เนื้อหาที่สำคัญของเรื่อง
- การวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุดโดยสถาบันนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ชี้ว่ายอดผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในปีนี้จนถึงขณะนี้อยู่ที่ 7,100 ราย
- มีเพียงโรคหัวใจขาดเลือดและภาวะสมองเสื่อมเท่านั้นที่คาดว่าจะเป็นต้นเหตุที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่าโควิด-19
เชื่อกันว่าโควิด-19 เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในออสเตรเลียในปีนี้จนถึงขณะนี้ มากกว่าบางโรคที่คร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมากติดอันดับต้นๆ ในออสเตรเลีย เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular diseases) และมะเร็งปอด
การวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุดโดยสถาบันนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuaries Institute) แสดงให้เห็นว่ายอดผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ณ สิ้นเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 7,100 ราย ซึ่งทำให้โควิดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากเป็นอันดับสามในปี 2022
มีเพียงโรคหัวใจขาดเลือด (ischaemic heart diseases) และภาวะสมองเสื่อมเท่านั้นที่คาดว่าจะเป็นต้นเหตุที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่าโควิด-19 โดยแต่ทั้งสองโรคดังกล่าวทำให้เกิดการเสียชีวิตราวโรคละ 10,000 รายในปีนี้จนถึงขณะนี้
การวิเคราะห์เผยให้เห็นการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (เช่น โรคหลอดเลือดสมอง) คาดว่าจะมีจำนวนราว 5,500 ราย และมะเร็งปอด 5,400 รายในปีนี้จนถึงขณะนี้
ในปีถึงปลายเดือนเมษายน อัตราการเสียชีวิตส่วนเกิน (excess mortality หรือจำนวนผู้เสียชีวิตที่สูงเกินตัวเลขคาดการณ์ตามปกติในช่วงเวลาต่างๆ ) อยู่ที่ร้อยละ 13 หรือ 6,800 ราย โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งมีสาเหตุจากโควิด-19
คุณอีเลน เกรซ ประธานกรรมการบริหารของสถาบันกล่าวว่า แบบจำลองสถานการณ์ดังกล่าวได้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีประโยชน์อย่างมาก
“นี่เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับผู้กำหนดนโยบายด้านสาธารณสุขของเรา และควรใช้พิจารณาในการตอบสนองด้านสาธารณสุขที่มีความยืดหยุ่น ปลอดภัย และปฏิบัติได้จริงของเรา” คุณอีเลน เกรซ กล่าว
ขณะเดียวกันมีผลการศึกษาวิจัยล่าสุดโดยนักวิจัยในเมลเบิร์นพบว่า ผลข้างเคียงที่พบได้ยากเกี่ยวกับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากการวัคซีนต้านโควิด-19 ประเภท mRNA ที่พบในวัยรุ่นและคนวัยหนุ่มสาวนั้น รุนแรงน้อยกว่าภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อไวรัสโควิด-19 เอง
การศึกษาวิจัยของโรงพยาบาลเด็กโมนาช (Monash Children's Hospital) แสดงให้เห็นว่าภาวะหัวใจที่พบในวัยรุ่นอายุ 12 ถึง 18 ปีนั้น พบได้น้อยและมี "ภาวะที่ไม่รุนแรงและสามารถหายได้เอง"
ในผู้ป่วย 33 ราย ไม่มีผู้ป่วยรายใดมีภาวะหัวใจล้มเหลว หรือต้องได้รับการรักษาสำหรับผู้ป่วยวิกฤต หรือต้องให้ยากระตุ้นการบีบตัวของหัวใจ หรือต้องรับการรักษาด้วยยาการบำบัดด้วยยาอิมมิวโนโกลบูลิน (immunoglobulin) หรือยาสเตียรอยด์
ผู้ป่วยทุกรายมีอาการดีขึ้นหลังการรักษาด้วยยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) ในปริมาณยาเข้มข้น
การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนครั้งนี้นั้น เป็นการศึกษาวิจัยในหมู่คนไข้ที่มีรายงานเข้ามามากที่สุดสำหรับโรงพยาบาลเด็กเพียงแห่งเดียว
ส่วนในพื้นที่อื่นๆ ในวันจันทร์ (8 ส.ค.) เขตนครหลวงของออสเตรเลีย (ACT) ได้ขยายการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขจนถึง 23.59 น. ของวันที่ 30 กันยายน โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยน้อยกว่า 1,000 รายต่อวัน
“การแพร่ระบาดในชุมชนในระดับเช่นนี้ยังคงมีความเสี่ยงต่อประชาชนในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความเสี่ยงจะป่วยหนักกว่าผู้อื่นหากติดเชื้อ” นาง ราเชล สตีเฟน-สมิธ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของเอซีที กล่าว
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ผลวิจัยเผยผู้ป่วยลองโควิด-19 มีอาการผิดปกติทางสมอง