ลูกจ้างร้านไทยชี้วิธีปลดแอกการถูกกดค่าจ้าง

Representative image of a chef in a restaurant.

Source: Pixabay

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

นักเรียนไทยเผยประสบการณ์ที่ทำสำเร็จมาแล้ว ในการร้องเรียนแฟร์เวิร์กกรณีร้านอาหารไทยในออสเตรเลียจ่ายค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายกำหนด พร้อมแนะผู้ที่ถูกกดค่าแรง อย่ากลัว ต้องร้องเรียน หากจะช่วยกันยุติปัญหานี้ไม่ให้เรื้อรังต่อไป


กดปุ่ม 🔊 ด้านบนเพื่อฟังสัมภาษณ์นี้

ไม่บ่อยนักที่นักเรียนชาวไทยในออสเตรเลีย และลูกจ้างชาวไทยทั่วไปที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลีย จะกล้านำเรื่องการถูกนายจ้างกดค่าแรงไปแจ้งร้องเรียนกับองค์กร แฟร์เวิร์ก (องค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อการจ้างงานที่เป็นธรรม) ลูกจ้างไทยที่ถูกกดขี่จำนวนมากเชื่อว่าเพราะตนใช้ภาษาอังกฤษไม่ดีพอ แถมยังไม่รู้กฎหมายการจ้างงานของออสเตรเลีย จึงต้องสงบเสงี่ยมเจียมตัว ก้มหน้าก้มตาทำงานและรับค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าลูกจ้างทั่วไปในออสเตรเลียต่อไป  

แต่กรณีของจาค็อบ (ชื่อสมมุติ) นักเรียนไทยผู้หนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2019 ที่ผ่านมา ได้ชี้ว่า ความจริงแล้ว นักเรียนไทยและลูกจ้างชาวไทยในออสเตรเลีย สามารถปลดแอกตนเองจากการถูกนายจ้างกดค่าแรงได้ ซึ่งเขาทำสำเร็จมาแล้ว โดยแฟร์เวิร์กทำให้นายจ้างจ่ายเงินค่าจ้างที่ขาดไปคืนให้กับเขาและลูกจ้างคนอื่นรวมกันเกือบ 30,000 ดอลลาร์ รวมทั้งนายจ้างก็เปลี่ยนมาทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดด้วย

ลูกจ้างคนไทยไม่น้อยไม่ปริปากกับการได้ค่าจ้างที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด

จาค็อบ เล่าให้เอสบีเอส ไทย ฟังว่าเขาเคยทำงานอยู่ที่ร้านอาหารไทยแห่งหนึ่งในย่านธุรกิจใจกลางเมืองของนครบริสเบน ขณะนั้นเขาและพนักงานคนไทยคนอื่นๆ ในร้านได้รับค่าจ้างราว 12-16 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด

“ณ ตอนนั้นที่ยังทำงานต่อไป ด้วยความที่เราคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอกที่เขาจะทำตามกฎหมาย เพราะทุกๆ ร้านก็ทำแบบนี้กันหมด เราไม่มีทางเลือกที่จะทำอะไรได้ เราก็ทำงานต่อไป คิดแค่นั้นแหละครับตอนนั้น” จาค็อบ นักเรียนไทย เล่า

เขากล่าวต่อไปว่าร้านอาหารไทยใจกลางเมืองบริสเบนแห่งนั้นเป็นร้านที่ขายดี แต่พนักงานคนไทยในร้านกลับได้ค่าจ้างต่ำกว่าที่กฎหมายระบุ จึงทำให้เขาตระหนักถึงความเห็นแก่ได้ของร้าน

“ร้านยุ่งมาก เรารู้สึกว่าเหนื่อยมาก แต่ร้านได้กำไรเยอะมาก จากการที่ลูกค้าเยอะขนาดนี้”

นอกจากนี้ มีอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้จาค็อบและลูกจ้างคนไทยของร้านรู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้อง

“มีพนักงานคนอื่นที่เป็นชาวออสซีเข้ามาทำงานด้วย เราได้รู้ว่าเขาได้ค่าจ้างที่สูงกว่าเรา ในอัตราประมาณ 20-21 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง เราจึงรู้สึกว่ามันไม่แฟร์ ในเมื่อเราทำงานที่เหมือนกัน”
ลูกจ้างร้านอาหารไทยในออสเตรเลียไม่น้อยที่ไม่ปริปากกับการได้ค่าจ้างที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด
ลูกจ้างร้านอาหารไทยในออสเตรเลียไม่น้อยที่ไม่ปริปากกับการได้ค่าจ้างที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด Source: Pixabay

ข้อมูลจากแฟร์เวิร์กนำไปสู่การแจ้งร้องเรียน ซึ่งทำได้ไม่ยาก

จากนั้นพนักงานชาวไทยในร้านจึงได้มีการพูดคุยกันถึงความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น ทั้งยังได้แบ่งปันข้อมูลกันถึงเรื่องอัตราค่าจ้าง และเพย์สลิป (pay slip หรือใบรายงานการจ่ายค่าจ้างจากนายจ้าง) ที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ส่งผลให้พวกเขาพากันค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายการจ้างงานของออสเตรเลียจากเว็บไซต์ของแฟร์เวิร์ก และนำไปสู่ร้องเรียนเรื่องนี้ให้แฟร์เวิร์กเข้ามาช่วยเหลือ

จาค็อบได้แจ้งร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ของแฟร์เวิร์ก () ที่เขาบอกว่าทำได้ไม่ยาก มีคำอธิบายเป็นภาษาไทยให้ และสามารถแจ้งร้องเรียนได้ทั้งแบบเปิดเผยชื่อผู้แจ้ง หรือแบบไม่ระบุชื่อผู้แจ้ง (anonymous)

“ผมกับเพื่อนๆ ได้รายงานเข้าไป โดยลงทะเบียนเป็นผู้ใช้งานในเว็บไซต์แฟร์เวิร์กเป็นชื่อเรา เปิดเผยเลยว่าเป็นตัวเรา แล้วยื่นขอสอบถามข้อมูลแฟร์เวิร์กไป โดยอธิบายว่าเกิดเหตุการณ์อะไร เราต้องการเรียกร้องเรื่องอะไร จากนั้น เขาจะโทรมาสอบถามว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร จะมีเจ้าหน้าที่โทรมาสอบถามเรื่อยๆ 2-4 เดือน มาถามถึงรายละเอียดและหลักฐานที่เรามี ให้ส่งให้เขาทางอีเมล” จาค็อบ เผย

เขาเล่าว่าในกรณีของเขานั้น ใช้หลักฐานคือเพย์สลิป ตารางการทำงาน และข้อมูลรายการฝากถอนเงินในบัญชีเงินฝากของเขา

“ในกรณีของผม หลักฐานคือเพย์สลิป ที่แจ้งว่าแต่ละสัปดาห์เราได้เงินเท่าไร ตัวตารางงานเป็นเวิร์กรอสเตอร์ ที่แสดงว่าเราทำงานเท่านี้จริง ซึ่งได้จากการสื่อสารจากเจ้าของร้าน อีกอันคือแบงค์สเตทเมนต์ว่าได้รับเงินมาจำนวนนี้ อีกตัวหนึ่งคือ เราทำเอ็กเซลไฟล์ให้เจ้าหน้าที่ไป เราคำนวณจากระยะเวลาที่เราทำงาน ดูว่าถ้าตามอัตราที่เราควรได้รับตามกฎหมาย จะเป็นจำนวนเงินเท่านี้ เราก็ทำตารางเทียบว่าจริงๆ แล้วมีเงินค้างอยู่เท่าไร”

“เจ้าหน้าที่บอกว่า ที่จริงเรามีหลักฐานอะไรที่ประกอบกันได้ ก็เอามาให้หมด เช่นสมุดบันทึกการทำงาน หรือบัตรรถประจำทางที่เรามาทำงาน สามารถใช้เป็นหลักฐานได้ สิ่งต่างๆ ที่เราคิดว่ามันจะสามารถมาอธิบายเกี่ยวกับการทำงานของเราและยืนยันว่าเราได้รับเงินค่าจ้างผิดกฎหมาย นำมาใช้ได้หมด ถึงแม้จะเป็นภาษาอื่น เขาจะมีเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือ” นักเรียนไทย ผู้นี้กล่าว

เขาย้ำกับเอสบีเอส ไทย ว่าแฟร์เวิร์กนั้นมีบริการล่ามช่วยในการสื่อสารสำหรับลูกจ้างที่ภาษาอังกฤษไม่ดี แต่ต้องการแจ้งเรื่องร้องเรียน

ผมและเพื่อนๆ พอได้ภาษา เลยไม่ได้ใช้ล่าม แต่ว่าจริงๆ แล้วเจ้าหน้าที่เขาเสนอมาว่าต้องการใช้ล่ามไหม หรือต้องการให้ใช้คนคอยช่วยเหลือในเรื่องแปลเอกสารไหม เขามีความช่วยเหลือให้ในส่วนนี้ ในการร้องเรียน เขามีแบบฟอร์มร้องเรียนเป็นภาษาไทยให้เหมือนกัน

การร้องเรียนแฟร์เวิร์กทำให้ลูกจ้างได้รับเงินที่ขาดไป

กรณีการร้องเรียนของจาค็อบนั้น เขาเผยว่านับตั้งแต่เริ่มแจ้งร้องเรียนไปจนถึงตอนที่เขาและเพื่อนร่วมงานได้เงินกลับมา ใช้เวลาราว 10 เดือน

ผลคือ องค์กรแฟร์เวิร์ก ได้พบว่าตรวจพบว่าร้านอาหารไทยดังกล่าว จ่ายค่าจ้างลูกจ้าง ซึ่งเป็นนักเรียนไทย 3 คนต่ำกว่ากฎหมายกำหนด เป็นอัตรา 12-17 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง อีกทั้งไม่มีการจ่ายค่าจ้างเพิ่มพิเศษสำหรับลูกจ้างแคชชวล (casual loading) ไม่จ่ายค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นสำหรับการทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์ (weekend penalty rate) และยังได้ละเมิดกฎหมายด้านการบันทึกหลักฐานการทำงานและการจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้าง

ร้านอาหารแห่งนั้นจึงหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดี ด้วยการจ่ายค่าจ้างที่ขาดไปเกือบ 30,000 ดอลลาร์คืนให้แก่ลูกจ้างทั้งสามคนในทันที และยังต้องดำเนินการตามมาตรการของแฟร์เวิร์ก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคตด้วย

ต้องร้องเรียนจึงจะยกระดับร้านอาหารไทยในออสเตรเลียด้านการจ้างงานได้

แม้ปัญหาการจ่ายค่าแรงให้ลูกจ้างต่ำกว่ากฎหมายกำหนดจะเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในหมู่ร้านอาหารไทยในออสเตรเลีย ปัญหานี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะร้านอาหารไทยเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม จาค็อบเชื่อว่ามีวิธีที่จะแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้

ทุกคนก็บ่นกันไปว่า ไม่ได้รับค่าจ้างตามกฎหมายนะ หรือได้ค่าแรงน้อย ทำงานหนัก แต่ก็ไม่ได้มีใครกล้าที่จะแจ้งเข้าไป หรืออาจจะรู้ว่ามีช่องทาง แต่ก็คิดว่ามันอาจจะยากที่จะทำ สุดท้ายแล้วก็ไม่มีใครแจ้งเข้าไป เจ้าหน้าที่เขาก็ทำอะไรไม่ได้

“ที่ผมได้ทราบจากมุมมองของเจ้าหน้าที่ ถ้าเขาไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด บางทีมันก็ยากสำหรับเขาที่จะลงไปตรวจ เขาไม่สามารถที่จะลงไปสุ่มตรวจได้ทุกๆ ร้าน แต่ถ้าร้านไหนที่มีการแจ้งเข้ามาอย่างจริงจัง และมีหลักฐานแน่ชัด มันก็เป็นเหตุผลที่เขาสามารถลงไปดำเนินการได้อย่างกรณีของผม เพราะหลักฐานเราค่อนข้างแน่น เขาก็ลงไปตรวจได้ ซึ่งคิดว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งที่ทำให้ร้านที่ค่อนข้างเป็นร้านที่มีชื่อเสียง ร้านที่ยุ่งมากๆ ในใจกลางเมือง พอเจ้าหน้าที่ดำเนินการและลงไปตรวจ ร้านก็ต้องปรับตัวตาม ร้านมีการปรับค่าแรงเพิ่มขึ้น มีการปรับเปลี่ยนในหลายๆ ส่วนมากตั้งแต่เจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบ”

“สุดท้ายแล้ว ถ้าเกิดร้านปรับตัวขึ้น ก็มีความหวังว่าร้านอื่นๆ น่าปรับตัวตาม ต้องพึ่งสื่อด้วยที่จะกระจายให้คนอื่นทราบว่า ร้านนี้ถูกตรวจและร้านถูกปรับอย่างนี้ วันใดวันหนึ่งอาจเป็นร้านเราหรือเปล่าที่โดน หรือวันใดวันหนึ่งใครจะแจ้งหรือเปล่า อยากให้ปัญหาค่อยๆ แก้ไขไปแบบนี้ คิดว่ามันน่าจะแก้ปัญหาไปได้” จาค็อบ ย้ำกับเอสบีเอส ไทย
ลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายกำหนดสามารถขอความช่วยเหลือได้จากองค์กรแฟร์เวิร์ก
ลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายกำหนดสามารถขอความช่วยเหลือได้จากองค์กรแฟร์เวิร์ก Source: Pixabay

หากถูกกดค่าแรง อย่านิ่งเฉย

เขาฝากถึงนักเรียนไทยและลูกจ้างคนไทยที่อาจกำลังถูกนายจ้างกดค่าแรงว่า ไม่ควรนิ่งเฉย ทนทำงานไปอย่างไม่ปริปาก แต่ควรลงมือทำเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

“ถึงทุกคนที่ลังเลอยู่ว่าจะทำอย่างไร อยากให้ลองศึกษากฎหมาย ลองเข้าไปอ่านในเว็บไซต์ของแฟร์เวิร์ก ที่มีเป็นภาษาไทยด้วย ซึ่งอธิบายว่าอัตราค่าจ้างเราควรจะได้เท่านี้ๆ เราควรจะได้ต่างๆ นานาเท่านี้ ก็จะมีบอก อยากจะฝากถึงเรื่องวิธีการแจ้งว่า ค่อนข้างง่ายมาก ถ้าเรายังไม่มั่นใจ ก็แจ้งแบบไม่เปิดเผยนามไปก่อนก็ได้ อย่างน้อยๆ ก็มีคนที่แจ้งเข้าไปเป็นจำนวนมากขึ้น มันจะเพิ่มสถิติให้เจ้าหน้าที่ได้เพ่งเล็งร้านมากขึ้น อาจมีการเข้าไปตรวจมากขึ้น”

สุดท้ายจาค็อบยังเตือนร้านอาหารหรือนายจ้างถึงความเสี่ยงที่การละเมิดกฎหมายด้านการจ้างอาจทำให้ธุรกิจของพวกเขาพังได้ในที่สุด

“คุณก็มีความเสี่ยงว่าวันใดวันหนึ่งเจ้าหน้าที่จะมาตรวจเมื่อไร หรือจะมีใครแจ้งร้องเรียนเมื่อไร ผลที่ตามมาเป็นค่าปรับต่างๆ และเงินที่ต้องจ่ายคืนนักเรียน มันไม่คุ้มค่าเลยกับสิ่งที่คุณได้รับอยู่ตอนนี้ ถ้ามีการฟ้องร้อง คุณต้องจ่ายค่าปรับย้อนหลังไปเยอะมาก เท่ากับว่ามันเสี่ยงกับธุรกิจของคุณเอง ทำไมไม่จ่ายให้ถูกกฎหมายแบบร้านอื่นๆ และบริหารธุรกิจตามหลักการของแฟร์เวิร์กดีกว่า แล้วมันจะช่วยแก้ปัญหาไปได้ในหลายๆ ส่วน” จาค็อบ ฝากข้อคิดถึงเจ้าของธุรกิจ

ทั้งนี้ ปัจจุบัน (ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2019) อัตราค่าจ้างขั้นต่ำแห่งชาติ (National minimum wage) อยู่ที่ 19.49 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง หรือ 740.80 ดอลลาร์ต่อการทำงาน 38 ชั่วโมงใน 1 สัปดาห์ (ก่อนหักภาษี) สำหรับลูกจ้างฟูลไทม์

ลูกจ้างที่ต้องการความช่วยเหลือจากองค์กรแฟร์เวิร์ก สามารถไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ ซึ่งมีรายละเอียดเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาอื่นๆ รวมทั้งภาษาไทยด้วย หรือโทรศัพท์ไปได้ที่บริการแฟร์เวิร์ก อินโฟ ไลน์ ที่หมายเลข 13 13 94

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสัมภาษณ์ จาค็อบ หากคุณต้องการฟังสัมภาษณ์อย่างละเอียด

กดปุ่ม 🔊 ด้านบนเพื่อฟังสัมภาษณ์นี้

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share