บริษัทหางานแนะควรช่วยเหลือผู้พิการให้มีงานทำช่วงโควิดมากขึ้น

Barista Andrew Kenny (SBS)

คุณแอนดรูว์ เคนนี บาริสตาในนครเมลเบิร์น Source: SBS

ชาวออสเตรเลียที่มีความพิการมีโอกาสตกงานสูงเมื่อเทียบกับคนทั่วไป แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ความท้าทายในการหางานของคนกลุ่มนี้ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน


LISTEN TO
COVID's effect on jobs for people with disability must be addressed: service provider image

บริษัทหางานแนะควรช่วยเหลือผู้พิการให้มีงานทำช่วงโควิดมากขึ้น

SBS Thai

09/11/202006:03
คุณแอนดรูว์ เคนนี (Andrew Kenny) วัย 39 ปี หยุดทำงานมาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา และต้องย้ายไปอยู่กับพ่อแม่ของเขา เขามีความบกพร่องทางสติปัญญา เขาบอกว่า การหางานนั้นเป็นเรื่องยากลำบาก

“ผมพยายามพูดอย่างตรงไปตรงมาที่สุดว่า ผมมีความพิการ ผมสัญญาว่ามันจะไม่เป็นปัญหาในการทำงานของผม ผมจะพยายาม และทำงานให้สำเร็จได้อย่างที่ผมต้องการ” คุณเคนนี กล่าว

คุณเคนนี ได้ฝึกงานเป็นบาริสตาที่ร้านกาแฟ Busybeans ในย่ายมูนี พอนด์​ (Moonee Pond) ของนครเมลเบิร์น แต่ร้านกาแฟดังกล่าวต้องปิดกิจการ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

“กาแฟคือสิ่งที่ผมชอบ ผมรักความซับซ้อน รสชาติของมัน และการรับรู้ถึงประวัติศาสตร์และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ของกาแฟ มันคือแรงบันดาลใจในชีวิตผม” คุณเคนนี กล่าว  

อย่างไรก็ตาม ร้านกาแฟ Busybeans นั้น ยังคงเปิดบริการอยู่ 1 สาขา บนถนน Oxford Street ในนครซิดนีย์ 

สำหรับคุณเคนนี เขาได้เข้าสัมภาษณ์งานมาหลายครั้ง และหวังว่าจะได้กลับมายังนครเมลเบิร์น หลังต้องไปใช้ชีวิตอยู่อย่างจำกัดในพื้นที่ชนบทของรัฐวิกตอเรีย 

คุณหนุ่มสาวที่มีความพิการเกือบ 1 ใน 5 มีประสบการณ์ถูกเลือกปฏิบัติ และเกือบครึ่งนั้น พบว่าเกิดขึ้นจากนายจ้างของพวกเขาเอง

คุณรอซ จอยซ์ (Ross Joyce) ประธานบริหาร องค์กรสมาพันธ์ผู้พิการแห่งออสเตรเลีย (The Australian Federation of Disability Organisation) กล่าวว่า จำเป็นต้องมีการดำเนินการมากขึ้น เพื่อทำให้แน่ใจว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่ถูกทอดทิ้ง

“ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะไม่เพิกเฉยต่อคนหนุ่มสาวที่มีความพิการ และตระหนักรู้ว่าพวกเขามีพรสวรรค์ พวกเขามีทักษะ และพวกเขาต้องการทำงาน“ คุณจอยซ์​ กล่าว

คุณเทรี วิลสัน (Terry Wilson) ผู้จัดการทั่วไปของ AimBig Employment บริษัทสนับสนุนด้านการหางานของผู้มีความพิการ กล่าวในแง่บวกว่า มีโอกาสมากมายที่เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่นี้ 

เขาไม่เชื่อว่า ผู้ที่มีความพิการนั้นถูกเพิกเฉยทั้งหมด เนื่องจากมีนายจ้างที่ติดต่อกับเขาเพื่อจ้างงานบุคคลเหล่านั้น ในตำแหน่งผู้ดูแลการปฏิบัติตามหลักความปลอดภัยจากไวรัสโควิด-19

“ตัวอย่างเช่น รัฐวิกตอเรีย ในตอนนี้บรรดาสถานที่ออกกำลังกายกำลังเริ่มกลับมาให้บริการอีกครั้ง และในตอนนี้เรามีงาน 48 ตำแหน่ง ที่เราพยายามหาคนเข้าไปทำงานในรัฐวิกตอเรีย” คุณวิลสัน กล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม คุณวิลสัน กล่าวอีกว่า ในตลาดแรงงานนั้นมีการแข่งกันในระดับสูง ที่แม้กระทั่งพนักงานต้อนรับผู้โดยสารบนเครื่องบิน ต่างก็กำลังหาตำแหน่งงานในซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงตำแหน่งงานต่าง ๆ ที่ความเหมาะสมกับผู้ที่มีความพิการในด้านอื่น ๆ 

เขากล่าวอีกว่า บรรดานายจ้างต่างตระหนักรู้ถึงคุณค่าในการมีกำลังคนทำงานที่มีความหลากหลาย

“ผมเดาว่า นายจ้างจำนวนมากมีความรอบรู้มากขึ้น และตระหนักว่า การจ้างงานผู้ที่มีความพิการ เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจสำหรับพวกเขา ด้วยเงินสนับสนุนที่รัฐบาลมอบให้จากทั่วสารทิศ ขณะที่รัฐบาลก็กำลังยกระดับ และมอบเงินสนับสนุนมากขึ้นสำหรับผู้มีความพิการ ซึ่งเงินสนับสนุนเหล่านี้จะได้รับการจ่ายไปยังนายจ้าง” คุณวิลสัน กล่าว

คุณวิลสัน กล่าวอีกว่า นายจ้างที่จ้างงานคนหนุ่มสาวที่มีความพิการนั้น จะมีคุณสมบัติในการรับเงินสนับสนุนการจ้างงาน JobMaker โดยจะเป็นการมอบเครดิตการจ้างงาน เพื่อกระตุ้นภาคธุรกิจที่จ้างคนหนุ่มสาวที่กำลังหางาน และมีอายุระหว่าง 16 – 35 ปี 

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายหนทาง ในการเพิ่มพูนทักษะสำหรับผู้ที่มีความพิการ ในการเพิ่มโอกาสในการจ้างงานให้มากขึ้น

คุณลินห์ ฟัม (Linh Pham) ติวเตอร์ชาวเวียดนาม ได้เปิดสอนภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนที่มีความพิการมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว เธอมีนักเรียน 20 คน และเธอมีความกะตื้อรือร้น ในการช่วยเหลือพวกเขาให้ก้าวข้ามอุปสรรค์ทางภาษาไปให้ได้

“พวกเขาพูดภาษาอังกฤษได้ และพวกเขาสามารถเรียนรู้ศัพท์ใหม่ ดังนั้นพวกเขาจะมีความมั่นใจมากขึ้นในการพูดภาษาอังกฤษ และดิฉันยังได้สอนการออกเสียงให้กับพวกเขาด้วย” คุนฟัม กล่าว

“ดิฉันชอบงานนี้ เนื่องจากฉันสามารถช่วยเหลือให้พวกเขาก้าวข้ามกำแพงภาษา และฉันเองก็สามารถสอนนักเรียนได้หลายช่วงอายุ”


ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ 

หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share