กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน
วิตกกังวลที่จะไปทำงาน แต่ถ้าไม่ไปก็กลัวที่จะตกงาน - นี่คือสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ของผู้หญิงย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัยที่ต้องเผชิญกับการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน
จากข้อมูลล่าสุด ของ องค์การวิจัยแห่งชาติเพื่อความปลอดภัยของผู้หญิงแห่งออสเตรเลีย (ANROWS) พบว่าเกือบครึ่งหนึ่ง [[46%]] ของผู้หญิงย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัยที่เป็นผู้หญิงมากกว่า 850 ราย ที่เข้าร่วมการสำรวจรายงานชิ้นนี้ เปิดเผยว่า พวกเขาเคยประสบปัญหาล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานในช่วงห้าปีที่ผ่านมา และพวกเขายังกล่าวว่า ที่ทำงานไม่มีการใส่ใจดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง
ศาสตราจารย์ มารี ซีเกรฟ จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นซึ่งเป็นผู้เขียนรายงานฉบับนี้ กล่าวว่ามีสถิติอัตราการล่วงละเมิดสูงอย่างมีนัยยะสำคัญ ศาสตราจารย์ ซีเกรฟ อธิบายว่า
"ข้อมูลสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่พบในรายงานชิ้นนี้คือ ผู้หญิงมักประสบกับการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน ในขณะเดียวกันก็เผชิญกับการเลือกปฏิบัติและการละเมิดในที่ทำงานในรูปแบบอื่นด้วย ผู้หญิงที่เราพูดคุยด้วยมองว่าการล่วงละเมิดทางเพศเป็นส่วนหนึ่งของความไม่ปลอดภัยในที่ทำงานที่ไม่ปลอดภัย”
การล่วงละเมิดมีหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยทางโทรศัพท์ การส่งข้อความ ที่สื่อไปในทางเพศ หรือการจ้องมอง การเยาะเย้ย ข่มขู่ การถามคำถามที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว หรือวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างภายนอก ผู้หญิงที่เคยประสบกับการล่วงละเมิดทางเพศส่วนใหญ่อธิบายว่าพวกเขาไม่ได้เจอการคุกคามแบบหนักๆ แต่มันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่งผลกระทบทางลบอย่างต่อเนื่องยาวนาน
ประธานบริหารของ ANROWS ดร. เทสสา บอยด์-เคน อธิบายว่า
"แม้ว่าบางครั้งเราจะไม่ได้พูดถึงการล่วงละเมิดทางเพศบ่อยครั้งมากนัก แต่พฤติกรรมบางอย่างที่เราได้รับในรายงานฉบับนี้มันเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้โดยสิ้นเชิง ผู้หญิงเหล่านี้ เปิดเผยว่ามีการสัมผัสที่ไม่เหมาะสม การพูดตลกขบขันแบบสองแง่สองง่าม และรวมถึงทัศนคติแบบเหมารวมที่อคติต่อวัฒธรรมของพวกเขา ปีนี้มันปี 2024 แล้ว เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้น ผู้หญิงเหล่านี้ยังเปิดเผยด้วยว่า"
คนรอบข้างในที่ทำงานก็มองเห็นพฤติกรรมที่ตนได้รับการปฏิบัติเป็นเพียงเรื่องตลกหรือไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นประธานบริหารของ ANROWS ดร. เทสสา บอยด์-เคน
การถูกคุมคามทางเพศและการเลือกปฏิบัติ
ผู้หญิงในการวิจัยนี้ ได้เล่าว่าประสบการณ์เหล่านี้มักจะเกิดขึ้นควบคู่กับกับการเลือกปฏิบัติหรือการแสวงประโยชน์ในที่ทำงานประเภทอื่นๆ รวมถึงการเหยียดเชื้อชาติด้วย
ดร. บอยด์-เคน ตั้งคำถามว่าขั้นตอนที่ใช้รายงานการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานอาจไม่เหมาะสำหรับสตรีผู้อพยพและผู้ลี้ภัยในปัจจุบัน
สิ่งสำคัญคือต้องพิจารณามาตรการต่างๆ เช่น การขยายเวลาการสัมภาษณ์ก่อนออกจากงาน หรือขยายเวลาการร้องเรียน เพื่อให้ผู้หญิงเปิดเผยประสบการณ์ของตนเมื่อพวกเขารู้สึกปลอดภัยมากขึ้น ดร. บอยด์-เคน แนะนำว่า
"เรามีระบบการรายงานและตอบสนองที่แตกต่างกันในการจัดการกับการล่วงละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะเมื่อพนักงงานอยู่ในเงื่อนไขของวีซ่าหรือการย้ายถิ่นบางประเภท แต่สำหรับผู้หญิงอพยพและผู้ลี้ภัยที่ทำงานในออสเตรเลียในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความสามารถในการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ดังนั้นเราควรต้องปรับปรุงขั้นตอนดังกล่าวให้ดีขึ้น”
ในความเป็นจริง เมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น ผู้หญิงกลุ่มนี้ก็เกิดความลังเลที่จะรายงานพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเพื่อนร่วมงาน เพราะพวกเขากลัวว่าจะตกงาน หรือเห็นว่าไม่เคยมีการดำเนินการใดๆ กับผู้กระทำผิด หรือจัดการกับข้อร้องเรียนในด้านนี้อย่างจริงจัง
ผู้หญิงบางราย เปิดเผยว่า พวกเขาเคยถูกข่มขู่หรือให้คำแนะนำไม่ให้รายงานเรื่องดังกล่าว เพราะความวิตกว่าจะไม่มีงานทำ
ศาสตราจารย์ ซีเกรฟ กล่าวว่าวัฒนธรรมในที่ทำงานมักไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเปิดเผยประสบการณ์การถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน
"สิ่งที่ท้าทายที่สุดคือ การเงียบเฉย แม้ว่าพวกเขาจะบ่น แต่ก็มักนิ่งเงียบและในขณะเดียวกันก็ไม่มีการจัดการกับผู้กระทำผิด ส่วนมากก็เป็นผู้หญิงที่เลือกจะออกจากงานไปเองเงียบๆ ผู้หญิงที่เล่าให้เราฟังต่างก็พูดถึงเรื่องการเงียบฉย และการไม่มีการจัดการใดๆ กับผู้กระทำผิดเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น"
กฎหมายกับบริบทของผู้หญิงย้ายถิ่น
ดร. บอยด์-เคนหวังว่ารายงานของ ANROW สามารถช่วยให้ข้อมูลแก่แผนระดับชาติเกี่ยวกับอุปสรรคที่มีลักษณะเฉพาะที่ผู้หญิงที่เป็นผู้ย้ายถิ่นและผู้อพยพต้องเผชิญ
"ประการแรก เราต้องตระหนักว่าการล่วงละเมิดทางเพศในทุกบริบทและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่ทำงาน เป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงทางเพศที่ผู้หญิงต้องเผชิญในประเทศนี้ มันเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมที่เกิดจากสมมุติฐานทางเพศส่งผลกระทบต่อผู้หญิง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้ผู้หญิงเสียเปรียบ แต่เราต้องเข้าใจบริบทที่เกิดขึ้นด้วย"
"ดังนั้น จากประสบการณ์ของผู้หญิงที่เป็นผู้ย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัย ทำให้เราตระหนักว่าเราจำเป็นต้องพิจารณาระบบและบริการที่สามารถตอบสนองแก่ผู้หญิงในชุมชนต่างๆ ที่อยู่ในบริบทที่ต่างกัน เราจำเป็นต้องตรวจสอบบริการและขั้นตอนที่เรามีว่าไม่ใช่บริการแบบเหมารวม"
ศาสตราจารย์ ซีเกรฟเห็นพ้องว่าการแก้ปัญหาจะต้องมีหลายแง่มุม
สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าพฤติกรรมเหล่านี้ขัดแย้งกับการเลือกปฏิบัติในรูปแบบอื่นๆ อย่างไร เพื่อที่จะมีการแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม
"ในรัฐวิกตอเรีย กำลังมีการปรับปรุงด้านต่างๆ เพื่อให้ความมั่นใจว่าผู้หญิงจะได้รับความคุ้มครอง เช่น มีการประกาศล่าสุดเกี่ยวกับข้อตกลงไม่เปิดเผยข้อมูล ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้ผู้หญิงออกมาพูดมากขึ้นและต้องให้ความสำคัญกับการประกันความั่นคงในงาน"
ตอนนี้เราไม่มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง มันสะท้อนถึงความล้มเหลวทั้งในแง่นโยบายทั้งในและนอกสถานที่ทำงานศาสตราจารย์ มารี ซีเกรฟ
ศาสตราจารย์ ซีเกรฟกล่าวเสริมว่าจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดและองค์กรต่างๆ เพื่อให้เข้าใจปัญหานี้ได้ดีขึ้น
"เราต้องเข้าใจให้มากขึ้นว่าใครเป็นผู้กระทำการ เราต้องสามารถตรวจจับพฤติกรรมซ้ำๆ เหล่านี้ ผู้กระทำผิดสามารถลาออกไปเงียบๆ แล้วสมัครงานที่ใหม่ เราต้องคิดว่าการทำผิดจากที่หนึ่งแล้วย้ายไปทำงานอีกทีหนึ่งได้อย่างไร องค์กรมีระบบจัดการอย่างไร เราต้องพิจารณาว่าพฤติกรรมประเภทใดที่พวกเขาก่อซึ่งหลายๆครั้งไม่มีใครใส่ใจตรงนี้ "
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวที่น่าสนใจ
วิถีปฏิบัติในที่ทำงาน ที่อาจไม่ได้ระบุไว้ในกฎระเบียบ