คลิก ▶ ด้านบนเพื่อฟังรายงานข่าว
การชำระเงินกู้ซื้อบ้านกำลังส่งผลกระทบต่อครัวเรือนในออสเตรเลียหนักกว่าที่เคย โดยรายได้ครัวเรือนในสัดส่วนที่สูงขึ้นถูกนำไปจ่ายเป็นค่าผ่อนบ้าน
สถานการณ์นี้นั้นได้เกิดขึ้นตั้งแต่อัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (หรือดอกเบี้ยนโยบาย) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.1 เป็นร้อยละ 4.1 ตลอดระยะเวลาส่วนใหญ่ของปี 2022 และครึ่งแรกของปี 2023
ขณะที่ในตอนแรกบางคนจะสามารถหลีกเลี่ยงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยการทำสัญญาดอกเบี้ยคงที่ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่ครัวเรือนในออสเตรเลียหลายแสนครัวเรือนจะต้องแบกภาระหนักจากอัตราดอกเบี้ยคงที่ที่ทำสัญญาไว้นั้นจะสิ้นสุดลงในปี 2023 และ 2024
การศึกษาวิจัยโครงการใหม่ของเว็บไซต์เปรียบเทียบทางการเงิน โมโซ (Mozo) แสดงให้เห็นว่า ผู้คนในออสเตรเลีย 1 ใน 6 ต้องใช้เงินรายได้ครัวเรือน 40-60 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน เพื่อจ่ายค่าผ่อนบ้าน
คุณไคลี มอสส์ ผู้อำนวยการด้านเนื้อหาของโมโซ (Mozo) กล่าวว่า เมื่อค่าผ่อนบ้านคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 30 ของรายได้ของครัวเรือน ครัวเรือนเหล่านี้จะถูกจัดว่าอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่เธอเรียกว่า "ภาวะความเครียดจากเงินกู้ซื้อบ้าน” หรือ “Mortgage Stress"
"ความหมายก็คือ ตามมาตรฐานอุตสาหกรรมสำหรับสิ่งที่ถือว่าตกอยู่ในภาวะความเครียดจากเงินกู้ซื้อบ้านคือ สัดส่วนราว 30 เปอร์เซ็นต์ (ของรายได้) นั่นแสดงให้เห็นว่ามีเจ้าของบ้านกี่คนในออสเตรเลียที่ตอนนี้จัดอยู่ในกลุ่มที่กำลังประสบความเครียดจากเงินกู้ซื้อบ้าน" คุณมอสส์ อธิบาย
สำหรับผู้กู้ในออสเตรเลีย โดยปกติจะมีการเสนออัตราดอกเบี้ยคงที่หรือ fixed rate ให้เป็นระยะเวลาระหว่าง 1-5 ปี เป็นทางเลือกแทนอัตราดอกเบี้ยผันแปร หรือ variable rate ซึ่งขึ้นลงตามอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน
อัตราดอกเบี้ยมาตรฐานที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ในปี 2020 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านต่ำเป็นประวัติการณ์ คืออยู่ที่ราวร้อยละ 2
แต่ผู้ที่ทำสัญญาจ่ายในอัตราดอกเบี้ยคงที่ที่ต่ำในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น กำลังเผชิญกับการต้องจ่ายค่าผ่อนบ้านที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก
เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยคงที่ที่ต่ำส่วนใหญ่ที่ทำสัญญาไว้ในช่วงปี 2020 มีกำหนดหมดอายุในปี 2023 และ 2024
การเปลี่ยนจากอัตราคงที่กลับไปเป็นอัตรามาตรฐานของผู้ให้กู้นั้น เป็นสถานการณ์ที่เรียกกันว่า "Mortgage Cliff” (หน้าผาเงินกู้ซื้อบ้าน)
คุณสตีฟ มิกเคนเบ็กเคอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินของแคนสตาร์ (Canstar) กล่าวว่า ผู้กู้ยังคงมีทางเลือก
"หากคุณอยู่ในจุดที่สถานการณ์ของคุณนั้นไม่ได้อยู่ภายใต้ความกดดันอย่างสิ้นเชิง ก็ให้รีไฟแนนซ์ไปหาเงินกู้ที่มีราคาต่ำกว่า หากคุณอยู่ในสถานการณ์ทางการเงินที่อยู่ภายใต้ความเครียดที่สูงอยู่แล้ว คุณอาจไม่สามารถรีไฟแนนซ์ได้เนื่องจากผู้ให้กู้รายใหม่จะไม่ยอมรับเงินกู้ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าของคุณ”
“ทีนี้หากคุณตกอยู่ในสถานการณ์นั้น คุณต้องกลับมาคิดว่า ฉันจะปรับปรุงภาวะทางการเงินในครัวเรือนของฉันได้อย่างไร ดังนั้น คุณจึงดูเงินที่เข้ามา แล้วถามตัวเองว่า ฉันจะสามารถเพิ่มเงินที่เข้ามาด้วยการทำงานที่สองหรือทำงานล่วงเวลา หรืออะไรสักอย่างได้ไหม แล้วฉันจะลดเงินที่ออกไปด้วยการเก็บออมได้ไหม” คุณมิกเคนเบ็กเคอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน แนะทางออก
แม้ว่าธนาคารกลางแห่งออสเตรเลีย หรืออาร์บีเอ จะระงับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งก่อนสิ้นปีนี้
คุณมอสส์กล่าวว่า นั่นหมายถึงขณะนี้เป็นเวลาที่จะต้องดำเนินการ
"ตอนนี้ไม่ใช่เวลาพักผ่อนและรอให้พายุผ่านไป จริง ๆ แล้วนี่เป็นเวลาที่ดีที่จะไปดูว่าคุณจะสามารถได้รับข้อเสนอใดบ้าง เพราะอัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ในระดับนี้ต่อไปสักระยะ" คุณมอสส์ ย้ำ
ด้านคุณมิกเคนเบ็กเคอร์กล่าวว่า อัตราการเปลี่ยนธนาคารไปหาเงินกู้ที่ถูกกว่า หรือที่เรียกว่าการรีไฟแนนซ์ พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนกรกฎาคมที่มูลค่า 21.4 พันล้านดอลลาร์
แต่เขาบอกว่านั่นเป็นเพียงร้อยละ 1 สำหรับเดือนที่มียอดสินเชื่อบ้านคงค้างเต็มจำนวน ซึ่งหมายความว่าผู้กู้จำนวนมากกว่านั้นอีกอาจกำลังพยายามรีไฟแนนซ์สินเชื่อของตนอย่างจริงจัง
เขากล่าวว่าผู้กู้ควรดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้ แทนที่จะรอให้อัตราดอกเบี้ยดิ่งลงเสียก่อนในอนาคต
"มีผู้กู้จำนวนมากที่ไม่ได้กำลังใช้ประโยชน์จากอัตราต่ำสุดที่มีอยู่ในตลาด และจริง ๆ แล้วผู้คนต้องเริ่มตระหนักและทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยตนเอง อย่ารอธนาคารกลาง" คุณสตีฟ มิกเคนเบ็กเคอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน กล่าวทิ้งท้าย
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
รัฐนิวเซาท์เวลส์ออกกฎห้ามนักเรียนมัธยมเอามือถือไปโรงเรียน