จะทำงานจากที่บ้าน...หรือไม่ทำจากที่บ้านดี? นั่นเป็นคำถามสำหรับชาวออสเตรเลียจำนวนมาก ขณะที่ย่านศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) ภายในเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศกำลังค่อย ๆ กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
สำหรับ คุณดาร์เรน ซิลเวอร์แมน (Darren Silverman) เจ้าของร้านกาแฟ แบล็ก เวลเว็ต (Black Velvet) ในนครเมลเบิร์นซึ่งอยู่รอดจากมาตรการล็อกดาวน์หลายครั้ง เขากล่าวว่าธุรกิจต่างๆ เริ่มดีขึ้น
“ถ้าเราผ่านมันมาได้ ผมคิดว่าเราก็ผ่านไปได้ทุกอย่าง เรารู้สึกขอบคุณจริง ๆ ที่ยังอยู่ตรงนี้ แต่ก็มีหลายที่ ๆ ไปไม่รอด ซึ่งเราก็รู้ดีว่ามันยากลำบากขนาดไหน แต่ตอนนี้เราเปิดร้าน เราอยู่ตรงนี้ เรากำลังซื้อขายกัน และมันก็กำลังไปได้ดี” คุณซิลเวอร์แมน กล่าว
แต่อย่างไรก็ดี เขากล่าวอีกว่าตอนนี้ในเมืองเงียบลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะช่วงวันจันทร์ถึงศุกร์
ยังคงมีกระแสตีกลับจากบางอุตสาหกรรมในเรื่องการมาทำงานในเมือง มีไม่น้อยที่ไม่อยากกลับมา มีไม่น้อยที่มีเหตุผลว่าทำไมพวกเขาไม่อยากกลับมา
"สิ่งที่เราพบในตอนนี้ก็คือ คนที่เลือกจะกลับมาทำงานหรือมาทำงานในออฟฟิศรู้สึกสนุกไปกับมัน พวกเขากลับมาด้วยความตั้งใจว่าจะเข้ามาในเมืองสักวันสองวันต่อสัปดาห์ และบางคนก็เข้ามาตั้งแต่ 3, 4 ไปจนถึง 5 วันต่อสัปดาห์ พวกเขาชอบการได้อยู่กับผู้คนอีกครั้ง แต่ถึงอย่างนั้นก็มีกระแสตีกลับจากบางกลุ่ม ซึ่งผมคิดว่าเราพบเห็นเป็นจำนวนหนึ่ง” คุณซิลเวอร์แมน กล่าว
การทำงานแบบผสมในโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อาจเป็นแนวคิดที่น่าดึงดูดใจ
ผศ.จอห์น ฮ็อปกินส์ (John Hopkins) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสวินเบิร์น (Swinburne University of Technology) กล่าวว่า ส่วนที่เหลือของผู้คนที่ยังไม่ได้กลับไปทำงานในออฟฟิศ ก็เริ่มปรับใช้บางส่วนของรูปแบบการทำงานลักษณะนี้
“การทำงานแบบผสมคือความสามารถที่จะมีความยืดหยุ่นในระดับหนึ่งว่าคุณจะทำงานที่ไหน เช่นเดียวกับสถานที่ทำงานของคุณด้วย
แต่เมื่อคุณมอบความยืดหยุ่นระดับหนึ่งให้กับคนทำงานว่าพวกเขาจะทำงานที่ไหน และจะทำเมื่อไหร่ หากมีความยืดหยุ่นเมื่อเวลาผ่านไปในเรื่องเวลาว่าพวกเขาจะเริ่มงาน จะพักเบรก หรือจะเสร็จงานเมื่อไหร่ สิ่งนั้นมีความสัมพันธ์ที่ดีกับการเพิ่มผลผลิต ผศ.ฮ็อปกินส์ กล่าว
แต่การทำงานลักษณะนี้ ไม่ใช่สำหรับทุกคน
หอการค้าและอุตสาหกรรมรัฐวิกตอเรีย (The Victorian Chamber of Commerce and Industry) ได้สำรวจความเห็นจากธุรกิจ 88 แห่งในย่านศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) โดยพบว่าพนักงานออฟฟิศยังต้องการที่จะใช้เวลาส่วนหนึ่งของสัปดาห์เพื่อทำงานจากที่บ้าน ผลสำรวจพบว่า:
- ร้อยละ 42 ของพนักงานทำงานจากออฟฟิศ 1-2 วันต่อสัปดาห์
- ร้อยละ 25 ทำงานจากออฟฟิศ 3-4 วันต่อสัปดาห์
- ร้อยละ 19 ทำงานจากออฟฟิศ 5 วันต่อสัปดาห์
- ขณะที่ร้อยละ 14 ไม่ได้กลับไปทำงานที่ออฟฟิศเลย
- เกือบร้อยละ 70 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ไม่ได้คาดหวังให้พนักงานกลับมาทำงานในออฟฟิศแบบเต็มเวลา
พอล เกวรา (Paul Guerra) ประธานบริการหอการค้าและอุตสาหกรรมรัฐวิกตอเรีย กล่าวว่า เหตุผลสำคัญที่ผู้คนเลือกที่จะทำงานจากบ้าน คือเรื่องของสมดุลชีวิตและการทำงาน (Work-life balance) ตามมาด้วยเวลาในการเดินทางที่ยาวนาน และความกลัวที่จะติดเชื้อโควิด-19
“เมื่อเราถามผู้ตอบแบบสำรวจว่าอะไรเป็นเหตุผลสำคัญที่จะไม่กลับไปทำงานในออฟฟิศ 34% บอกว่าพวกเขาต้องการสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน อีก 29% บอกว่าเพราะเวลาในการเดินทางที่ยาวนาน พวกเขาไม่อยากเสียเวลาในการเดินทางไปทำงานมากขนาดนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในระบบขนส่งสาธารณะ อยู่ในรถ หรือต้องขับขี่ และก็มีอีก 15% ที่บอกว่าพวกเขายังคงกลัวที่จะติดโควิด”
“ดังนั้น พวกเขาจึงพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงอันตราย”
“เรายังทราบอีกว่า ระหว่างที่กำลังเข้าสู่หน้าหนาว คุณทราบดีว่าเราไม่เคยมีฤดูกาลไข้หวัดใหญ่มา 2-3 ปีแล้ว เพราะฉะนั้น สัญญาณเริ่มต้นก็คือมันจะเป็นฤดูกาลไข้หวัดใหญ่ที่ยากลำบาก”
ผมจึงคิดว่า ผู้คนคงกำลังจะพูดว่าเราได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพจากที่บ้าน เรายินดีที่จะกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ และผลสำรวจก็แสดงให้เห็นอย่างนั้น แต่เราไม่จำเป็นจะต้องกลับมาทำงานที่ออฟฟิศอย่างเต็มเวลา คุณเกวรา กล่าว
แต่สำหรับบางคน ลักษณะการทำงานแบบยืดหยุ่นอาจไม่ก้าวหน้าอย่างที่คิด
หนึ่งในผู้วิจารณ์ที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งในเรื่องนี้ นั่นก็คือ จูเลีย กิลลาร์ด อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ซึ่งระบุว่า แม้ลักษณะการทำงานดังกล่าวจะฟังดูน่าดึงดูดใจ แต่สำหรับผู้หญิงบางคนอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น
เธอกล่าวในที่ประชุมพร้อมคณะ ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันระดับโลกเพื่อความเป็นผู้นำของผู้หญิง (Global Institute for Women's leadership) ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา
“แต่เพราะฉันคิดว่า เรารู้ว่าแรงงานภายในประเทศ และแรงงานในงานด้านการดูแลนั้นไม่ได้รับการกระจายอย่างเป็นธรรม มันมีความเสี่ยงว่าถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนเลยในอีก 5 ปีข้างหน้า"
สิ่งที่เราจะเห็นก็คือ แบบแผนที่ผู้หญิงเลือกทำงานจากที่บ้านอย่างไม่เป็นสัดส่วน โดยเฉพาะในระยะสร้างครอบครัว และผู้ชายซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าไปทำงานในออฟฟิศเป็นประจำกว่าและพบเห็นได้ชัดเจนมาก หากไม่มีอะไรเปลี่ยนเลยก็จะเป็นกลุ่มที่ได้รับการพิจารณาให้เลื่อนตำแหน่ง ได้รับการสนับสนุน ได้รับโอกาสดีที่สุดสำหรับการฝึกอบรมต่าง ๆ เพราะผู้หญิงก็จะเป็นกลุ่มคนที่ดูเหมือนจะหายไปหลังจอคอมพิวเตอร์ จูเลีย กิลลาร์ด อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย
เอมมา วอลช์ (Emma Walsh) ประธานบริการองค์กร Parents at Work กล่าวว่า ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกำลังคนทำงานพาร์ทไทม์มากที่สุดในโลก และผู้หญิงก็ได้รับผลกระทบอย่างไม่เป็นสัดส่วน
เธอมองว่า เพราะการที่สังคมมีความคาดหวังที่ว่า ผู้หญิงส่วนมากจะต้องรับความรับผิดชอบในการดูแล และรักษาสมดุลเรื่องการทำงานและชีวิตภายในบ้าน การทำงานจากที่บ้านซึ่งกำลังเกิดขึ้นนั้นกำลังทำให้เส้นระหว่างชีวิตและการทำงานเริ่มจางลง
“และมันก็คืบคลานเข้ามาในบ้านของเราในหลายรูปแบบ ซึ่งเราไม่ได้เห็นมันตลอด และมันก็เข้ามาในนาทีสุดท้ายด้วย อย่างเช่น โอ้ ฉันแค่จะตอบอีเมลนี้ก่อนที่จะเสร็จงานคืนนี้ แต่ตอนนั้นมันอาจจะเป็นเวลา 4 ทุ่มแล้ว แต่ก็เพราะอีเมลอยู่ตรงหน้า และก็มีความหวังอีกว่าเราจะต้องว่างเสมอเพราะเรามีเทคโนโลยีกันแล้ว” คุณวอลช์ กล่าว
ด้านประธานบริหารหอการค้าและอุตสาหกรรมรัฐวิกตอเรียกล่าวว่า การทำงานจากที่บ้านนั้นเป็นประโยชน์ในเฉพาะบางอุตสาหกรรม
“เราทราบว่า นี่เป็นหนึ่งในสิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องดิ้นรนก่อนช่วงโควิดระบาด เราจะรักษาสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานอย่างไร ตลอดการแพร่ระบาดของโควิดเราคงจะอยู่ที่บ้านนานกว่าที่เราต้องการ แต่เราก็ได้เรียนรู้ว่าสามารถทำงานจากที่บ้านได้
ดังนั้น สิ่งที่เราได้รับจากสถานการณ์โควิดก็คือ สภาพแวดล้อมที่เราควรใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เราเรียนรู้ในช่วงการระบาดให้ดีที่สุด และผนวกรวมกับสิ่งที่เราต้องการจากทั้งบุคคลธรรมดาและภาคธุรกิจที่ต้องการออกจากการแพร่ระบาดของโควิด คุณพอล เกวรา ประธานบริหารหอการค้าและอุตสาหกรรมรัฐวิกตอเรีย
สำหรับเจ้าของธุรกิจอย่าง คุณดาร์เรน ซิลเวอร์แมน สิ่งที่เขาต้องการจะสื่อนั้นชัดเจน
กลับมาทำงานในเมืองกันเถอะ เท่านั้นแหละ มันยอดเยี่ยม เมืองกำลังกลับมาคึกคักอีกครั้งซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่เราต้องการคนอีกจำนวนมาก
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
รัฐมีเงินช่วยค่าไฟอะไรบ้าง? และคุณจะยื่นขอได้อย่างไร?