พิษปัญหาสุขภาพจิตสะเทือนเศรษฐกิจออสฯ วันละกว่าร้อยล้าน

NEWS: ความเครียด-ปัญหาสุขภาพจิตฉุดคนเรียน-ทำงานทรุด กระทบเศรษฐกิจออสฯ เสียหายปีละหลายแสนล้าน พบคนนับล้านไม่เข้ารับการรักษา ชี้นโยบายหลายด้านต้องเปลี่ยน

Depression and loneliness

Source: SBS

มีรายงานล่าสุดที่ระบุว่า ปัญหาสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายนั้น สร้างความเสียหายให้กับออสเตรเลียเป็นมูลค่าราว $180,000 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้มีการเรียกร้องให้พิจารณาเปลี่ยนแปลงนโยบายที่เกี่ยวข้องในระบบสาธารณสุขของออสเตรเลีย

โดยในวันนี้ (31 ต.ค.) คณะกรรมาธิการด้านผลิตผล ได้ส่งมอบร่างรายงาน ซึ่งเป็นการพิสูจน์ข้อมูลด้านค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทางสุขภาพจิต และการฆ่าตัวตายในออสเตรเลีย

ร่างรายงานฉบับนี้ได้แสดงเค้าโครงของการเรียกร้องให้มีความเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ของระบบสาธารณสุข การศึกษา ชุมชน และกระบวนการยุติธรรม ในความพยายามที่จะปรับปรุงการตอบรับกับปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งขณะนี้ไม่สอดคล้องกับ “ความคาดหวังจากชุมชน”

นายสตีเฟน คิง (Stephen King) กรรมาธิการด้านผลิตผล กล่าวว่า ชาวออสเตรเลีย 1 ใน 2 คน ประสบปัญหาด้านสุขภาพจิต ตั้งแต่ภาวะวิตกกังวล (Anxiety) จนถึงภาวะซึมเศร้า (Depression) และปัญหาทางสุขภาพจิตที่มีความรุนแรง อย่างเช่น ความผิดปกติทางจิต (Psychosis) ภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง (Borderline Personality Disorder) เป็นต้น 

“มีผู้คนจำนวนมากหลีกเลี่ยงที่จะเข้ารับการรักษาเนื่องจากอับอายหรือไม่อยากให้ผู้อื่นทราบ และมีผู้คนจำนวนมากที่ติดในช่องว่างของระบบสุขภาพ เนื่องจากไม่มีการรักษาที่พวกเขาต้องการ" นายคิงกล่าว
ทั้งนี้ รายงานฉบับดังกล่าวได้ประมาณความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากปัญหาด้านสุขภาพจิตในออสเตรเลียเป็นมูลค่าถึงวันละ $500 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากการสูญเสียผลิตผลจาก “ผลกระทบอย่างมหาศาล” จากปัญหาสุขภาพจิต ที่กระทบต่อผู้คน ชุมชน และระบบเศรษฐกิจ 

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการด้านผลิตผลยังได้แนะนำให้มี “การปฏิรูป 5 ส่วน” คือ การเพิ่มแนวทางในการป้องกันและมาตรการรับมืออย่างทันท่วงที สำหรับผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตาย

“ปัญหาทางสุขภาพจิตได้รับการจัดการในลักษณะเรื่องที่รองลงมา สิ่งนี้จะต้องเปลี่ยนไป” นายไมเคิล เบรนแนน (Michael Brennan) ประธานกรรมาธิการด้านผลิตผลกล่าว 

“ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงอย่างเต็มรูปแบบนั้นจะต้องใช้เวลานาน แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ในวันนี้”

นายเบรนแนนกล่าวว่า คณะกรรมาธิการด้านผลิตผลได้พบผู้ที่พัฒนาไปสู่การมีภาวะปัญหาด้านสุขภาพจิตร้อยละ 75 นั้น พบกับภาวะอาการทางจิตเป็นครั้งแรกเมื่อย่างเข้าสู่อายุ 25 ปี

“ปัญหาทางสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีความตึงเครียดในการศึกษาและการทำงานนั้นมีผลกระทบในระยะยาว มันไม่ได้กระทบกับเรื่องหน้าที่การงานของคุณเพียงอย่างเดียว แต่มันจะกระทนในหลายๆ เรื่อง ในชีวิตคุณ” นายเบรนแนนกล่าว

 “การขอความช่วยเหลือนั้นเป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันปัญหา และการรักษาให้ดีขึ้น”
หนึ่งในบรรดาคำแนะนำของคณะกรรมาธิการด้านผลิตผล คือ การประเมินด้านสังคมและพัฒนาการ ซึ่งจะทำควบคู่ไปกับการตรวจอาการตั้งแต่ในวัยเด็ก เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาอย่างทันท่วงที การมี “ที่ปรึกษาด้านความกินดีอยู่ดี (Well-being councillor)” ในโรงเรียน รวมถึงโครงการส่งเสริมให้ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตสามารถกลับไปทำงานหรือศึกษาต่อได้ตามปกติ

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ ​ยังได้เรียกร้องให้มีการติดตามอาการภาคบังคับในผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ และออกจากโรงพยาบาลหลังรับการรักษา ซึ่งมีการพบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยในกรณีดังกล่าวไม่มารับการตรวจเพื่อติดตามอาการในภายหลัง

“การตรวจติดตามอาการหลังผู้ป่วยพยายามที่จะฆ่าตัวตาย เป็นเครื่องยืนยันว่าจะเป็นการช่วยชีวิตผู้คน และเรื่องนี้สามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที” นายเบรนแนนกล่าว

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ ยังกล่าวอีกว่า ควรมีการพิจารณาในส่วนของบริการอาคารสงเคราะห์ ซึ่งจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงการถูกไล่ที่ สำหรับผู้ที่กำลังเผชิญปัญหาด้านสุขภาพจิต ทั้งนี้ โครงการที่พักอาศัยในระยะยาวนั้น เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีความจำเป็นสำหรับผู้ที่เผชิญปัญหาทางสุขภาพจิตอย่างรุนแรง รวมถึงเส้นทางสู่การทำงาน ที่จะช่วยเชื่อมต่อผู้คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตกลับเข้าสู่โลกของการทำงานอีกครั้ง

รายงานฉบับดังกล่าวพบว่า มีผู้เข้ารับการรักษาด้านจิตเวชที่รัฐบาลช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายราว 1.2 ล้านคน แต่พบว่ามีผู้เข้ารับการรักษา 1 ใน 3 ที่มารับการรักษาเพียง 1-2 ครั้ง และไม่กลับมารับการรักษาต่อ ในขณะเดียวกันก็พบว่า อัตราผู้มีปัญหาสุขภาพจิตที่มารับบริการที่ห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลนั้นเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 70 ภายในช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ คณะกรรมธิการฯ ยังพบอัตราความแพร่หลายของปัญหาสุขภาพจิตในออสเตรเลียนั้นเป็นไปในระดับเดียวกันทั่วประเทศ โดยผู้อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่มีแนวโน้มที่จะเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตมากกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล 2 เท่า ขณะที่ชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากถึง 2 เท่า โดยเยาวชนชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสนั้น มีโอการทีจะเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนทั่วไปในออสเตรเลียถึง 14 เท่า

มีการแนะนำให้มีบริการด้านสุขภาพจิตที่มีความเฉพาะทางสำหรับกลุ่มคนต่าง ๆ รวมถึงเจ้าของแผ่นดินดั้งเดิมของออสเตรเลีย (First Nation people)

"แพทย์ด้านสุขภาพจิตที่เป็นชนพื้นถิ่นนั้น เป็นบุคคลที่มีความสำคัญในการมอบการดูแลที่ถูกต้องตามขนบธรรมเนียมของชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส" ส่วนหนึ่งในรายงานฉบับดังกล่าวระบุ

คณะกรรมาธิการฯ​ ได้ประเมินตัวเลข “ด้วยเกณฑ์ตามธรรมเนียม” เพื่อแสดงให้เห็นว่า การฆ่าตัวตายและปัญหาสุขภาพจิตนั้นสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจระหว่าง $43,000 – $51,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี จากการสูญเสียผลิตผล และค่าใช้จ่ายในระบบสาธารณสุข นอกจากนี้ยังมีความเสียหายเพิ่มเติมที่คิดเป็นมูลค่าราว $130,000 ล้านดอลลาร์ จากการมีสุขภาวะและอายุขัยที่สั้นลง

ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวได้ระบุว่า พบผู้มีปัญหาด้านสุขภาพจิตในออสเตรเลียขณะนี้อยู่ที่ 3.9 ล้านคน แต่มีเพียงแค่ 2.9 ล้านคนที่เข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต

หากท่านต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต โปรดติดต่อ Lifeline ที่สายด่วน 13 11 14 หรือบริการโทรกลับ Suicidal Call Back Service ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1300 659 467 และ Kids Helpline ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1800 55 1800 (สำหรับเด็กและเยาวชนอายุ 5 – 25 ปี) สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดเข้าไปที่เว็บไซต์ และ

You can check out the full version of this story in English on SBS News .

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่



Share
Published 31 October 2019 11:53am
Updated 31 October 2019 12:41pm
By Tom Stayner
Presented by Tinrawat Banyat
Source: AAP


Share this with family and friends