ไกลแค่ไหนคือปลอดภัยเมื่อต้องเว้นระยะห่างทางสังคม

People wearing face masks and gloves to protect against the COVID-19 coronavirus observe social distancing guidelines on the subway in Moscow, Russia.

People wearing face masks and gloves to protect against the COVID-19 coronavirus observe social distancing guidelines on the subway in Moscow, Russia. Source: AP

แม้หลายรัฐและมณฑลทั่วออสเตรเลียจะผ่อนคลายมาตรการจำกัดการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่มาตรการที่ยังมีการยึดปฏิบัติอยู่นั้น คือการทิ้งระยะห่างทางสังคม ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเปิดเผยว่า แค่ห่างกันยังไม่พอ การขยับและเคลือนไหวร่างกายก็มีผลต่อประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อ


กดปุ่ม 🔊ที่ภาพด้านบนเพื่อฟังรายงาน

ประชาชนทั่วออสเตรเลีย ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจวัตรประจำวันซึ่งถูกจำกัดห้ามมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์ สถานบันเทิง ร้านอาหาร รวมไปถึงร้านกาแฟ ต่างเริ่มให้บริการได้มากขึ้นมากกว่าขายอาหารแบบใส่กล่องกลับบ้าน การออกกำลังกายก็สามารถทำได้นอกสถานที่มากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการขอความร่วมมือ ให้ประชนทำการทิ้งระยะห่างทางสังคม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สัญจายา เสนาณเยก ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์ ว่า ขณะนี้ไม่ใช่เวลาที่ผู้คนจะละเลยการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา

“เราจำเป็นต้องระลึกอยู่เสมอว่า ไวรัสนี้ยังไม่หายไปไหน เรายังไม่ได้กำจัดพวกมันแบบถอนราก เราเพิ่งจะยับยั้งจากการทำงานอย่างดีเยี่ยมในออสเตรเลีย ดังนั้น มันจะยังอยู่รอบตัวเรา และสามารถกลับมาแพร่กระจายได้อีกครั้ง หากผู้ติดเชื้อคลุกคลีอยู่กับผู้อื่น จากการไม่ทิ้งระยะห่างทางสังคม” ผศ.สัญจายา เสนาณเยก กล่าว

ที่ประเทศอังกฤษ ศาสตราจารย์สตีเฟน โพวิส ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ จากหน่วยงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) กล่าวว่า มาตรการทิ้งระยะห่างทางสังคม ที่มีการประกาศใช้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้ช่วยชะลออัตราการติดเชื้อ และการเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนา นำไปสู่การหลีกเลี่ยงกรณีที่เลวร้ายที่สุดได้

“กรณีเลวร้ายที่สุดที่มีการคาดการณ์อย่างมีเหตุผลในตอนแรก คือจะมีผู้เสียชีวิตราว 5 แสนราย นั่นเป็นจำนวนที่สูงมาก และจะเกิดขึ้นถ้าหากไม่มีมาตรการและการป้องกัน ๆ ในการระงับการแพร่กระจายของไวรัสชนิดนี้ และนั่นคือข้อเท็จจริงที่ว่า มาตรการทิ้งระยะห่างทางสังคมที่ประกาศใช้เมื่อเดือนมีนาคม มีส่วนในการทำให้ยอดผู้เสียชีวิตต่ำกว่าจำนวนที่คาดการณ์ไว้หลายพันคน” ศาสตราจารย์สตีเฟน โพวิส กล่าว

แล้วจะต้องอยู่ห่างกันแค่ไหน จึงจะถือว่าปลอดภัยจากไวรัสโคโรนา 

ศาสตราจารย์โทเบียส เวลท์ หัวหน้าระบบปอดและโรคติดเชื้อ จากวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮันโนเฟอร์ ในประเทศเยอรมนี และประธานสมาคมระบบทางเดินหายใจแห่งยุโรป กล่าวว่า ทุกครั้งที่เราหายใจออกมา จะมีละอองซึ่งสามารถนำพาแบคทีเรียหรือละอองฝอยที่มีไวรัส

และเพื่อที่จะสามารถคำนวณระยะห่างที่เหมาะสม รวมถึงความสามารถในการติดเชื้อของไวรัสโควิด-19 ได้ นักวิทยาศาสตร์จำเป็นที่จะต้องรู้ว่า ในละอองฝอยเหล่านั้น มีปริมาณไวรัสมากน้อยแค่ไหน

“สิ่งที่เรายังไม่รู้ก็คือ สิ่งที่อยู่ภายในไวรัส จำนวนไวรัสอยู่ในละอองฝอย เราทราบดีในกรณีของไข้หวัดใหญ่ และไรโรไวรัส พวกมันมีจำนวนมาก แต่สำหรับไวรัสโคโรนา ดูเหมือนว่าจะมีจำนวนที่น้อยกว่า แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะมีมากแค่ไหน และเรายังไม่รู้ว่า จะต้องมีละอองฝอยมากเท่าไหร่ ในการทำให้ใครสักคนติดเชื้อไวรัสโคโรนา” ศาสตราจารย์โทเบียส เวลท์ กล่าว

หากผู้คนในเมืองใหญ่ ที่มีขนาดเทียบเท่ากับนครซิดนีย์และเมลเบิร์นกลับมาทำงานตามปกติ ทุกคนจะต้องทิ้งระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่แค่เพียงแค่ในออฟฟิศ โรงงาน หรือร้านขายปลีกต่าง ๆ เพียงอย่างเดียว 

ขณะที่ระบบขนส่งมวลชนในเมืองต่าง ๆ เคลื่อนย้ายผู้คนจำนวนมากไปทั่วเมือง ศาสตราจารย์เวลท์ บอกว่า ผู้คนหายใจในลักษณะที่แตกต่างกันไป การออกแรงจะทำให้คุณหายใจแรงและเร็วขึ้น การพูดหรือไม่พูดนั้นก็สามารถสร้างความแตกต่างได้

“มันขึ้นอยู่กับว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ หากคุณกำลังพูดเยอะ คุณจะปล่อยละอองฝอยเป็นจำนวนมาก หากคุณไอ ก็จะปล่อยละอองฝอยออกมามากขึ้นอีก ถ้าคุณนั่งอยู่ที่โต๊ะโดยไม่พูด คุณก็จะปล่อยละอองฝอยเพียงเล็กน้อย” ศาสตราจารย์เวลท์​กล่าว

อีกปัจจัยสำคัญของการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ก็คือระยะฟักตัว มีระยะเวลาที่ยาวนานระหว่างวันที่คุณได้รับเชื้อ และวันที่แสดงอาการ ดังนั้น ผลลัพธ์จากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันนั้นจะยังไม่เห็นผลในวันนี้ หรือวันพรุ่งนี้ แต่จะต้องรอไปอีก 14 วันหลังจากนั้น นั่นทำให้การทิ้งระยะห่างทางสังคมเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากการคำนวณระยะทางของละอองฝอยจากลมหายใจนั้นไม่มีความแน่นอน

“มันไม่ใช่เรื่องแบบขาวหรือดำ มันเหมืนเฉดสีที่ซับซ้อน หากคุณเดินใกล้คนที่อยู่เฉย ๆ และไม่ได้ทำอะไรนอกจากหายใจ ความเสี่ยงก็จะต่ำ แต่ถ้าคน ๆ นั้นตะโกนหรือไอออกมา ความเสี่ยงของคุณก็จะสูงขึ้น” ศาสตราจารย์เวลท์กล่าว

ด้าน ศาสตราจารย์ลีโอ ฮุงส์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ ซึ่งทำงานอยู่ในแผนกผู้ป่วยหนัก ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเสรีอัมสเตอร์ดัม เขากล่าวว่า ไม่มีวิธีใดที่จะทดแทนการทิ้งระยะห่างทางสังคมได้

“ระยะห่างที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับว่า คุณหายใจอย่างไร คุณขยับร่างกายมากน้อยแค่ไหน แน่นอนว่า ถ้าคุณออกกำลังกาย การหายใจทางปากก็จะมากขึ้น นั่นก็จะทำให้ละอองฝอยฟุ้งกระจายไปได้ไกล ดังนั้น ผมคิดว่าระยะห่างประมาณ 1.5 เมตรนั้นเป็นระยะที่ปลอดภัยในการจำกัดการติดเชื้อได้” ศาสตราจารย์ลีโอ ฮุงส์ กล่าว

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 
เรื่องราวที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย

แมคโดนัลด์ปิด 12 สาขาใน VIC หลังพบผู้ติดโควิด


Share