สถานการณ์โควิด-19 ระบาดทั่วประเทศส่งผลให้ชีวิตชาวออสเตรเลียนับล้านต้องตกอยู่ภายใต้ล็อกดาวน์ ด้านนักรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพจิตแสดงความกังวลห่วงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเยาวชน
ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวสอบถามนางกลาดิส เบเรจิกเลียน มุขมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์ เกี่ยวกับตัวเลขที่รายงานโดยหนังสือพิมพ์ไนน์ (Nine) ซึ่งระบุว่า มีเด็กและวัยรุ่นเข้ารับบริการที่แผนกผู้ป่วยฉุกเฉินในรัฐนิวเซาท์เวลส์จากกรณีทำร้ายตัวเองหรือคิดฆ่าตัวตาย เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับปีก่อน
“น่าหวั่นใจอย่างยิ่งที่เห็นผู้คนต้องเผชิญความเจ็บปวดรวดร้าวทางจิตใจ โดยเฉพาะเยาวชน” นางเบเรจิกเลียนกล่าว
นักรณรงค์ชี้ว่า สถานการณ์เช่นนี้ทวีแรงกดดันต่อระบบดูแลสุขภาพที่รองรับความต้องการได้แทบไม่เพียงพอ ผู้ขอรับบริการต้องรอคอยเป็นเวลานานกว่าจะได้พบนักจิตวิทยาหรือแพทย์แม้ยามจำเป็น
READ MORE
วิกฤติโคโรนาส่งผลต่อสุขภาพจิตของ ปชช
ศาสตราจารย์แพทริก แมคกอร์รี (Patrick McGorry) ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรด้านสุขภาพจิต Orygen กล่าวว่า กรณีเยาวชนในออสเตรเลียถูกปฏิเสธจากแผนกฉุกเฉิน “เกิดขึ้นทุกวัน”
“เราไม่สามารถให้การดูแลต่อเนื่องหลังการรักษาแก่พวกเขาได้ เพราะผู้ให้บริการทุกรายมีรายชื่อรอรับบริการเต็มมือ เรามีปัญหาแล้วจริง ๆ ” คุณแมคกอร์รีกล่าวกับเอสบีเอส นิวส์
“หากเรื่องแบบนี้เกิดกับผู้ป่วยโควิดหรือผู้ป่วยกลุ่มอื่นคงมีการดำเนินการทันที”
ศาสตราจารย์แมคกอร์รีบรรยายวิกฤตด้านสุขภาพจิตสืบเนื่องจากโควิด-19 ว่าเป็น “โรคระบาดเงา” (“shadow pandemic”) ซึ่งส่งผลต่อเยาวชนมากกว่าคนวัยอื่น
“เยาวชนเป็นประชากรกลุ่มที่เผชิญปัญหาสาหัสที่สุดมาตลอดในแง่สุขภาพจิต หนำซ้ำโรคระบาดยังกระเทือนชีวิตพวกเขามากกว่าคนช่วงวัยอื่น” ศาสตราจารย์แมคกอร์รีกล่าว
“เยาวชนมักอยู่ระหว่างศึกษาเล่าเรียนและมีแนวโน้มทำงานแคชวลมากกว่าคนวัยกลางคนหรือคนอายุมาก เยาวชนพึ่งพากลุ่มเพื่อนมากกว่าด้วย ตอนนี้ชีวิตประจำวันของพวกเขาถูกแยกออกจากกลุ่มเพื่อน ระบบสนับสนุนเยาวชนไม่ว่าจะเป็นครูอาจารย์ ผู้ปกครอง หรือโครงการและความช่วยเหลืออื่น ตอนนี้รองรับแทบไม่ไหวแล้ว”คุณนิก บราวน์ (Nic Brown) ประธานกรรมการบริหารองค์กร batyr ซึ่งเป็นองค์กรด้านสุขภาพจิตเชิงป้องกันสำหรับเยาวชน กล่าวว่า รายงานตัวเลขเยาวชนที่เข้ารับบริการแผนกฉุกเฉินจากกรณีทำร้ายตัวเองและคิดฆ่าตัวตายนั้น “น่าสะเทือนใจ”
An empty alleyway is seen in the central business district of Sydney during lockdown Source: AAP
พร้อมกล่าวเสริมว่า ขณะที่รัฐบาลรัฐต่าง ๆ จัดสรรทุนดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การดำเนินการยังควรต้อง “หลากหลาย” กว่านี้
“การจัดสรรเงินทุนควรกระจายให้หลากหลายกว่านี้ เพื่อมุ่งเน้นลงทุนในการป้องกันและการแทรกแซงตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ลดการตีตราที่เกี่ยวข้องกับอาการทางจิต เพื่อให้ชุมชนและบุคคลมีเครื่องมือเข้าถึงบทสนทนาที่อาจเปลี่ยนชีวิตได้เหล่านี้” คุณบราวน์กล่าว
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์แมคกอร์รียังเรียกร้องให้รัฐบาลกลางเปิดช่องทางนำผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิตจากต่างประเทศที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วเข้ามาช่วยเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล
“เราต้องพิจารณาเปิดรับเที่ยวบินมากขึ้น ออกวีซ่าเพิ่มขึ้น และปรับทัศนคติต่อการรับผู้ปฏิบัติงานจากต่างประเทศให้ยืดหยุ่นกว่านี้” ศาสตราจารย์แมคกอร์รีกล่าว
แนวทางดูแลสุขภาพจิตของคุณ
คุณแดเนียล ดิ ฟลูรี (Daniel Di Fluri) วิทยากรและนักรณรงค์จากองค์กร batyr มีประสบการณ์ตรงกับภาวะทางสุขภาพจิต
คุณดิ ฟลูรี สนับสนุนให้ผู้ประสบปัญหาสุขภาพจิตอย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือ โดยอธิบายว่า การขอความช่วยเหลือนั้นปรับทัศนคติของเรา “เปลี่ยนความอ่อนแอให้กลายเป็นความเข้มแข็ง” และช่วยก้าวข้ามการตีตราเกี่ยวกับสุขภาพจิต
“ผมพยายามพาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางผู้คนที่มองโลกในแง่บวก คนที่ผมเปิดใจด้วยได้และสื่อสารกับพวกเขาได้อย่างสงบผ่อนคลาย” คุณดิ ฟลูรีเล่า“พาตัวคุณเองไปอยู่ท่ามกลางคนที่คุณรู้สึกเชื่อใจและเปิดใจด้วยได้ ... ถึงไม่ได้เริ่มต้นที่ 100 เต็ม คุณก็พัฒนาไปพร้อมกับพวกเขาได้”
Daniel Di Fluri. Source: Supplied
คุณดิ ฟลูรี กล่าวว่า วิธีหนึ่งที่เขามักใช้รับมือเวลารู้สึกแย่ คือ จดรายชื่อกิจกรรมที่ทำให้เขามีความสุข
“กิจกรรมพวกนี้ช่วยให้ผมรู้สึกเป็นตัวเองอย่างแท้จริง”
“ผมจดรายชื่อกิจกรรมเหล่านี้ตอนรู้สึกสบายใจ... เพื่อกลับมาดูตอนที่รู้สึกไม่ดีนัก ผมอาจเลือกกิจกรรมสักอย่างสองอย่างจากในรายชื่อแล้วพยายามทำให้ได้ภายในสองสามวัน เริ่มจัดการความรู้สึกของตัวเองให้ดีขึ้นอย่างช้า ๆ ”
เขาเสริมว่า “ผมชอบอ่านหนังสือเล่มใหม่ทุกสัปดาห์ สร้างเพลย์ลิสต์ใน Spotify สะท้อนอารมณ์ของผม สื่อความรู้สึกตอนนั้นออกมาผ่านเนื้อเพลงโดยที่ไม่ต้องพูดออกมาเอง จดบันทึกประจำวันก็ได้ กินอาหารที่มีประโยชน์ก็ดีเช่นกัน”
คุณบราวน์กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่สายเกินไปหากจะย้ำถึง “บทบาทที่เราทุกคนทำได้ เพื่อเปิดใจพูดคุยอย่างมีความหมายกับเพื่อนหรือคนที่คุณห่วงใยที่อาจกำลังเผชิญช่วงเวลายากลำบาก”
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
บริการด้านสุขภาพจิตในออสเตรเลียเป็นภาษาของคุณ
ศาสตราจารย์แมคกอร์รีกล่าวว่า อยากให้เยาวชนรู้สึกว่าตนสามารถเชื่อมต่อกับคนที่เขาเชื่อใจหรือขอความช่วยเหลือจากบริการด้านสุขภาพจิต
“ในแง่หนึ่ง คุณอยู่ในช่วงเริ่มต้นของชีวิต เลยอาจยังไม่เคยมีประสบการณ์ชีวิตพอรับมือกับความรู้สึกอันแสนเจ็บปวดเหล่านี้ ความรู้สึกสิ้นหวัง ความเหงา ความเดียวดาย” ศาสตราจารย์แมคกอร์รีกล่าว
“หากคุณกำลังเผชิญความรู้สึกแบบนี้ คุณต้องเข้าหาคนที่คุณไว้ใจแล้วพยายามขอความช่วยเหลือจากพวกเขา”
“อย่ายอมแพ้”
หากคุณต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตสามารถติดต่อ บียอนด์ บลู (Beyond Blue) โทร. 1300 22 4636 หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมที่ เยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปีสามารถติดต่อสายด่วยความช่วยเหลือ คิดส์ เฮลป์ไลน์ (Kids Helpline) โทร. 1800 55 1800
โครงการสุขภาพจิตพหุวัฒนธรรม เอ็มเบรซ () ให้การสนับสนุนบุคคลที่มีภูมิหลังหลากภาษาและวัฒนธรรม
ชาวออสเตรเลียผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQ+) ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตสามารถติดต่อ คิวไลฟ์ (QLife) โทร. 1800 184 527 หรือเว็บไซต์ หรือค้นหาบริการช่วยเหลือที่
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
พูดกับคนที่ลังเลอย่างไรให้ไปฉีดวัคซีน