Settlement Guide: คุณมีสิทธิอะไรบ้างหากถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน

Man touching the legs of a woman

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งออสเตรเลียเผยคนทำงานที่อายุต่ำกว่า 29 ปี ตกเป็นเหยื่อการคุกคามทางเพศในที่ีทำงานมากที่สุด Source: Getty Images

การถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงานเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ความจริงที่น่าเศร้าคือเรื่องนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งจนเหมือนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว คุณจะทำอย่างไรหากตกอยู่ในสถานการณ์นี้


กดปุ่ม 🔊 ด้านบนเพื่อฟังรายละเอียดเรื่องการถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน

ผลการสำรวจล่าสุดของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งออสเตรเลียพบว่าในช่วงห้าปีที่ผ่านมาหนึ่งในสามของคนทำงานเปิดเผยว่าพวกเขาเคยถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน

อะไรคือพฤติกรรมที่เรียกว่าการคุกคามทางเพศ

คุณ เคท เจนกิ้นส์ คณะกรรมการต่อต้านการคุกคามทางเพศ เผยว่า ชาวออสเตรเลียจำนวนมากไม่แน่ใจว่าการกระทำเช่นใดที่ถือว่าเป็นการคุกคามทางเพศ  เธอกล่าวว่า

“ในออสเตรเลียความหมายของการคุกคามทางเพศคือพฤติกรรมอันไม่พึงปรารถนาที่แสดงออกทางเพศ ซึ่งทำให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งรู้สึกขุ่นเคือง รู้สึกอับอาย หรือ รู้สึกโดนบังคับข่มขู่ และความหมายนี้ครอบคลุมถึงการประพฤติตัวในที่ทำงานด้วยและการคุกคามทางเพศนี้หมายรวมถึงพฤติการณ์ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการถูกคุกคามโดยตัวบุคคล หรือ ทางออนไลน์  ”  

คุณเคท เจนกิ้นส์ อธิบายต่อไปว่า

“พฤติการณ์ที่เข้าข่ายการคุกคามทางเพศนั้นมีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการพูดจาตลกสองแง่สองง่ามไปจนถึงการกระทำที่ผิดกฎหมายและถือเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ เช่น การชวนไปเที่ยวหรือชวนไปรับประทานอาหาร การถามคำถามที่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคคลนั้น การส่งข้อความหรืออีเมล์ขอมีเพศสัมพันธ์ด้วยอย่างเปิดเผย การจูบหรือการสัมผัสแตะต้องร่างกาย ก็ล้วนเป็นพฤติการณ์ที่เข้าข่ายการคุกคามทางเพศ” คุณเคท เจนกิ้นส์  สรุป
Inappropriate behavior with a female colleague
ชาวออสเตรเลียจำนวนมากไม่แน่ใจว่าการกระทำเช่นใดที่ถือว่าเป็นการคุกคามทางเพศ Source: Getty Images

ใครที่มีความเสี่ยงที่ตกเป็นเหยื่อของการถูกคุกคามทางเพศ

ไม่ว่าใครก็มีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของการคุกคามทางเพศได้ทั้งนั้น แต่จากการสำรวจสถิติพบว่าหญิงสาวจะมีความเสี่ยงในการตกเป็นเหยื่อของการคุกคามทางเพศมากที่สุด ตามที่คุณเคท เจนกิ้นส์ เปิดเผยว่า

“ในปี2018 คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งออสเตรเลีย ได้ทำการสำรวจแบบสอบถามในเรื่องการถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน และพบว่าในช่วงห้าปีทีผ่านมาหนึ่งในสามของคนทำงานในออสเตรเลียทั้งผู้หญิงและผู้ชายเคยมีประสบการณ์ถูกคุกคามทางเพศ โดยที่ผู้หญิงร้อยละ39 ในขณะที่ผู้ชายร้อยละ 26 เคยมีประสบการณ์นี้ และพบว่าโดยทั่วไปแล้วคนหนุ่มสาวที่อายุต่ำกว่า29 ปีจะตกเป็นเหยื่อการคุกคามทางเพศมากที่สุด” คุณเคท เจนกิ้นส์ ชี้

ส่วนคนที่ถูกคุกคามทางเพศและมีภูมิหลังเป็นผู้อพยพย้ายถิ่นจะมีความเสี่ยงสูงในการเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ ที่หยุดยั้งไม่ให้พวกเขาเปิดเผยเรื่องนี้ เช่น อาจมีความรู้สึกว่าตนเองจะเสื่อมเสียชื่อเสียงเมื่อร้องขอความช่วยเหลือ

คุณ นิโคล แมคมาฮอน ผู้จัดการทั่วไปของสายด่วน 1-800 Respect ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้บริการแก่คนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือ การใช้ความรุนแรงในครอบครัว กล่าวว่า

“ผู้หญิงจากชุมชนหลากภาษาและวัฒนธรรมอาจต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆในการขอความช่วยเหลือในเรื่องการถูกคุกคามทางเพศ เช่น เรื่องภาษา ความกลัวที่จะถูกเลือกปฏิบัติ มีปัญหาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเคยเผชิญกับความสูญเสีย หรือการถูกทรมาน และการขาดความช่วยเหลือจากครอบครัวและชุมชน นอกจากนั้นก็ยังมีความกลัวที่จะร้องขอความช่วยเหลือจากทางการ และการขาดความรู้ความเข้าใจในระบบกฎหมายที่จะสามารถช่วยเหลือและในความคุ้มครองแก่พวกเขา”  คุณ นิโคล แมคมาฮอน ชี้

จะร้องเรียนเรื่องนี้กับนายจ้างอย่างไร

เมื่อคุณตัดสินใจว่าคุณจะยื่นคำร้องเกี่ยวกับเรื่องการถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน คุณสามารถไปหารือกับ ตัวแทนของฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ หรือ นายจ้าง หรือ สหภาพแรงงานในที่ทำงานของคุณได้ซึ่งตามปกติแล้วนายจ้างควรจะรับเรื่องราวการร้องเรียนของคุณ แต่คุณ เคท เจนกิ้นส์ กล่าวว่ามันก็มีความเป็นไปได้เหมือนกันว่าบางครั้งนายจ้างอาจไม่รู้ว่าจะจัดการกับกรณีนี้อย่างไร เธอกล่าวว่า

“นายจ้างอาจมีท่าทีการตอบรับในเรื่องนี้หลายแบบ บางบริษัทก็รับเรื่องและทำการสอบสวนอย่างจริงจัง หรือบางบริษัทก็อาจจะไม่ทราบว่าพวกเขาควรทำเช่นไร ซึ่งถ้าเป็นในกรณีหลังพวกเขาสามารถที่จะสอบถามและขอความช่วยเหลือจาก คณะกรรมาธิการเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เช่นกันว่าพวกเขาควรดำเนินการอย่างไร”คุณ เคท เจนกิ้นส์ ชี้

แต่ถ้านายจ้างหรือบริษัทของคุณไม่ทำการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วล่ะก็คุณสามารถติดต่อ คณะกรรมการเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อให้มั่นใจว่าสิทธิของคุณได้รับการคุ้มครอง ซึ่งมันอาจจะนำไปสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยที่ศาล แต่โดยทั่วไปแล้วคู่กรณีสามารถตกลงกันได้ก่อนที่จะไปถึงขั้นตอนนั้น  คุณ เคท เจนกิ้นส์ อธิบายขั้นตอนการร้องเรียนว่า

"ตามหลักการแล้ว เมื่อคุณร้องไปที่นายจ้าง นายจ้างก็จะรับเรื่องและดำเนินการสอบสวน แต่มีข้อควรระวังว่าคุณจะไม่ถูกตกเป็นจำเลยที่ได้รับความเสียหายใดๆ ที่นำเรื่องนี้ไปร้องเรียน จากนั้นก็ติดตามว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้าง ซึ่งบ่อยครั้งนายจ้างหรือฝ่ายที่เกี่ยวข้องในบริษัทก็จะประสานงานกับบุคคลนั้น ๆ และตัดสินใจว่า พวกเขาจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ซึ่งเป็นขั้นตอนการดำเนินงานภายใน ”  คุณ เคท เจนกิ้นส์ สรุป

คุณสามารถร้องขอความช่วยเหลือจากที่ใด

ในออสเตรเลียการคุกคามทางเพศในที่ทำงานนั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำอันเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ ถ้าคุณกำลังเผชิญกับเรื่องนี้คุณสามารถขอความช่วยเหลือจากแหล่งต่างๆ ได้เช่นคุณสามารถติดต่อฝ่ายบริการข้อมูล ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ได้ที่ 1300 656 419 หรือ คุณสามารถ โทรไปที่ 1-800 RESPECT และทั้งสองแห่งคุณสามารถใช้บริการล่ามได้
The national helpline that helps victims of violence and sexual assault
สายด่วน 1800 Respect บริการให้คำปรึกษาเรื่องการใช้ความรุนแรงในครอบครัวและการถูกคุกคามทางเพศ ทั้งทางโทรศัพท์และทางออนไลน์ทั่วออสเตรเลีย Source: Supplied
คุณ นิโคล แมคมาฮอน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสายด่วน 1-800 RESPECT  ว่า

“สายด่วน 1800 RESPECT นี้เป็นการให้บริการให้คำปรึกษาที่ให้บริการทุกวัน เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ทั้งทางโทรศัพท์และทางออนไลน์ เมื่อคุณโทรไปที่1800 RESPECT คุณจะได้คุยกับผู้ให้คำปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญที่จะช่วยให้ผู้ที่โทรมาขอคำปรึกษาเข้าใจถึงสถานการณ์และสิทธิของตน ผู้ให้คำปรึกษาจะทำการประเมินสถานการณ์และให้คำแนะนำว่าคุณควรทำอย่างไร หรืออาจจะส่งต่อกรณีของคุณไปให้ทีมที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เป็นต้น”  คุณ นิโคล แมคมาฮอน ชี้

ถ้าคุณต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ และสิทธิของคุณในที่ทำงาน สามารถไปที่เว็บไซต์ของ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งออสเตรเลีย ที่ หรือที่คณะกรรมการแฟร์เวิร์ค

กดปุ่ม 🔊 ด้านบนเพื่อฟังรายละเอียดเรื่องการถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 
 

 

 

 

 

 

 


Share