กดปุ่ม 🔊ที่ภาพด้านบนเพื่อฟังรายงาน
คุณโรสมารี กูลด์ หนึ่งในชาวออสเตรเลียที่เปิดพื้นที่บ้านของเธอเป็นโฮมสเตรย์ สำหรับนักเรียนต่างชาติที่ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตไวรัสโคโรนา นี่ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะเธอเปิดบ้านต้อนรับนักเรียนซึ่งต้องการที่พักพิงมาแล้วกว่า 30 ปี
เธอเล่าว่า เธอยังคงเปิดบ้านต้อนรับนักเรียนต่างชาติ แม้ผลตอบแทนที่ได้กลับมาเป็นเงินนั้นจะไม่คุ้มค่า
“ฉันคิดว่าเราควรที่จะทำในสิ่งนี้ เราจะทำโดยไม่หวังสิ่งใด แม้คุณจะได้เงินจากจากการเปิดบ้านให้นักเรียนอาศัย คุณก็ไม่ได้อะไรมากจากสิ่งนั้น” คุณโรสมารี กูลด์ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ที่เปิดบ้านให้นักเรียนต่างชาติที่ได้รับผลกระทบได้พักอาศัย จะได้รับเงิน $120 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ ซึ่งจ่ายโดยกองทุนวิกฤตจากสถานศึกษาและหน่วยงานของรัฐบาล โดยอัตราปกตินั้นอยู่ที่กว่า $300 ดอลลาร์ ซึ่งจ่ายโดยนักเรียนเป็นจำนวนเต็ม
ในออสเตรเลีย มีนักเรียนต่างชาติราว 500,000 คน สร้างเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจเกือบ $40,000 ล้านดอลลาร์ แต่ถึงแม้พวกเขาจะจ่ายภาษีอย่างถูกต้อง แต่พวกเขาก็ไม่สามารถรับความช่วยเหลือจากโครงการต่าง ๆ โดยรัฐบาลสหพันธรัฐ เช่น JobKeeper หรือ JobSeeker ได้
และเนื่องจากไม่สามารถกลับประเทศบ้านเกิดได้ในช่วงนี้ พวกเขามีความเสี่ยงที่นักเรียนต่างชาติเหล่านี้จะอยู่ในภาวะขัดสน และไร้บ้าน
คุณเดวิด บายครอฟท์ (David Bycroft) ผู้ก่อตั้งเครือข่ายโฮมสเตย์ออสเตรเลีย หรือ Australian Homestay Network กล่าวว่า เขารู้สึกได้ถึงวิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้น
"ภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานรัฐบาลอื่น ๆ กำลังทำงานอย่างหนักร่วมกับพวกเรา ในการจัดเตรียมกองทุนสำหรับนักเรียนต่างชาติที่ได้รับความเดือดร้อนทางการเงิน ซึ่งจะทำให้พวกเขาไม่ต้องอยู่ตามท้องถนน และได้อาศัยอยู่ในที่ปลอดภัย" คุณเดวิด บายครอฟท์ กล่าว
สำหรับการจัดเตรียมที่พักแบบโฮมสเตย์ราคาย่อมเยาว์ ทางเครือข่ายฯ จะได้รับเงิน $40 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ เพื่อเป็นค่าจัดการ ประกัน และบริการสนับสนุนนักเรียนต่างชาติ ที่ได้รับการส่งต่อมาจากสถานศึกษาและหน่วยงานของรัฐ
คุณบายครอฟท์ คาดว่า ในอีกสองสามเดือนข้างหน้า จะมีการจัดเตรียมที่พักโอมสเตย์เพิ่มขึ้นมาอีกหลายพันแห่ง และกระจายไปทั่วประเทศ
คุณซาราห์เจน โรเบิร์ตสัน ชาวออสเตรเลียอีกคน ที่เริ่มเปิดบ้านของเธอเป็นโฮมสเตย์เป็นครั้งแรก เพื่อต้อนรับนักเรียนต่างชาติที่ประสบความเดือนร้อน เธอบอกว่า นักเรียนต่างชาติที่มาพักอาศัย จะสามารถใช้งานห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร รวมถึงพื้นที่นอกบ้าน และห้องทำงาน ขณะที่ได้จัดเตรียมเครือข่าย WiFi ไว้สำหรับนักเรียนอีกด้วย
นักเรียนต่างชาติที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ จะต้องอยู่ในออสเตรเลียไปอีกหลายเดือน ดังนั้น ความเสี่ยงในการติดไวรัสของพวกเขานั้นไม่ต่างกับคนอื่น ๆ ในประเทศ
ในเวลาเดียวกัน ก็มีชาวออสเตรเลียทั่ว ๆ ไป ที่ออกมายื่นมือเพื่อช่วยเหลือพวกเขา ในช่วงเวลาที่ไม่ธรรมดานี้
"มันเป็นทางเลือกส่วนบุคคล มีหลายอย่างที่รัฐบาลสามารถทำได้ และเมื่อใดที่มีช่องว่าง เมื่อนั้นคือโอกาสที่ชุมชนจะก้าวเข้ามาช่วยเหลือ นั่นคืออีกภาพสะท้อนหนึ่งของคำพูดที่ว่า ‘เราจะผ่านมันไปด้วยกัน'" คุณซาราห์เจน โรเบิร์ตสัน กล่าว
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่
เรื่องราวที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
งานน้อย-เงินลด โควิด-19 ยังกระทบนักเรียนไทยในออสฯ