ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการรักษาโรคโควิด-19

Garlic, Bastide d'Armagnac, France

마늘은 조리법에 따라 특정 영양소 함량이 달라져 효능에도 차이가 있다. Source: Getty Images Europe

พบวิธีบำบัดซึ่งร่ำลือว่าสามารถรักษาโรคโควิด-19 กำลังแพร่กระจายภายในชุมชนซึ่งไม่พูดภาษาอังกฤษในออสเตรเลีย เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพเตือนรักษาตัวเองแบบเดาสุ่มมีอันตรายแอบแฝง


กดปุ่ม 🔊ที่ภาพด้านบนเพื่อฟังรายงาน

น้ำเกลือ กระเทียม วิตามิน หรือแม้กระทั่งเหล้าวิสกี เป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อต่าง ๆ ที่แพร่กระจายอยู่ในขณะนี้ ขณะที่ผู้คนกำลังค้นหาคำตอบเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา

การสำรวจชุมชนซึ่งไม่พูดภาษาอังกฤษโดยเอสบีเอสเมื่อไม่นานมานี้พบว่า วิธีการที่อ้างกันว่ารักษาโรคได้ทุกชนิด รวมถึงไวรัสโควิด-19 นั้น แพร่กระจายไปเป็นอย่างมาก และไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนใด ๆ ขณะที่บางวิธีการก็ดูไม่เข้าท่า

คุณพรีทินเดอร์ สิงห์ ผู้ดำเนินรายการวิทยุเอสบีเอส ภาคภาษาปัญจาบ บอกเล่าส่วนหนึ่งวิธีการรักษาที่ร่ำลือกันในชุมชนผู้ใช้ภาษาปัญจาบ

“มีคนเชื่อว่า หากคุณสับหัวหอมเป็นชิ้นๆ แล้วก็เอาบางส่วนใส่ไว้ในกระเป๋าของคุณ ก็จะทำให้เชื้อไวรัสไม่สามารถแตะต้องตัวคุณได้ มีข้อความนั้นส่งเข้ามาในระหว่างที่ผมกำลังออกอากาศ และนำเสนอรายการภาคภาษาปัญจาบ และผมก็ตอบเขากลับไปว่า มันจะช่วยได้นะถ้าหากว่าทำการทิ้งระยะห่างทางสังคม” คุณพรีทินเดอร์เล่า  

การขาดแคลนข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ในภาษาของตนเองนั้นเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และนั่นหมายถึงการที่ผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนา จะไม่ป้องกันตัว หรือรับคำปรึกษาทางการแพทย์ตามที่ควรจะทำ

“มีเครื่องเทศพิเศษของอินเดียบางอย่างเช่นขิง กระเทียม มะนาว น้ำผึ้ง และอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติต่อต้านการอักเสบหรือต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นการรักษาแผนธรรมชาติ การบำบัดด้วยสมุนไพร และอายุรเวทแผนโบราณจึงคงยังใช้กันอยู่” คุณพรีทินเดอร์อธิบาย

ไม่ใช่แค่ชุมชนปัญจาบเท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อของข้อมูลซึ่งไม่ถูกต้อง ในชุมชนชาวทมิฬ ก็มีบางส่วนที่ใช้ยารักษาโรคแผนพื้นบ้าน ที่สามารถซื้อได้จากร้านขายของชำอินเดีย เพื่อป้องกันโควิด-19

ขณะที่ในชุมชน Pashto ผู้คนบางส่วนเชื่อว่า หากเป็นชาวมุสลิมผู้เคร่งศาสนา ก็จะไม่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าว ซึ่งเป็นข่าวลื่อในทำนองเดียวกัน กับชุมชนชาวคริสต์และผู้เคร่งศาสนาอื่น ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน

ส่วนในชุมชนเกาหลีบางแห่ง มีความเชื่อที่บอกต่อกันไปว่า การแช่อ่างอาบน้ำ กระเทียม และวิตามินดี จะช่วยป้องกันเชื้อไวรัสได้

เซดริก ยิน-เชน (Cedric Yin-Cheng) ผู้ก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรสีรุ้งเพื่อนชาวจีนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (ANTRA) กล่าวว่า เริ่มมีข่าวลือในหมู่ชาว LGBTIQ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งพูดภาษาจีนกลางในออสเตรเลียในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางสื่อที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ ว่าการใช้ยาป้องกันการติดเชื้อ HIV (PrEP) สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาเข้าสู่ร่างกายได้

“ผมได้ยินจากเพื่อนหลายๆ คนเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีสมาชิกจำนวนมากที่พูดคุยเรื่องนี้ทาง WeChat และ Facebook มีคนกล่าวถึงและผมก็ได้พบกับเพื่อนซึ่งกำลังใช้ยานี้อยู่ แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ HIV โดยคิดไปว่าจะสามารถป้องกันไวรัสโคโรนาได้” เซดริก ยิน-เชน เล่า

คุณเซดริกยังกล่าวว่า จำเป็นจะต้องมีการเพิ่มทรัพยากรเพื่อพยายามให้แน่ใจว่าชาวออสเตรเลียซึ่งไม่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่นั้นเข้าใจความแตกต่างระหว่างเรื่องจริงและเรื่องที่แต่งขึ้น

“ดังนั้น ผมก็คิดว่ามันสำคัญที่องค์กรด้านสุขภาพต่าง ๆ และรัฐบาลควรตระหนักว่า มีข่าวลืออยู่ทั่วไปภายนอก และพวกเขาก็จำเป็นจะต้องพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ เช่น ACON กับแพทย์ทั่วไป และกับ ANTRA เพื่อที่เราจะได้สามารถสื่อสารโดยใช้ภาษาแม่ให้ผู้คนเข้าใจได้อย่างชัดเจน” คุณเซดริกกล่าว

ด้าน นายแพทย์แฮร์รี เนสโปลอน (Harry Nespolon) ประธานราชวิทยาลัยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมทั่วไป (The Royal Australian College of General Practitioners) กล่าวว่า มาตรการป้องกันไวรัสโคโรนาในปัจจุบัน แม้จะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่กลับไม่เป็นที่พึ่งพอใจกับคนบางกลุ่ม

ผมคิดว่าปัญหาก็คือผู้คนกำลังหาวิธีการรักษา และในตอนนี้เราก็ทราบว่ายังไม่มีวิธีการที่จะรักษาได้ และสิ่งเดียวที่เราทราบว่าได้ผลนั่นก็คือการทิ้งระยะห่างทางสังคม การแยกตัวผู้คนให้ห่างการติดเชื้อไวรัส ทว่านั่นก็ไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ดีมากเท่าไรนัก สำหรับผู้คนที่ต้องการจะให้มียาเม็ดที่ได้ผลชะงัด นายแพทย์แฮร์รี เนสโปลอนอธิบาย

เขายังกล่าวอีกว่า ผู้หันเข้าหาการรักษาแบบพื้นบ้าน มีความเสี่ยงที่จะไม่ติดตามอาการของไวรัสโคโรนาอย่างถูกต้องกับแพทย์ทั่วไป ซึ่งจะทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจาย และเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ ทั้งของบุคคลผู้นั้นและต่อผู้อื่น

นอกจากนี้ นายแพทย์เนสโปลอนยังเตือนว่า ไม่ควรไปเสาะหายาที่ไม่ได้รับการรับรองในตลาดมืด โดยกว่าร้อยละ 20-30 ของผลิตภัณฑ์ที่ขายอยู่บนตลาดมืดนั้นเป็นของปลอม

“ดังนั้น หากว่าผู้คนจะใช้ยาโดยมีเหตุผลที่เหมาะสม ก็ไม่ควรจะไปเสาะหามาจากสถานที่แบบนั้น และประการที่สอง หากว่าคุณกำลังมองหายา Hydroxychloroquine การค้นคว้าในขณะนี้แสดงให้เห็นว่ามันไม่ได้ดีอย่างที่หลายๆ คนกล่าวอ้าง และตามความเป็นจริงก็ไม่มีการวิจัยใด ๆ เลยที่แสดงว่ามียาตัวใดจะได้ผลอย่างแตกต่าง นายแพทย์เนสโปลอนชี้แจง

อย่างไรก็ตาม ผู้คนควรจะรับคำปรึกษาทางการแพทย์ หากมีความวิตกกังวลว่ามีอาการของไวรัสโควิด-19 โดยโทรศัพท์ไปล่วงหน้าให้แน่ใจเสียก่อน แล้วค่อยเดินทางไปพบแพทย์ หรือไปโรงพยาบาล และหากมีหน้ากาก ก็ควรสวมใส่ไปด้วย

ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร ให้ตรวจสอบข้อจำกัดในรัฐของคุณเกี่ยวกับการรวมกลุ่มกัน

การตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาขณะนี้สามารถทำได้ทั่วออสเตรเลีย หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลียยังได้มีแอปพลิเคชัน COVIDSafe เพื่อติดตามและแจ้งเตือนผู้ที่พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้จากแอปสโตร์ (app store) สำหรับโทรศัพท์มือถือของคุณ

เอสบีเอสมุ่งมั่นให้ข้อมูลข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อโควิด-19 แก่ชุมชนหลากหลายภาษาในออสเตรเลีย เรามีข่าวและข้อมูลเป็นภาษาต่างๆ 63 ภาษาที่เว็บไซต์ 

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share