LISTEN TO
ให้การดูแลตัวเองเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวัน
SBS Thai
06/09/202110:22
คุณฟาติมา ฮาเซ (Fatimah Hasse) คุณแม่ที่มีลูกชายสามคน ผู้ที่เคยไม่พึงพอใจกับการต้องทำงานเต็มเวลา (full-time) และต้องวุ่นวายกับการจัดการกับครอบครัวของเธอ เธอจึงเข้าร่วมโครงการพัฒนาตนเองแบบรวบรัด และตระหนักว่าเธอต้องดูแลสุขภาพโดยรวมของเธอ
“ในตอนนั้นฉันอ้วนมาก รู้สึกเหนื่อยมาก และเหมือนทุกวันเป็นงานที่น่าเบื่อ ฉันต้องตื่นนอน จัดแจงลูกๆ ให้พร้อมไปโรงเรียน ต้องทำนี่ ต้องทำนั่น ฉันให้เวลาของฉันกับทุกคนที่อยู่รอบตัวฉัน ยกเว้นตัวฉันเอง และฉันรู้สึกว่าฉันต้องทำอะไรสักอย่าง”
พญ. เมย์ ลี หว่อง (Dr Mey Lee Wong) แพทย์จีพี (GP) ให้สัมภาษณ์กับคุณจีน เฮลส์ (Jean Hailes) จากวีเม่นส์ เฮลท์ วีค (Women’s Health Week) ว่าเธอมักจะเปรียบการดูแลตัวเองเหมือนการใส่เครื่องช่วยหายใจให้ตนเองก่อนที่จะช่วยผู้อื่น
เราทราบว่าผู้หญิงหลายท่านมักจะแบกภาระที่มองไม่เห็น รวมถึงแบกรับภาระทางจิตใจด้วย หากไม่ปรับให้ดี มันอาจแสดงออกทางร่างกายหรือรู้สึกไม่สบายได้ หากผู้หญิงดูแลตัวเองได้ดี คนรอบข้างจะได้รับผลประโยชน์ด้วย
ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยวิกตอเรีย เรื่องสถานะการดูแลตนเองของคนออสเตรเลีย เผยว่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และกว่าหนึ่งในสามของโรคมะเร็ง สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลตัวเอง โดยวิธีการออกกำลังกายเป็นประจำ การรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ และการเลิกดื่มแอลกอฮอล์และการเลิกสูบบุหรี่
พญ. หว่อง กล่าวว่า การดูแลสุขภาพจิตใจของตนเองนั้นดีพอๆ กับการดูแลสุขภาพร่างกาย
“หากคุณนอนหลับไม่สนิท อาจมีอาการของโรควิตกกังวล (anxiety) หรือโรคซึมเศร้า (depression) ซึ่งกลุ่มชุมชนบางกลุ่มไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องของการเจ็บป่วยทางจิตใจ การนอนหลับที่เพียงพอ การรับประทานอาหารที่ดี การมีกิจวัตรประจำวันที่ดี การแบ่งเวลาเพื่อออกกำลังกายนั้นเป็นกิจวัตรที่ดี”
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขของรัฐบาลสหพันธรัฐ ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะมีอาการป่วยทางจิตใจและทางร่างกาย สูงกว่าผู้ชาย 1.6 เท่า
นายแพทย์ แกรนท์ บลัชกี้ (Dr Grant Blashki) หัวหน้าคณะที่ปรึกษาของบียอนด์ บลู (Beyond Blue) กังวลว่าคนที่มาจากต่างวัฒนธรรมมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตกับแพทย์จีพี เหตุเพราะการตีตราทางสังคมและวัฒนธรรมนายแพทย์บลัชกี้ย้ำถึงข้อมูลของบียอนด์ บลู ที่พบว่าคนออสเตรเลียเกือบครึ่งจะประสบปัญหาสุขภาพจิตในชีวิต โดยมี 1 ล้านคนกำลังเผชิญกับโรคซึมเศร้า และ 2 ล้านคนต้องทนทุกข์กับโรควิตกกังวลในทุกปี
การเดินเล่น 15 นาทีเป็นการดูแลตัวเองอย่างหนึ่ง Source: Westend61/Getty Images
“หากพวกเขามีความเครียด หรือนอนไม่หลับ หรือหดหู่ หรือทะเลาะกับคู่ครอง พวกเขามักจะคิดว่า นี่ไม่ใช่ปัญหาที่ต้องไปพบแพทย์จีพี แต่จริงๆ แล้ว แพทย์จีพีเป็นประตูสู่ระบบสุขภาพจิตที่ดีของคนออสเตรเลีย แพทย์สามารถออกแผนสุขภาพจิต (Mental Health Plan) ซึ่งมันจะทำให้คุณสามารถขอรับบริการจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เช่น นักจิตวิทยา”
คุณมาร์เซลา (Marcela)คุณแม่ลูกสองในบริสเบน เคยเผชิญกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดหลังให้กำเนิดบุตรคนแรก จนกระทั่งเธอเริ่มให้ความสำคัญในการดูแลตัวเองอย่างจริงจังเป็นกิจวัตร เธอจึงสามารถมีความสุขกับชีวิตอีกครั้ง
หากคุณทำงานบ้าน 5 อย่าง คุณต้องทำ 5 สิ่งในการดูแลตนเอง เช่นการทำเล็บ อาบน้ำหรือแช่น้ำให้เต็มที่ ใช้เวลาในการแปรงฟันให้สะอาด อะไรทำนองนั้น
คุณมาร์เซลามักไปทำเล็บ นวด และเดินเล่น เป็นประจำ นอกจากนั้นเธอยังฟังคำแนะนำในการนั่งสมาธิหลังจบวันที่ยุ่งวุ่นวาย และบางครั้งการออกไปเดินเล่นเพียง 15 นาที หรือการดื่มชา สามารถเปลี่ยนทุกสิ่งได้
“การรีบดื่มชาหรือแกแฟนั้นไม่มีความหมายอะไร ดื่มเครื่องดื่มโดยไม่รีบร้อน และมองออกไปที่ต้นไม้ด้านนอกหรือนั่งดื่มในสวน”
การดื่มชาอย่างไม่รีบร้อน เป็นหนี่งในวิธีดูแลตัวเอง Source: Westend61/Getty Images
อย่างไรก็ตาม พญ. หว่อง กล่าวว่า ผู้หญิงที่มีอุปสรรคทางภาษามักจะตกหล่นไปจากระบบสาธารณสุข การขาดอิสระทางที่จะสามารถปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญที่มีความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมที่แตกต่างได้นั้นยังเป็นอุปสรรคของการมีสุขภาพที่ดีอีกด้วย
“หากพวกเธอเป็นโสดหรือมีอายุหน่อย พวกเธอจะไม่มีความรู้ด้านสุขภาพมากนัก ที่จะรู้ว่าออสเตรเลียมีระบบการตรวจสุขภาพที่ดีมาก เช่น โปรแกรมการตรวจแปปเสมียร์ (Pap Smear การตรวจคัดกรองมะเร็งปาดมดลูก) หรือโปรแกรมตรวจเต้านม และผู้หญิงเหล่านี้มักเจออุปสรรคหลายประการขัดขวางพวกเขาไม่ให้เข้าไปคุยกับแพทย์จีพี”
คุณมาเรีย แฮช (Maria Hach)ที่ปรึกษานโยบายระดับอาวุโสที่ศูนย์พหุวัฒนธรรมเพื่อสุขภาพสตรี (Multicultural Centre for Women’s Health) กล่าวว่า การดูแลตนเองมีความหมายต่างกันในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละบุคคล สำหรับบางคน มันอาจหมายถึงการอยู่อย่างปลอดภัยในบ้านที่พฤติกรรมรุนแรง
การสังเกตเป็นประจำว่า สิ่งไหนทำให้เรารู้สึกปลอดภัยและมีสุขภาพดี และไม่ควรรอจนกว่าเราจะรู้สึกแย่จริงๆ ที่จะขอความช่วยเหลือ
งานวิจัยของคุณมาเรียพบว่า การดูแลตนเองนั้นเกี่ยวข้องกับการดูแลชุมชน และบุคคลที่มีสุขภาพแข็งแรงสุดท้ายแล้วจะสร้างชุมชนให้ดีขึ้น
“สิ่งสำคัญคือการยอมรับว่า ในบางครั้งนั้นเราไม่สามารถเปลี่ยนความรู้สึกของเราได้ ไม่ว่าเราจะพยายามมากแค่ไหนก็ตาม เราควรดูแลตัวเราเอง ปฏิบัติต่อตนเองเหมือนที่เราปฏิบัติกับเพื่อนที่ดีมากๆ คนหนึ่ง เริ่มด้วยสิ่งเล็กๆ ในการเข้าถึงตัวเราเอง และทำสิ่งที่เราชอบ เดินเล่นกับคนอื่น นัดทานอาหารในสวนสาธารณะ พูดคุยกับคนที่เราไว้ใจ”
สองปีผ่านไป คุณฟาติมา ฮาเซ สามารถกำจัดน้ำหนัก 10 กิโลออกไปได้ และเธอยังสามารถยกภูเขาออกจากอกได้จนกลายเป็นคนใหม่ตอนนี้เธอสามารถเป็นเธอในภาพที่เธอวาดไว้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยการไปยิมเป็นประจำ สวดมนต์ 5 ครั้ง และการเรียนรู้สิ่งใหม่เป็นเวลาครึ่งชั่วโมงต่อวัน นั่นเป็นสิ่งที่นอกเหนือจากการสอนลูกชาย 3 คนที่เรียนจากบ้านในช่วงล็อกดาวน์ และการทำงานเป็นโค้ชด้านความสัมพันธ์
คุณฟาติมา ฮาเซและครอบครัว Source: Fatimah Haase supplied
“การเติบโตนั้นไม่มีจุดสิ้นสุด ฉันได้ปลุกความโหยหาสิ่งที่ดีในตัวฉัน ความสุขนั้นอยู่ในความก้าวหน้า และหากคุณทำมันได้ดี คุณจะสัมผัสสิ่งนั้นได้ผ่านความสุข”
ให้ความสำคัญกับการดูแลตนเอง ในสัปดาห์สตรีแห่งชาติ (National Women’s Week)ตั้งแต่วันที่ 6-10 กันยายนนี้ อ่านเคล็ดลับต่างๆ ได้ที่
สำหรับความช่วยเหลือด้านจิตใจ โทรสายด่วน บียอนด์ บลู (Beyond Blue)ฟรี 24 ชั่วโมง ที่ 1300 224636
ขอบริการนักแปลและล่ามฟรีได้กับทุกบริการที่ 13 14 50 แล้วขอต่อสายไปยังผู้ให้บริการที่ต้องการ
โทร 1800 RESPECTที่ 1800 737 732 หากคุณเผชิญเรื่องความรุนแรงในครอบครัวหรือการล่วงละเมิดทางเพศ
หากคุณอยู่ในอันตราย โทร 000 ทันที
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่