นักกำหนดอาหารแนะเทคนิคสู้น้ำหนักตัวสะสมช่วงล็อกดาวน์

ถ้าล็อกดาวน์โควิดทำเอาตารางออกกำลังกายของคุณรวนไปหมด แถมยังอดไม่ได้แวะเปิดตู้เย็นบ่อยเกินไปสักหน่อย ลองทำตามเทคนิคนี้จากนักกำหนดอาหารเพื่อรับมือน้ำหนักตัวสะสมจากล็อกดาวน์

Working from home during lockdowns can cause gaining Covid-Kilos

Here are some dietitian-approved health tips to shift your lockdown kilos. Source: SBS

คุณซิมรัน โกรเวอร์ (Simran Grover) นักกำหนดอาหารจากนครซิดนีย์ มองว่าการอยู่บ้านช่วยออสเตรเลียควบคุมการระบาดของโควิด-19 แต่คำสั่งปิดยิมออกกำลังกาย สนามเด็กเล่นและศูนย์นันทนาการ กระทบกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันของผู้คน จนอาจทำให้น้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลง ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

ผลสำรวจโดยอิปซอสส์ (Ipsos) บริษัทวิจัยตลาดระดับโลก พบว่าชาวออสเตรเลียที่เข้าร่วมตอบแบบสำรวจออนไลน์ ราวร้อยละ 35 ระบุว่าน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นช่วงโรคระบาดโควิด-19 นับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกเล็กน้อย


ประเด็นสำคัญ

  • คุณซิมรัน โกรเวอร์ นักกำหนดอาหาร มองว่าล็อกดาวน์ขัดขวางการดำเนินกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันของผู้คน หลายคนน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • การปรับกิจวัตรประจำวันให้ได้เคลื่อนไหวร่างกายจึงสำคัญต่อการควบคุมน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นเพราะล็อกดาวน์โควิด หรือที่เรียกว่า ‘Covid kilos’
  • งานวิจัยพบว่า 1 ใน 3 ของชาวออสเตรเลียน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นช่วงโควิดระบาด

ในบทสัมภาษณ์กับเอสบีเอส ภาษาปัญจาบ คุณโกรเวอร์เล่าว่า ลูกค้าของเธอหลายคนมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหลายกิโลกรัม เนื่องจากล็อกดาวน์บีบบังคับให้อยู่บ้านแล้วหันเข้าหาของกินช่วยเยียวยาใจ
Dietitian
Sydney-based dietitian Simran Grover. Source: Supplied by Simran Grover
“ผู้คนเผชิญล็อกดาวน์กันเป็นครั้งแรกในชีวิต ด้วยเหตุนี้ หลายคนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากใช้ชีวิตนั่งจมอยู่กับที่เป็นเวลานาน กินอาหารอะไรก็ตามที่มีในครัว จนนำไปสู่น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น” คุณโกรเวอร์กล่าว

“บางคนยังพบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดกับคอเลสเตอรอลพุ่งสูงขึ้นช่วงล็อกดาวน์ด้วย” 

คุณโกรเวอร์แนะนำ “กลยุทธ์สามข้อ” ช่วยควบคุมน้ำหนักตัวสะสมช่วงล็อกดาวน์ให้กลับมาอยู่ในระดับเดิม

“อันดับแรก กินอย่างมีสติ ก่อนหยิบอาหารเข้าปากให้ถามตัวเองก่อนว่าหิวหรือไม่”

“สอง หากคุณทำงานจากบ้าน พยายามสวมชุดทำงานทางการอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ส่วนมากเราสวมชุดลำลองเมื่อทำงานจากบ้าน พอน้ำหนักเพิ่มขึ้นจึงสังเกตเห็นไม่ง่ายนัก”

นอกจากนี้ คุณโกรเวอร์ยังเสนอให้เตรียมขวดน้ำดื่มติดโต๊ะทำงานไว้เสมอ ช่วยลดความจำเป็นที่ต้องเดินเข้าครัวจนอาจเผลอใจไปกับอาหารที่ไม่มีประโยชน์

“สาม เอาเวลาที่ประหยัดจากการที่ไม่ต้องเดินทางไปทำงานมาใช้กับกิจกรรมทางกายที่ทำได้ในบ้าน เพื่อบริหารกล้ามเนื้อและให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวเป็นประจำ” คุณโกรเวอร์แนะนำ

อ่านบทความนี้เป็นภาษาอังกฤษได้ที่เว็บไซต์


คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 26 August 2021 3:20pm
By MP Singh
Presented by Phantida Sakulratanacharoen
Source: SBS Punjabi

Share this with family and friends