วอนออสฯ ฉีดวัคซีนให้เยาวชน หวั่น ‘สายพันธุ์เดลตา’ ระบาดในเด็ก

Covid vaccine

School kids Source: SBS

ผู้เชี่ยวชาญห่วงเยาวชนออสฯ ติดเชื้อโควิด 'สายพันธุ์เดลตา' เพิ่มขึ้น หวังหน่วยงานอาหารและยาไฟเขียว 'วัคซีนไฟเซอร์' ฉีดให้เยาวชนอายุ 12-15 ปีได้เร็ว ๆ นี้


LISTEN TO
Calls for younger Australians to be vaccinated as Delta variant takes hold image

วอนออสฯ ฉีดวัคซีนให้เยาวชน หวั่น ‘สายพันธุ์เดลตา’ ระบาดในเด็ก

SBS Thai

06/07/202107:15

ประเด็นสำคัญ

  • ผู้เชี่ยวชาญหวังว่า หน่วยงานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพออสเตรเลีย (TGA) จะอนุมัติให้เยาวชนอายุ 12-15 ปี ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ได้ เผยสถิตการรักษาในโรงพยาบาลของคนอายุน้อยมีมากกว่ากลุ่มอื่นเล็กน้อย จากการที่ยังรับวัคซีนไม่ได้
  • ข้อมูลล่าสุดเปิดเผยว่า ความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในเด็กและผู้ใหญ่ อยู่ในระดับเดียวกัน
  • บก.วารสารการแพทย์ออสฯ เผยช่วงนี้ถือว่าโชคดีเพราะยังปิดเทอม แนะควรเตรียมแผนรับมือให้ดีเมื่อโรงเรียนกลับมาเปิดภาคเรียนอีกครั้ง

จากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ที่ส่งผลกระทบอย่างมากในเด็ก จากความสามารถในการแพร่ระบาดในระดับสูง ทำให้มีเสียงเรียกร้องให้เยาวชนออสเตรเลีย ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ได้ โดยขณะนี้ เยาวชนอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป สามารถไปรับวัคซีนของไฟเซอร์ได้แล้ว และมีความหวังว่า หน่วยงานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพ (TGA) จะอนุมัติวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเด็กอายุระหว่าง 12-15 ปีในเร็วๆ นี้ 

นับว่าเป็นความเมตตาเล็ก ๆ ของการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ที่มีความเป็นไปได้น้อยสำหรับเด็ก ๆ ที่จะเกิดอาการป่วยหนักหากพวกเขาได้รับเชื้อ แต่ในขณะที่ไวรัสสายพันธุ์เดลตา ซึ่งมีความสามารถในการติดต่อโรคได้สูง และกำลังเป็นสายพันธุ์ที่แพร่หลายไปทั่วโลก มีความกังวลว่า จะมีเด็ก ๆ จำนวนมากขึ้น ที่ได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19

แต่ ศาสตราจารย์ คริสตีน มาคาร์ตนีย์ (Prof Cristine Macartney) จากศูนย์เพื่อการวิจัยและเฝ้าระวังการสร้างภูมิคุ้มกันแห่งชาติ (National Centre for Immunisation Research and Surveillance) กล่าวว่า นั่นถือเป็นผลข้างเคียงส่วนหนึ่งของความสำเร็จในโครงการฉีดวัคซีน

“โดยหลัก ๆ แล้ว นั่นหมายความว่า วัคซีนกำลังทำงาน เนื่องจากในประเทศเหล่านั้น ประชากรส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้สูงได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และนั่นจะทำให้พวกเขาไม่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลเมื่อติดเชื้อ ตามปกติพวกเขาจะมีอาการเพียงเล็กน้อย”

“แต่สำหรับเด็กและเยาวชนในประเทศเหล่านั้น ส่วนมากยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ทำให้ประชากรกลุ่มนี้ กลายเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ของผู้ที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล” ศาสตราจารย์มาคาร์ตนีย์ กล่าว

ขณะที่เชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา ได้สร้างความความโกลาหลไปทั่วออสเตรเลีย  โครงการฉีดวัคซีนของประเทศกำลังถูกจับตาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน 

และถึงแม้การฉีดวัคซีนให้กับผู้ใหญ่จะเกิดความล่าช้าอย่างมาก แต่บางส่วนเริ่มมีคำถามว่า เมื่อไหร่ที่เด็กและเยาวชนจะสามารถรับการฉีดวัคซีนได้

ในสหรัฐ ฯ เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป สามารถรับการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ได้

ขณะที่ในออสเตรเลีย มีการแนะนำให้สำหรับเยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปเท่านั้น

ศาสตราจารย์ คริสตีน มาคาร์ตนีย์ กล่าวว่า สิ่งนี้อาจเปลี่ยนแปลงในไม่ช้า

“เรากำลังหวังว่า TGA จะทำการประกาศความเป็นไปได้ในการใช้วัคซีนของไฟเซอร์กับเยาวชนในเร็วๆนี้ และเราจะต้องดูคำแนะนำที่ออกมา ว่าจะมีการฉีดวัคซีนให้กับเด็ก ๆ ในออสเตรเลียหรือไม่อีกด้วย” ศาสตราจารย์มาคาร์ตนีย์ กล่าว

คำถามที่น่าสนใจก็คือ เด็ก ๆ มีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ใช่หรือไม่

มันอาจเร็วเกินไปที่จะบอกในตอนนี้  แต่จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาส่งผลกระทบเท่า ๆ กันต่อผู้สูงอายุ และเยาวชน

การกลายพันธุ์ อันเป็นที่มาของเชื้อสายพันธุ์เดลตานั้น หมายความว่า ไวรัสสายพันธุ์เดลตา สามารถแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เบตาถึงร้อยละ 60

มันเป็นไวรัสที่แพร่กระจายได้ง่ายมาก บางส่วนเชื่อว่า มันสามารถแพร่กระจายได้ จากการพบกันเพียงไม่กี่วินาที และมีโอกาสสูงที่จะทำให้ผู้อาศัยในครัวเรือนเดียวกันติดเชื้อได้ทุกคน

โดยที่สหราชอาณาจักร ในตอนนี้เกิดการระบาดขึ้นอย่างเด่นชัดในโรงเรียนหลายแห่ง

ศาสตราจารย์ นิโคลัส ทอลีย์ (Prof Nicholas Talley) บรรณาธิการจากวารสารการแพทย์แห่งออสเตรเลีย (Medical Journal of Australia) กล่าวว่า มีความเป็นได้ที่โรงเรียนในออสเตรเลีย จะเป็นพื้นที่ความเสี่ยงสูงในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาเช่นกัน

อันที่จริง ผมคิดว่าเราโชคดีมาก ที่ตอนนี้โรงเรียนหลายแห่งกำลังอยู่ในช่วงปิดภาคเรียน มันเป็นเหตุการณ์ที่ถือว่าโชคดี ในแง่ของความเป็นไปได้ที่จะลดขนาดวงจรการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้ ไม่เพียงแต่ในเด็ก แต่รวมถึงภายในครอบครัวด้วย”

“แต่ความกังวลยังคงอยู่ในแง่ที่ว่า เราจะทำอย่างไรหากเกิดการระบาดใหญ่ และโรงเรียนจะต้องกลับมาเปิดภาคเรียนอีกครั้ง เราไม่มีข้อมูลมากพอที่จะชี้นำเราในส่วนนี้ แต่แน่นอนว่า เราจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ในการบรรเทาสถานการณ์ในระดับสูงสุดในโรงเรียน หากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตาขึ้น” ศาสตราจารย์ทอลลีย์ กล่าว 

มาตรการบรรเทาสถานการณ์ ที่มีการใช้ในสถานศึกษาทั่วออสเตรเลียในขณะนี้ รวมถึงการกำหนดให้นักเรียนที่มีอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป สวมใส่หน้ากากอนามัยในชั้นเรียน และจำกัดการรวมกลุ่มขนาดใหญ่ภายในโรงเรียน เช่น การจัดกิจกรรมชุมนุม

ขณะที่การปิดสถานศึกษานั้น กำลังเป็นมาตรการที่เกิดข้อถกเถียงเป็นอย่างมาก ด้วยความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อการเรียน และสุขภาพจิตของเด็ก ๆ

สหภาพด้านการศึกษา ได้เคลื่อนไหวมาอย่างยาวนาน เพื่อเรียกร้องให้จัดลำดับความสำคัญ เพื่อให้ครูอาจารย์ได้รับการฉีดวัคซีน

แต่การฉีดวัคซีนให้กับเด็กและเยาวชนในออสเตรเลียนั้น ดูเหมือนว่าจะยังคงห่างไกล

ในต่างประเทศ ที่ฟินแลนด์ และคิวบา กำลังมีการนำร่องฉีดวัคซีนให้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี

เด็กหญิงฟลาเวีย ลีมัส (Flavia Lemus) เป็นผู้ร่วมโครงการนำร่องนี้  

“หนูต้องการที่จะช่วยเหลือเด็กคนอื่น ๆ ให้ได้รับการฉีดวัคซีน และหนูเองก็จะรับการฉีดวัคซีนด้วย เพื่อไม่ให้ป่วยจากไวรัสโคโรนา” เด็กหญิงลีมัส กล่าว 

ขณะที่ประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปมากกว่าครึ่งหนึ่งในสหรัฐ ฯ ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วอย่างสมบูรณ์ 

นพ.แอนโทนี เฟาชี (Dr Anthony Fauci) ที่ปรึกษาระดับสูงทางการแพทย์ของสหรัฐ ฯ กล่าวว่า นี่เป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้ผู้คนอื่น ๆ ในชุมชนปลอดภัย

“ผู้ใหญ่ที่มีสิทธิ์รับวัคซีน ควรที่จะไปรับการฉีด เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นการปกป้องตัวคุณเองเท่านั้น แต่ยังเป็นการลดระดับของไวรัสในชุมชนลง และคุณกำลังปกป้องเด็ก ๆ ที่ยังรับการฉีดวัคซีนไม่ได้ตอนนี้ในทางอ้อมอีกด้วย” นพ.เฟาชี กล่าว


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย

GP จะเริ่มฉีดไฟเซอร์ให้คนออสเตรเลียอายุ 40-59 ปี


Share