เรื่องเพศเป็นเรื่องที่ขายได้และทรงอิทธิพลไม่ว่าจะเป็นช่องทางโซเชียลมีเดียหรือวงการศิลปะก็ตาม
แต่การสำรวจจากองค์กรให้ความช่วยเหลือครอบครัว Act for Kids พบว่าการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษาที่ชาวออสเตรเลียได้เรียนในโรงเรียนนั้นมีเนื้อหาที่อยู่ในระดับไม่ดีนัก คุณ แคทรีนา ไลนส์ ประธานบริหารองค์กร Act for Kids ชี้ว่า
"ชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่รู้สึกว่าการเรียนเพศศึกษาที่พวกเขาได้เรียนในโรงเรียนนั้นไม่ได้ช่วยให้พวกเขาเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับเหตุการณ์เรื่องเพศในชีวิตจริง มีผู้บรรลุนิติภาวะจำนวนเพียง 1 ใน 5 ที่เข้าร่วมการสำรวจของเราให้ข้อมูลว่าพวกเขาได้เรียนเกี่ยวเพศสัมพันธ์ ความสัมพันธ์และการยินยอม ในโรงเรียนทั้งๆ ที่ 2 ใน 3 ของจำนวนผู้บรรลุนิติภาวะเหล่านี้เคยมีเพสสัมพันธ์ก่อนอายุ 18 ปี
ในปีที่แล้วมีการร้องเรียนให้มีการเรียนการสอนในเรื่องของการยินยอมพร้อมใจในโรงเรียน และตั้งแต่นั้นมารัฐควีนสแลนด์ก็วางแผนที่จะเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนในหัวข้อนี้ นาง เกรซ เกรซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรัฐควีนสแลนด์ เปิดเผยว่า
"มันมีการเรียนเรื่องนี้ในชั้น ม.5 ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่าทั้งหมดทั้งมวลนี้คือเป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้วหรือ เราควรจะต้องบอกว่าควรเริ่มเรียนก่อนหน้านี้หรือไม่"
สมัยที่คุณ ลีลาห์ แมคเลนแนน เรียนอยู่มันไม่ใช่เรื่องที่คุยกันได้เเปิดเผยนัก
"โดยมากแล้วเราเรียนเรื่องนี้กัน 2-3 ครั้งตอน ม.2 หรือ ม.3 ซึ่งมันเป็นส่วนหนึ่งของวิชาพละ เราก็เรียนทฤษฎีเกี่ยวกับเพศศึกษาและครูผู้สอนก็เป็นครูวิชาพละนั่นแหละ ครูเขาก็น่าสงสารนะคะ ที่ต้องสอนโดยใช้ตำราโบราณและก็แจกจ่ายแผ่นพับข้อมูลให้เรา "
ด้านคุณ ซิซิเลีย รอธ จากคลินิกวางแผนครอบครัว รัฐนิวเซาท์เวลส์เผยว่า การเรียนเรื่องเพศศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาในการเรียนการสอนของประเทศอยู่แล้ว ส่วนเรื่องมาตรฐานนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
"หลายอย่างในเนื้อหาการเรียนการสอนต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ตรงจุดมากขึ้นเพื่อที่เราจะได้ประสิทธิผลทางการเรียนที่สอดคล้องกับชีวิตจริงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะว่ามาตรฐานการเรียนการสอนเรื่องนี้นั้นมีความหลากหลายในแต่ละโรงเรียน ซึ่งบางโรงเรียนก็มีการเรียนการสอนในระดับดีมากแต่บางแห่งก็ไม่ได้มีเวลาพอที่จะลงลึกในรายละเอียดและเนื้อหามากนัก"
คุณ แคทรินา ไลนส์ เสริมว่าเรื่องนี้ควรถูกพิจารณาอย่างจริงจังเพราะว่าจากผลสำรวจพบว่ามีเยาวชนมากมายที่กำลังจะจบการศึกษารู้สึกสับสนในเรื่องนี้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนหลายคนในจำนวนนี้รู้สึกว่าพวกเขารู้สึกไม่พร้อมที่จะมีประสบการณ์ทางเพศด้วยซ้ำตอนที่พวกเขาตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์
"ผู้คนร้อยละ 16 ที่เข้าร่วมการสำรวจนี้เปิดเผยว่าพวกเขารู้สึกมีความกดดันในตอนที่พวกเขามีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก และผู้หญิงมีความรู้สึกเช่นนี้มากกว่าผู้ชายเป็นสองเท่า ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่โอเคเลย มันเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจด้วยซ้ำเพราะว่ามันบ่งชี้ว่าเราขาดการศึกษาที่เหมาะสมในเรื่องนี้กับเยาวชนอย่างมาก"
Source: Moment RF / Estersinhache fotografía/Getty Images
คุณ โทมัส แมคอินไตย์ อดีตเจ้าหน้าที่ปกป้องสิทธิเด็ก กล่าวว่า การเรียนการสอนเรื่องนี้ยังสามารถป้องกันการถูกคุกคามทางเพศ และควรเริ่มต้นให้ข้อมูลแก่เด็กตั้งแต่เนิ่น ๆ
"มันน่าจะเริ่มตั้งแต่ตอนเป็นเด็กที่จะรู้ว่าเมื่อไหร่ที่จะต้องพูดว่า ไม่ และอะไรที่ควรสัมผัสและอะไรที่ไม่ควร และอะไรที่ทำให้พวกเขารู้สึกไม่สบายใจในความสัมพันธ์บางอย่างและรู้ว่าควรจะจัดการกับมันอย่างไร"
คุณ ลีลาห์ เปิดเผยว่า ในปัจจุบันเด็กจำนวนมากที่ไปหาข้อมูลเอาเองจากโซเชียลมีเดีย
"ฉันจำได้ว่าตั้งแต่เด็กฉันดูรายการจากยูทูบหรือทัมเบลอ และจากที่ที่ไม่ควรเห็นหรืออ่านเจอในที่ที่ไม่ควรอ่านเป็นต้น และเป็นที่แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ไม่เคยสอนที่โรงเรียนและเด็กๆก็ไปหาข้อมูลกันเอาเองข้างนอกและบางครั้งมันก็ไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้อง"
องค์กร Act for Kids แนะนำว่าผู้ปกครองเป็นส่วนสำคัญในการที่จะสอนทัศนคติทางบวกในเรื่องนี้แก่เด็กซึ่งการวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าสำหรับครอบครัวที่เป็นผู้ย้ายถิ่นนั้น อาจมีเรื่องวัฒนธรรมที่ไม่สมควรที่จะพูดเกี่ยวกับเรื่องเพศ
คุณ ซิซิเลีย รอธ ชี้ว่ามีข้อมูลมากมายที่สามารถช่วยเหลือครอบครัวผู้ย้ายถิ่นที่ประสบปัญหานี้ และมันไม่ควรเป็นเรื่องที่จะถูกเหมารวม
"แม้ว่าคุณจะมาจากกลุ่มวัฒนธรรมเดียวกันหรือพูดภาษาเดียวกัน แต่มันก็ขึ้นอยู่กับครอบครัวแต่ละครอบครัวด้วยว่าอะไรที่พวกเขารู้สึกสบายใจหรือสนใจและอยากเรียนรู้มัน ซึ่งพวกเขาก็มีทัศนคติที่แตกต่างกันออกไป"
ส่วนคุณ แคทรินา ไลนส์ ชี้การพูดคุยเรื่องเพศและความสัมพันธ์กลายเป็นเรื่องที่ผู้คนสามารถพูดคุยกันได้ปกติ
"มีกลุ่มหนุ่มสาวจำนวนไม่กี่คนเท่านั้นที่บอกเราว่าพวกเขารู้สึกสบายใจในการพูดคุยเรื่องเพศสัมพันธ์กับครอบครัวของพวกเขา และมีผู้ปกครองเกินครึ่งที่ไม่เคยพูดเรื่องนี้กับบุตรหลานของพวกเขาเลย เราต้องทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องปกติที่สามารถคุยกันได้ในประเทศนี้ และทำให้มันเป็นเรื่องของการพูดคุยกันเกี่ยวกับข้อเท็จจริง ความไว้เนื้อเชื่อใจและการเปิดเผยต่อกัน"
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่