This article is republished from under a Creative Commons license. Read the .
เมื่อพูดถึงการหาที่อยู่อาศัยในออสเตรเลีย ความเท่าเทียมกันในหมู่ผู้เช่าบ้านและผู้ซื้อบ้านดูเหมือนจะห่างไกลจากความเป็นจริง
จากรายงานล่าสุดฉบับหนึ่งของเราพบว่า ‘เชื้อชาติ’ นั้นเป็นประเด็นหนึ่งที่ส่งผลต่อเรื่องนี้ ชาวออสเตรเลียจำนวนมากประสบกับการเหยียดเชื้อชาติและการถูกเลือกปฏิบัติ จากพื้นเพทางวัฒนธรรมของพวกเขา
โดยเฉพาะในสำหรับชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชีย ซึ่งประสบการเหยียดเชื้อชาติในอัตราที่สูงกว่าคนกลุ่มอื่นในสถานการณ์ที่หลากหลายในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเมื่อต้องเช่า หรือซื้อบ้าน
ประสบการณ์การถูกเหยียดผิวของชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชีย
ในการสำรวจออนไลน์ทั่วประเทศโครงการหนึ่ง ที่สำรวจชาวออสเตรเลีย 6,001 คน เกี่ยวกับความรุนแรงและความหลากหลายของทัศนคติและประสบการณ์ด้านการเหยียดเชื้อชาติ โดยสำรวจว่า ที่ที่ชาวออสเตรเลียเหล่านั้นเกิด และภาษาที่พวกเขาใช้ที่บ้าน ส่งผลกระทบต่อประสบการณ์การถูกเหยียดเชื้อชาติของพวกเขาหรือไม่
การศึกษาวิจัยของเราเผยให้เห็นว่า หากคุณเกิดในต่างประเทศ หรือหากพ่อแม่ของคุณเกิดในต่างประเทศ และคุณพูดภาษาอื่นนอกเหนือจากภาษาอังกฤษที่บ้าน คุณมีแนวโน้มที่จะประสบการเหยียดเชื้อชาติมากกว่าชาวออสเตรเลียทั่วไป การเหยียดเชื้อชาติเกิดขึ้นในหลากหลายสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นในที่ทำงาน ในสถานศึกษา ตามศูนย์การค้า ในพื้นที่สาธารณะ และออนไลน์
ผู้ตอบการสำรวจที่เกิดในเอเชีย มีแนวโน้มจะถูกเหยียดเชื้อชาติในสถานการณ์ทั่วไปในชีวิตประจำวันมากกว่าชาวออสเตรเลียกลุ่มอื่นๆ ถึง 2 เท่า ความจริงแล้วนั้น ชาวออสเตรเลีย เชื้อสายเอเชียเหล่านี้ร้อยละ 84 เคยถูกเหยียดเชื้อชาติ
สำหรับผู้ที่เกิดในออสเตรเลีย จากพ่อแม่ที่เกิดในเอเชียทั้งคู่ อัตราการถูกเหยียดเชื้อชาติก็สูงไม่แพ้กัน (ร้อยละ 86)
หากคุณพูดภาษาเอเชียที่บ้าน คุณมีแนวโน้มสูงที่จะมีประสบการณ์ถูกเหยียดเชื้อชาติ ผู้ที่พูดภาษาเอเชียใต้ และภาษาเอเชียตะวันออกที่บ้านมีประสบการณ์ถูกเหยียดเชื้อชาติในอัตราที่สูงจนน่าตกใจ คือที่ระดับร้อยละ 85 และร้อยละ 88 ตามลำดับ ขณะที่ผู้ที่พูดภาษาเอเชียตะวันตกเฉียงใต้/ภาษาเอเชียกลาง และภาษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอัตราการถูกเลือกปฏิบัติ ร้อยละ 79 และ 78 ตามลำดับ เช่นเดียวกับผู้ตอบแบบสำรวจที่พูดภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษที่บ้านกลุ่มอื่นๆ มีร้อยละ 77 ที่เคยถูกเลือกปฏิบัติ
การเลือกปฏิบัติต่อชาวเอเชียในด้านการหาที่พักอาศัย
ผลการวิจัยที่เคยได้รับการเผยแพร่ สำหรับพื้นที่รัฐนิวเซาท์เวลส์และควีนส์แลนด์ ในช่วงปีทศวรรษ 1990 เผยว่า ชาวออสเตรเลียร้อยละ 6.4 รายงานว่าเคยถูกเลือกปฏิบัติเพราะเชื้อชาติของตนในการเช่าหรือซื้อบ้าน แต่จากการศึกษาวิจัยทั่วประเทศของเราเมื่อเร็วๆ นี้พบว่าสัดส่วนดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีชาวออสเตรเลียร้อยละ 24 มีประสบการณ์ถูกเลือกปฏิบัติในการเช่าหรือซื้อบ้าน
เช่นเดียวกับการถูกเหยียดเชื้อชาติในรูปแบบต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชียกำลังรู้สึกว่าพวกเขาถูกเลือกปฏิบัติต่อในการหาที่พักอาศัย มีผู้ร่วมการศึกษาวิจัยที่เกิดในเอเชียเกือบ 6 ใน 10 คน (ร้อยละ 59) เคยประสบการถูกเหยียดเชื้อชาติในการหาที่อยู่อาศัย เมื่อเทียบกับร้อยละ 19 ของชาวออสเตรเลียที่ไม่ได้เกิดในเอเชีย ซึ่งมีประสบการณ์นี้
ผู้ตอบแบบสำรวจที่เกิดในเอเชียยังรายงานว่า พวกเขามีแนวโน้มสูงกว่าที่จะมีประสบการณ์ถูกเลือกปฏิบัติในการหาที่อยู่อาศัยบ่อยครั้งกว่าคนกลุ่มอื่น ในจำนวนนี้ร้อยละ 13 รายงานว่าเคยมีประสบการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น “บ่อย” หรือ “บ่อยมาก” ซึ่งมากกว่าอัตราเฉลี่ยที่เกิดขึ้นกับชาวออสเตรเลียที่ไม่ได้เกิดในเอเชียถึง 3 เท่า
โดยเฉพาะผู้ร่วมการสำรวจที่เกิดในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและเอเชียใต้/เอเชียกลาง มีแนวโน้มสูงกว่าที่จะประสบการเหยียดเชื้อชาติ (ร้อยละ 44) เช่นเดียวกัน หากคุณพูดภาษาอื่นนอกเหนือจากภาษาอังกฤษที่บ้าน (โดยเฉพาะภาษาเอเชีย) คุณมีแนวโน้มสูงกว่าที่จะประสบกับการถูกเลือกปฏิบัติในด้านการหาที่อยู่อาศัย (ร้อยละ 45)
ผู้ที่พูดภาษาเอเชียใต้ (อาทิ ฮินดี ทมิฬ สิงหล) ประสบการถูกเลือกปฏิบัติในด้านการหาที่อยู่อาศัยในอัตราที่สูงกว่าคนกลุ่มอื่นมากคือร้อยละ 63 ขณะที่ผู้พูดภาษาเอเชียตะวันออก (เช่นภาษาจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี) อยู่ที่อัตราร้อยละ 55 และผู้ที่พูดภาษาอังกฤษอย่างเดียวเพียงร้อยละ 19 มีประสบการณ์ถูกเลือกปฏิบัติในการหาที่พักอาศัย
การเช่าและซื้อบ้านในออสเตรเลียเป็นตลาดที่แก่งแย่งกันสูง ยิ่งเป็นชาวเอเชียในออสเตรเลียด้วยแล้ว อาจพบการถูกเลือกปฏิบัติ Source: Pixabay Source: Pixabay
เหตุใดจึงสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
การค้นพบเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการเป็นเจ้าของหรือเช่าที่พักของชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชียถูกมองว่าเป็นภัยต่อการครองความเป็นใหญ่ของชาวออสเตรเลียที่สืบเชื้อสายมาจากชาวอังกฤษ หรืออีกทางหนึ่ง ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกันคือ นายหน้าอสังหาริมทรัพย์และเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทึกทัก หรือไม่ไว้วางใจว่า ชาวเอเชียอาจเป็นผู้เช่าบ้านหรือเป็นเจ้าของบ้านที่มีคุณสมบัติด้อยกว่าคนกลุ่มอื่น ซึ่งนี่อาจเป็นความคิดการเหยียดเชื้อชาติของจักรวรรดินิยมที่สะท้อนว่า ชาวเอเชียถูกมองว่ามีความด้อยกว่าในด้านชีวภาพ และอาจเป็นต้นตอที่นำไปสู่ความไม่บริสุทธิ์ทางเชื้อชาติ
การป้องปรามย่านไชนาทาวน์ และที่เมื่อเร็วๆ นี้คือความตื่นตระหนกด้านคุณธรรมเกี่ยวกับย่านที่มีประชาชนจากภูมิภาคอินโดจีนอาศัยอยู่หนาแน่นในซิดนีย์และเมลเบิร์น อย่างแคบรามัตตาและริชมอนด์ ชี้ถึงแนวคิดเหมารวมว่า เป็นเสนียด ไม่สะอาด และโกลาหลวุ่นวาย ซึ่งปัญหาของศตวรรษที่ 20 ที่อาจยังคงรังควาญความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่ว่างของชนผิวชาวจนทุกวันนี้
โรคกลัวคนจีนในออสเตรเลียยังโผล่ขึ้นมาในการอภิปรายกันเกี่ยวกับการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ การบริจาคเงินให้พรรคการเมือง การเมืองภายในมหาวิทยาลัย การซื้อที่ดินเพื่อการเกษตรสำหรับทำเหมืองแร่ รวมทั้งความวิตกโดยทั่วไปเกี่ยวกับอิทธิพลของรัฐบาลจีน ภูมิรัฐศาสตร์ และประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนในจีน การอภิปรายของสาธารณะนั้นเหมาะสม แต่ความบ้าคลั่งและการสร้างกระแสเร้าอารมณ์ที่เกินจริง กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาชนในออสเตรเลียที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวจีน
องค์กรที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องดำเนินการ
การถูกกีดกันออกจากทรัพยากรที่สำคัญของพื้นที่เมือง อย่างที่อยู่อาศัย อาจก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในระดับรุนแรงได้ นอกจากนี้ เรื่องนี้ยังมีความเชื่อมโยงกับปัญหาด้านสุขภาพ และการไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญต่อชีวิต เช่น การจ้างงาน ระบบขนส่งสาธารณะ และการศึกษา เรื่องนี้ยังก่อให้เกิดปัญหาสังคมที่กว้างกว่าด้วย เช่น การแบ่งแยกของคนเชื้อชาติต่างๆ และความไม่เท่าเทียมกันที่สืบทอดต่อกันไปยังลูกหลาน
ออสเตรเลียมีกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติเพราะเชื้อชาติ ในการเข้าถึงสินค้าและบริการ อย่างที่อยู่อาศัย การค้นพบของเรารวมทั้งการวิจัยโครงการอื่นๆ ชี้ว่า การเลือกปฏิบัติในด้าน การหาที่อยู่อาศัยนั้นรุนแรงสำหรับคนบางกลุ่มมากกว่าคนกลุ่มอื่น โดยเฉพาะในหมู่ชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชีย แต่ทว่าความร่วมมือกันในการแก้ปัญหาความอยุติธรรมที่เห็นได้อย่างเด่นชัดนั้น อยู่ที่ใด?
บทความนี้เป็นความเห็นที่ร่วมกันเขียนโดย Alanna Kamp, Ana-Maria Bliuc, Kathleen Blair และ Kevin Dunn ทั้งหมดเป็นนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย เวสเทิร์น ซิดนีย์ บทความนี้ถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์ The Conversation
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ผู้เช่าบ้านลำบากสุดที่โฮบาร์ต
ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.
เรื่องราวที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
หนัง “มะลิลา” ค้นหาสัจธรรมชีวิต