ว หรือกลาส ซีลิง (Glass Ceiling) เป็นคำศัพท์ที่มักใช้อธิบายถึงการเลือกปฏิบัติที่เกิดจากความเป็นหญิงหรือชายในที่ทำงาน ขณะนี้กำลังมีความตระหนักมากขึ้นถึงสิ่งที่เรียกกันว่า เพดานไม้ไผ่ หรือแบมบู ซีลิง (Bamboo Ceiling) แม้บางคนจะคิดว่าคำศัพท์ที่ใช้นี้นั้นแคบเกินไป เพราะคำว่าไม้ไผ่ มักถูกมองว่าส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับประเทศจีน

ชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชียมีจำนวนร้อยละ 12 ของประชากรออสเตรเลีย แต่ในหมู่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้นำอาวุโสของบริษัท มหาวิทยาลัย และองค์กรชุมชนต่างๆ นั้น มีเพียงร้อยละ 3.1 ที่เป็นชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชีย

นายโล กล่าวว่า น่าวิตกที่ครึ่งหนึ่งของผู้ที่เคยมีประสบการณ์ถูกเลือกปฏิบัติรายงานว่า พวกเขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองอันเป็นผลจากการถูกเลือกปฏิบัติ โดยพยายามพูดจาอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาน้อยลงในที่ทำงาน

นายโล หวังว่า การสำรวจนี้จะนำไปสู่การอภิปรายพูดคุยกันเกี่ยวกับโควต้าด้านความหลากหลาย การฝึกอบรมและโครงการพี่เลี้ยงในที่ทำงานที่ดีขึ้น และมีการคิดใหม่เกี่ยวกับความคิดความเข้าใจของเราด้านความเป็นผู้นำ

“สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อคือ ที่ทำงานและผู้นำต่างๆ ในออสเตรเลียควรเปลี่ยนแปลงแนวคิดด้านภาพลักษณ์ของผู้นำ เพราะความเป็นผู้นำมาในรูปแบบที่ต่างกัน และเราไม่ควรบ่งชี้ความเป็นผู้นำตามบรรทัดฐานของชาวออสซี หรือชาวตะวันตกเท่านั้น” นายโล นักวิจัยของมหาวิทยาลัยออสเตรเลียน เนชันแนล ยูนิเวอร์ซิตี ระบุ

“สำหรับชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชียจำนวนมากแล้ว มันเกี่ยวกับการทำงานอยู่เบื้องหลัง ก้มหน้าก้มตาทำงาน ไม่พยายามดึงความสนใจมาหาตัว และความจริงแล้วอาศัยการทำงานหนักและคุณความดีของพวกเราว่าจะทำให้เราได้รับการมองเห็นคุณค่า”

ขณะที่ชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชียจำนวนมากต้องดิ้นรนฝ่าฝันเพื่อจะให้ได้รับการมองเห็นหรือสังเกตเห็นในที่ทำงาน นายโลกล่าวว่า ยิ่งไม่ได้ช่วยเลยเมื่อชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชียที่เป็นบุคคลที่เป็นที่รู้จักในสังคมได้รับความสนใจจากเหตุผลผิดๆ

เขากล่าวถึงนางกลาดิส ลิว นักการเมืองสหพันธรัฐ ที่ถูกตำหนิที่กลับคำเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเธอกับองค์กรโฆษณาชวนเชื่อของจีน

“สำหรับชุมชนอย่างชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชีย ที่ให้คุณค่ากับคุณงามความดีว่าเป็นรูปแบบของความสำเร็จ กลาดิส ลิว ยิ่งชี้ให้เห็นสิ่งตรงข้าม” นายโล กล่าว

“มันยากมากสำหรับพวกเราที่จะผลักดันให้มีความหลากหลายมากขึ้น เมื่อผู้นำของเราเอง ซึ่งอยู่ที่จุดนั้นอยู่แล้ว กลับไม่ลุกขึ้นสู้”

Source: SBS News

You can read the full article in English on SBS News page

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 24 September 2019 12:58pm
Updated 24 September 2019 1:18pm
By Rosemary Bolger
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News


Share this with family and friends