ออสเตรเลียประกาศจะเป็นผู้นำด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ภายในปี 2030

แม่กุญแจบนแผงข้อมูล

แม่กุญแจบนแผงข้อมูล Credit: Getty Images

รัฐบาลสหพันธรัฐเผยกลยุทธการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ เตรียมทุ่มงบเกือบ $600 ล้านสู้กับปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ ประกาศออสเตรเลียจะเป็นผู้นำด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ภายในปี 2030


กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน

รัฐบาลสหพันธรัฐประกาศจะทุ่มงบประมาณ $600 ล้านกับการป้องกันความปลอดภัยด้านไซเบอร์ของประเทศ นับเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่หลายฝ่ายตั้งตาคอย

เพียงแค่ปีนี้ปีเดียว ประชากรออสเตรเลียหลายล้านคนถูกขโมยข้อมูลและนำไปแชร์ทางออนไลน์หลังออปตัส (Optus) และเมดิแบงก์ (Medibank) ถูกโจมตีทางไซเบอร์ครั้งใหญ่

รัฐมนตรีกระทรวงความปลอดภัยทางไซเบอร์ แคลร์ โอนีล (Clare O'Neil) กล่าวว่าจากเหตุดังกล่าวทำให้มีความจำเป็นต้องดำเนินการเร่งด่วน
สิ่งที่เราได้เรียนรู้ในปีนี้คือเราไม่สามารถดำเนินชีวิตได้เหมือนก่อนหน้านี้
"เราไม่ควรเจอเหตุการณ์ที่มี่ข้อมูลแชร์ไปทั่วประเทศ มีโครงสร้างพื้นฐานที่เริ่มล้มเหลวเหมือนที่เคยเกิด ให้ธุรกิจขนาดเล็กและประชาชนคอยบอกเราว่าพวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัย” 
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน บริษัทดีพี เวิล์ด (DP World) บริษัทดำเนินการท่าเรือรายใหญ่ที่สุดของออสเตรเลียได้ตกเป็นเป้าของการโจมตีทางไซเบอร์ซึ่งกระทบการทำงานทั่วประเทศ

และรัฐบาลกล่าวว่ายิ่งมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงเท่าไหร่ ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น

“เราทราบว่า สถานการณ์ด้านไซเบอร์ของเรากำลังแย่ในตอนนี้ เราเชื่อว่าจะยิ่งแย่ลงและเราจะเจอกับความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น ไม่มีนักการเมืองคนไหนในโลกหรือในประเทศของเราที่สามารถบอกกับประชาชนได้ว่าเราจะไม่เจอกับการโจมตีทางไซเบอร์ และยังไม่มีนโยบายที่จะสามารถลดความเสี่ยงทางไซเบอร์ให้เหลือศูนย์ได้"
สิ่งที่เราต้องทำคือให้แน่ใจว่าจะตกเป็นเป้าหมายได้ยากขึ้น
cyber.jpg
มือวางบนแดชบอร์ดที่มีข้อมูล
รัฐบาลได้แถลงกลยุทธรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security Strategy) ซึ่งเป็นความพยายามต่อสู้กับอาชญากรรมทางไซเบอร์

โดยจะใช้งบประมาณ $600 ล้านจนถึงปี 2030 ในการช่วยธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์

นอกจากนี้จะใช้งบประมาณ $146 ล้านเพื่อปกป้องโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและปรับปรุงระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ และอีก $130 ล้านกับโครงการริเริ่มระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษในการถอดบทเรียนจากการแฮ็กครั้งก่อนด้วย

ศาสตราจารย์โจฮันนา วีเวอร์ (Johanna Weaver) ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งของศูนย์ออกแบบนโยบายเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Tech Policy Design Centre at the Australian National University) กล่าวว่าเป็นแผนการณ์ที่จำเป็น

“ฉันคิดว่ามันเป็นกลยุทธ์ที่ยอดเยี่ยม ครอบคลุมทุกอย่างตั้งแต่ระดับรายบุคคล ระดับผู้ประกอบการ และทั้งภาคส่วน โดยเฉพาะการที่รัฐบาลกล่าวว่าต้องมีคณะกรรมการของตัวเองป็นเรื่องที่ทะเยอทะยานและเป็นสิ่งจำเป็น”
กลยุทธ์ใหม่นี้จะบังคับให้ทุกธุรกิจต้องรายงานกับรัฐบาลเมื่อโดนแฮ็ก

โดยงบประมาณใหม่นี้จะเพิ่มเติมจากงบประมาณเดิม $2.3 พันล้านที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีมอร์ริสันได้สัญญาไว้ก่อนหน้านี้

ทางด้านฝ่ายค้านยังไม่ประทับใจกับกลยุทธ์ใหม่นี้ โดยโฆษกฝ่ายความปลอดภัยทางไซเบอร์ เจมส์ แพเทอร์สัน (James Paterson) กล่าวว่าเป็นเรื่องน่าผิดหวัง

“ยังมีอีกหลายสิ่งที่ควรระบุไว้ในกลยุทธนี้ มีแต่คำพูดและวาทะศิลป์ กลยุทธนี้จะทำให้ออสเตรเลียปลอดภัยทางไซเบอร์ได้มากขึ้นจริงหรือไม่? ยังคงเป็นที่น่าสงสัย และนั่นเป็นเรื่องน่าผิดหวังจริงๆ”

เป้าหมายของกลยุทธนี้คือการทำให้ออสเตรเลียเป็นผู้นำด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ภายในปี 2030

ศาสตราจารย์วีเวอร์กล่าวว่ารัฐบาลหวังสร้างความตระหนักรู้เรื่องความเสี่ยงทางไซเบอร์แก่สาธารณชนให้มากขึ้น หลังเกิดเหตุการณ์โจมตีทางไซเบอร์ครั้งใหญ่ที่เพิ่งผ่านมา

“เรามีสิ่งที่ประชาชนต้องการให้ดำเนินการ รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และหลายภาคส่วนก็กังวลถึงการทำงานดังกล่าว หากเราไม่สามารถสร้างผลงานได้ เราจะไม่มีความปลอดภัยทางไซเบอร์อย่างแท้จริงได้เลย”


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share