เอสบีเอส ไทย: ในการแถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 จากภาครัฐ จะกล่าวถึงการที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งที่ไปไหนมาไหนในชุมชนขณะมีการอาการที่แพร่เชื้อได้ (out in the community while infectious) หมายความว่าอย่างไร และทำอย่างไรเราถึงจะลดจำนวนของผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้ได้
พญ.มานี: จริงๆ แล้วจะมีผู้ติดเชื้อกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยมากจนพวกเขาไม่คิดว่าตนเองมีเชื้อ จึงคิดว่าเป็นหวัดนิดหน่อย หรือแพ้อากาศ จึงออกไปทำงาน ไปโรงเรียน ขึ้นรถบัส รถเมล์ รถไฟ ก็เลยทำให้นำเชื้อไปติดคนอื่นได้ แต่ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ จริงๆ แล้วเราไม่ควรออกไปไหนเลย ยกเว้นออกไปซื้อกับข้าว ไปหาหมอ หรือไปฉีดวัคซีน เพราะฉะนั้น ถึงเราจะมีอาการน้อยยังไง แต่ก็ควรจะไปรับการตรวจเชื้อ เพราะบางคนคิดว่าตนเองไม่ได้เป็นอะไรมาก แค่เจ็บคอนิดหน่อย
เอสบีเอส ไทย: อาการอะไรบ้างที่ถ้ามีแล้วควรไปรับการตรวจเชื้อโควิด
พญ.มานี: ส่วนใหญ่จะมีอาการเบื้องต้นคล้ายๆ คนเป็นหวัดคือ เจ็บคอ มีไข้ ไอ น้ำมูกไหล ปวดหัว แต่บางคนอาจไม่มีอาการ แต่ได้ไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เขาก็แนะนำว่าให้ไปรับการตรวจเชื้อ
เอสบีเอส ไทย: ในการไปเดินทางไปรับการตรวจเชื้อ ควรปฏิบัติตัวอย่างไร บางคนไปแวะที่อื่นก่อนหรือหลังไปยังสถานที่ตรวจเชื้อ ซึ่งไม่ควรทำ เพราะอะไร
พญ.มานี: ถ้าเราจะไปรับการตรวจเชื้อ เราควรคิดอยู่ในใจว่า เราอาจจะมีเชื้อแล้ว เพราะฉะนั้นเราควรสวมหน้ากากอนามัย และไม่ควรจะไปพบปะกับผู้คนมาก ถ้าขับรถไปเองได้ ก็ให้ขับรถไปเอง ถ้าไม่ใช้รถเมล์ รถไฟได้ก็จะดี เวลาไปตรวจเชื้อ ก็ให้ไปที่ตรวจเลย ตรวจเสร็จ ก็กลับบ้านเลย ไม่ควรไม่แวะที่โน่นที่นี่ เราต้องคิดอยู่เสมอว่า ถ้าเรามีอาการ เราก็อาจมีเชื้ออยู่และเราอาจนำเชื้อไปแพร่สู่คนอื่นได้
เอสบีเอส ไทย: ก่อนหน้านี้ มีกรณีคนที่มีอาการของโควิด แทนที่จะไปรับการตรวจเชื้อทันที แต่ไปร้านขายยา เพื่อไปซื้อยามากิน หรือไปคลินิกเพื่อไปหาหมอ ต่อมาปรากฎว่า พบผลการตรวจเชื้อเป็นบวกคือติดเชื้อ จึงทำให้ร้านขายยาและคลินิกกลายเป็นสถานที่เสี่ยงแพร่เชื้อ คุณหมออยากแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีแบบนี้ขึ้นอีก
พญ.มานี: ในช่วงนี้ ถ้าเรามีอาการ หรือรู้สึกไม่สบาย เราสามารถโทรศัพท์หาหมอได้ โดยรัฐบาลมีบริการที่เรียกว่า เทเลเฮล์ท (Telehealth) คือให้คนไข้สามารถโทรศัพท์หาหมอได้และปรึกษาอาการทางโทรศัพท์กับหมอ หมอจะแนะนำให้ว่าควรทำอย่างไรบ้าง หมอจะแนะนำว่าควรจะไปตรวจเชื้อ ควรจะกักตัว หรือควรจะซื้อยา ในการซื้อยา เราก็ไม่ต้องไปซื้อด้วยตัวเอง เพราะหมอส่งใบสั่งยาไปที่ร้านขายยา แล้วร้านขายยาจัดส่งให้คนไข้ได้ ในช่วงนี้เราไม่จำเป็นต้องออกจากบ้านเลย สามารถโทรศัพท์หาหมอได้ โดยหมอจีพีทุกที่จะรับปรึกษาทางโทรศัพท์ที่เขาเรียกว่า เทเลเฮล์ท (Telehealth) ซึ่งเราโทรคุยได้
เอสบีเอส ไทย: จากกรณีที่การติดเชื้อหลายราย เกิดจากการที่คนที่เป็นญาติกัน ซึ่งไม่ได้อยู่ร่วมบ้านกัน แต่ยังคงไปมาหาสู่กันในช่วงล็อกดาวน์ คุณหมออยากฝากถึงชุมชนไทยเกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างไร
พญ.มานี: จริงๆ แล้วในช่วงนี้ ถึงแม้จะเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน แต่ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกัน เขาก็แนะนำว่าไม่ให้ไปมาหาสู่กัน ถ้าเราคิดถึงกัน ถ้าเรารักกันจริง เราก็โทรศัพท์คุยกัน หรือใช้เฟซบุ๊ก เฟซไทม์ อะไรก็ว่าไป เพราะเวลาเราไปหาเขา จะมีความเสี่ยงที่เราจะนำเชื้อไปฝากเขาได้ ในช่วงล็อกดาวน์ เขาห้ามไปหากันเลย ถ้าเราไม่ได้อยู่บ้านนั้น เราห้ามเข้าไปในบ้านคนอื่นเอสบีเอส ไทย: การกักตัวกรณีถูกระบุว่าเป็นผู้พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ(close contact) หรือว่าเราได้เดินทางไปยังสถานที่เสี่ยง ซึ่งทำให้เราต้องกักตัว 14 วันเราต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเราจะออกไปซื้ออาหารออกไปซูเปอร์มาร์เก็ตได้ไหมไปซื้อยาได้ไหมให้คนมาหาที่บ้านได้ไหม
การสวมหน้ากากอนามัย การรักษาระยะห่างจากผู้อื่น และการล้างมือ ยังคงเป็นมาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิดที่เราต้องทำต่อไป Source: Pixabay
พญ.มานี: การกักตัวคือ เขาไม่อยากให้เราเจอใครเลย ให้อยู่แต่ที่บ้าน อยู่คนเดียว เขาไม่ให้เราออกไปไหนเลย ถึงจะซื้ออาหาร ก็ให้ซื้อออนไลน์ หรือโทรศัพท์สั่ง จะซื้อยา ก็ให้ซื้อออนไลน์
ถ้าจะให้คนมาหาที่บ้านเพื่อมาส่งของ ก็ไม่ให้เข้ามาในบ้าน (ให้วางของไว้หน้าประตูบ้าน) เขาไม่ให้ใครเข้ามาเยี่ยมเลย ไม่ให้สัมผัสกับใครเลย คือเราต้องคิดไว้ว่า ถ้าเราเป็นผู้พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ (close contact) เราอาจมีเชื้ออยู่ในตัวและเราอาจสามารถแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้ การออกกำลังกาย เราก็ต้องออกกำลังกายภายในบ้าน ห้ามออกไปข้างนอกบริเวณบ้าน เราต้องกักตัว 14 วัน
เอสบีเอส ไทย: ถ้าเราต้องกักตัว แต่ต้องอยู่ร่วมบ้านกับคนอื่น แต่มีห้องนอนของตัวเอง แต่ห้องน้ำใช้ร่วมกัน เราควรทำอย่างไร
พญ.มานี: กรณีนี้ค่อนข้างลำบาก เพราะตามหลักแล้ว เราต้องพยายามไม่อยู่ใกล้ชิดกับใครและไม่ใช้อะไรร่วมกับใคร แต่มีหลายคนที่ต้องแชร์บ้านอยู่และต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน เขาแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยในบ้านให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เช่น ถ้าเราจะเดินออกจากห้องนอนไปเข้าห้องน้ำ ให้เราสวมหน้ากากอนามัย หรือถ้าเรามีถุงมือที่จะสวมเมื่อจับลูกบิดประตู ก็จะยิ่งดี เมื่อใช้ห้องน้ำเสร็จแล้ว ให้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อล้างห้องน้ำให้สะอาด เช็ดลูกบิดประตูให้สะอาด ถ้าในห้องน้ำมีหน้าต่าง ก็ให้เปิดหน้าต่าง เพื่อให้เชื้อได้ถ่ายเทออกไป สำหรับคนที่อยู่ร่วมบ้านกับเราที่จะมาใช้ห้องน้ำต่อจากเรา ก็ให้เขารอสักพักถึงจะใช้ห้องน้ำต่อ ไม่ใช่ว่าเราออกเขาเข้าทันที เพราะฉะนั้น ให้เราสวมหน้ากากไว้เมื่อใช้ห้องน้ำและให้ล้างมือให้สะอาดหลังจากนั้น
เอสบีเอส ไทย: ถ้าเราถูกระบุให้กักตัว 14 วัน เหตุใดเราจึงต้องกักตัว 14 วัน แม้ว่าผลการตรวจเชื้อในช่วงแรกจะพบว่าเราไม่ติดเชื้อ
พญ.มานี: เพราะระยะฟักตัวของเชื้ออยู่ที่ประมาณ 14 วัน ถ้าเราตรวจเชื้อแล้วพบว่าวันนี้ไม่ติดเชื้อ แต่เชื้อมันอาจจะอยู่ในตัวเราและมันค่อยๆ มาแสดงผลทีหลัง เพราะฉะนั้นเมื่อครบ 14 วันแล้วมาตรวจเชื้อ ก็จะค่อนข้างมั่นใจได้ว่า เราไม่ติดเชื้อ แต่บางทีก็มีบางคนที่หลัง 16 วันแล้วมาตรวจเจอ ก็ยังมี แต่โดยทั่วๆ ไประยะฟักตัวของเชื้อตัวนี้อยู่ที่ประมาณ 14 วัน
การฉีดวัคซีนต้านโควิด ไม่ได้กันติด แต่กันตาย Source: Pixabay
เอสบีเอส ไทย: วัคซีนต้านโควิดมีบทบาทอย่างไรในการแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโควิดที่ดำเนินอยู่ขณะนี้ คุณหมอมีคำแนะนำอย่างไรถึงประชาชนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน
พญ.มานี: วัคซีนไม่ได้ช่วยให้เราไม่ติดเชื้อ ถึงจะฉีดวัคซีนแล้ว แต่เราก็ยังมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ แต่ถ้าเราฉีดวัคซีนแล้ว ถึงจะติดเชื้อ แต่อาการจะไม่รุนแรงเท่าคนที่ไม่ได้ฉีด อัตราหรือความเสี่ยงการตายก็จะน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ฉีด คนที่ติดเชื้อและอยู่ในโรงพยาบาลและเข้าห้องไอซียูขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนทั้งนั้นเลย คือการฉีดวัคซีนก็เพื่อลดความรุนแรงของโรคลง เพราะฉะนั้น ใครที่ยังไม่ได้ฉีด ก็ควรไปรับการฉีดเสีย โดยเฉพาะคนที่อยู่ในพื้นที่ฮอตสปอต (ที่มีการระบาดของเชื้อสูง) เขาบอกว่า คนที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ใครอยากฉีด ก็ไปฉีดได้แล้ว
เอสบีเอส ไทย: คุณหมออยากฝากอะไรถึงใครที่ยังลังเลใจอยู่เรื่องวัคซีนโควิด โดยเฉพาะวัคซีนแอสตราเซเนกา
พญ.มานี: วัคซีนทุกตัวมีผลข้างเคียงทั้งนั้นแต่คนที่ลังเลส่วนใหญ่เพราะเรื่องลิ่มเลือดอุดตัน แต่โอกาสที่คนฉีดวัคซีนแล้วตายจากอาการลิ่มเลือดนั้น มี 1 ใน 1,000,000 (หนึ่งในล้าน)
มีคนเขาเทียบให้ฟังว่า ฉีดวัคซีนแล้วตายเหมือนถูกล็อตเตอรีรางวัลที่หนึ่ง ติดโควิดแล้วตายเหมือนถูกเลขท้ายสองตัว คือมีโอกาสมากกว่า (ที่จะตายจากโควิด)
คนส่วนใหญ่ที่ลังเลเพราะมีโรคประจำตัว ที่กลัวว่าวัคซีนจะไม่ถูกกับโรคประจำตัวของเรา เราสามารถปรึกษากับหมอของเราได้ คุยกับหมอจีพีของเราก่อนว่าเรามีโรคนั้นโรคนี้แล้วควรจะฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาไหม ถ้าเขาเห็นว่าเราฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาไม่ได้ เขาก็จะให้เราฉีดไฟเซอร์ ถ้าเขาคิดว่าเราฉีดไฟเซอร์ไม่ได้ เขาก็จะให้เราฉีดแอสตราเซเนกา คือให้เราโทรศัพท์ไปคุยกับหมอก่อน แล้วค่อยจองเวลาไปฉีดก็ได้ ไม่ต้องไปฉีดทันที หากยังลังเลใจ
เอสบีเอส ไทย: คุณหมออยากจะฝากอะไรถึงคนฟังเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในซิดนีย์
พญ.มานี: สถานการณ์โควิดในพื้นที่ไหนๆ ก็เหมือนกัน เพราะโรคนี้อาจจะอยู่กับเราไปอีกนาน เพราะฉะนั้น ให้ทุกคนคิดถึงเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย ให้รักษาระยะห่างจากผู้อื่น ล้างมือสม่ำเสมอ และฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันตัวเรา เพราะเราอาจต้องอยู่กับโควิดไปอีกนานหลายปี
ฟังสัมภาษณ์ทั้งหมดได้ที่นี่
LISTEN TO
หมอไทยในซิดนีย์แนะการปฏิบัติตัวเพื่อลดโควิดระบาดช่วงล็อกดาวน์
SBS Thai
30/07/202115:58
หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
โควิด-19 อัปเดต: ทางการ NSW และ QLD ขอร้องให้ประชาชนอยู่บ้าน