เด็กๆ ในออสเตรเลียที่มีอายุ 12-15 ปีซึ่งมีความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรง จะมีสิทธิ์ได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นตั้งแต่สัปดาห์หน้า
กลุ่มที่ปรึกษาด้านเทคนิคเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันโรคแห่งออสเตรเลีย (Australian Technical Advisory Group on Immunisation หรือ ATAGI) ได้แนะนำให้ขยายสิทธิ์การฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่เด็กๆ ราว 120,00 คน โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน เป็นต้นไป
พวกเขาต้องได้รับเข็มที่สองไปแล้วอย่างน้อยสามเดือนก่อน และเป็นผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรง หรือมีความทุพพลภาพ หรือมีจำเป็นด้านสุขภาพที่มีนัยสำคัญ หรือมีอาการด้านสุขภาพที่ซับซ้อนหรือหลายอย่าง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการป่วยที่รุนแรงจากโควิด-19
นอกเหนือไปจากนั้น เด็กๆ ที่มีสุขภาพดี ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้ว ยังคงถือว่าได้รับการป้องกันอย่างเพียงพอไม่ให้เกิดโรคร้ายแรงจากการติดเชื้อโควิด-19
ในวันพฤหัสบดี (9 มิ.ย.) นาย มาร์ก บัตเลอร์ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของสหพันธรัฐ ยินดีกับการเปลี่ยนแปลงนี้ และกระตุ้นให้ทุกคนที่มีสิทธิ์จองนัดเพื่อฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
ในขณะเดียวกัน ผู้คนในออสเตรเลียที่ได้รับยาต้านไวรัสโควิด-19 ที่อาจช่วยรักษาชีวิตผู้คนได้นั้นกำลังเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ขณะที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องพยายามมองหาวิธีลดความซับซ้อนของเกณฑ์ผู้มีสิทธิ์ได้รับยาต้านไวรัสดังกล่าว
ความตระหนักเกี่ยวกับยาต้านโควิดชนิดรับประทานสองตัว ได้แก่ยา ยาลาเกวริโอ (Lagevrio หรืออีกชื่อหนึ่งคือยาโมลนูพิราเวียร์ Molnupiravir) และยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มาจากข่าวในสื่อต่างๆ
แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องมีการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ฝ่ายต่างๆ ให้มากกว่านี้เกี่ยวกับยาต้านโควิดทั้งสองตัวนี้
นพ.คริส มอย รองประธานแพทยสมาคมแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า องค์กรสูงสุดที่เป็นตัวแทนแพทย์แห่งนี้ กำลังทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับยาต้านไวรัสชนิดรับประทานเหล่านี้
เขากล่าวว่าความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดประการหนึ่งคือ การให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รับประทานยาต้านโควิดเหล่านี้ภายใน 5 วันหลังเริ่มมีอาการ ซึ่งเป็นกรอบเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการเข้าถึงยาต้านโควิดเหล่านี้
พวกเขายังต้องมีผลการตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นบวก ก่อนที่จะรับยาได้
“ภายในกรอบเวลา 5 วันนี้ บางครั้งบางคนก็ไม่ได้ตรวจเชื้ออย่างทันเวลา” นพ.มอย กล่าวกับสำนักข่าวเอเอพี
“นอกจากนี้ ยังมีคนกลุ่มย่อยที่อาจไม่ต้องการยานี้อยู่แล้ว … คนเหล่านั้นบางคนอาจเป็นคนที่ไม่สนใจจะรับการฉีดวัคซีนก่อนหน้านี้”
เขากล่าวว่า จำเป็นสำหรับระบบดูแลสุขภาพที่จะต้องทำให้ผู้คนในออสเตรเลียตระหนักว่า ยาต้านไวรัสเป็นแนวป้องกันด่านที่ 2 ที่สำคัญในการบรรเทาความเสี่ยงของการเกิดโรคร้ายแรงอันเป็นผลมาจากการติดเชื้อโควิด-19
“มันสามารถสร้างความแตกต่างระหว่างความเป็นและความตายสำหรับบางคน และยังช่วยลดโอกาสที่พวกเขาจะลงเอยที่โรงพยาบาล” นพ.มอย กล่าว
ยาต้านไวรัสตั้งสองตัวนี้มีรายชื่ออยู่ในรายการยาที่ได้รับการชดเชยค่ายาให้จากรัฐบาล (โครงการ Pharmaceutical Benefits Scheme หรือ PBS) และสามารถเข้าถึงได้ตามแนวทางปฏิบัติการเข้าถึงยาในโครงการพีบีเอส แต่ในรัฐต่างๆ ก็มีกฎระเบียบที่แตกต่างกันสำหรับการเข้าถึงยาต้านโควิดเหล่านี้
“และบางส่วนก็ไม่ตรงกับแนวทางปฏิบัติภายใต้โครงการพีบีเอส (PBS)” นพ.มอย กล่าว
"บางครั้งอาจเป็นเรื่องยากสำหรับแพทย์ทั่วไป (GP) ที่จะตัดสินใจว่าจะต้องทำอย่างไรเมื่อพบว่าผู้ป่วยตกอยู่ภายใต้เกณฑ์ที่แตกต่างกัน"
เขากล่าวว่าผู้ป่วยบางรายสามารถถูกส่งต่อไปยังหน่วยงานของรัฐเพื่อรับยาได้
นพ.มอย กล่าวว่า หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกำลังพยายามทำให้แนวทางปฏิบัติมีความซับซ้อนน้อยลง สำหรับเรื่องการจ่ายยาต้านโควิด-19 เพื่อให้สอดคล้องกันทั่วทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ยาชนิดต่างๆ ที่ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในออสเตรเลีย