นิรโทษกรรมนายจ้างที่จ่ายเงินซุเปอร์ไม่ครบ

Superannuation

Cov nyiaj superannuation (AAP) Source: AAP

รัฐบาลออสเตรเลียอนุมัติกฎหมายนิรโทษกรรมชั่วคราวให้นายจ้างที่จ่ายเงินซุเปอร์ (เงินสะสมหลังเกษียณ) ให้ลูกจ้างไม่ครบ หากออกมายอมรับผิด


กดปุ่ม 🔊 ที่ภาพด้านบนเพื่อฟังรายงาน

รัฐสภาของสหพันธรัฐ ผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นเวลา 6 เดือน ให้แก่นายจ้าง ที่จ่ายเงินสมทบเงินสะสมหลังเกษียณ หรือเงินซุเปอร์แรนนูเอชันให้แก่ลูกจ้างไม่ครบ หากนายจ้างออกมายอมรับและจ่ายเงินส่วนที่ขาดไปให้ลูกจ้าง

แต่หลายฝ่ายแย้งว่า กฎหมายนี้จะไม่แก้ไขปัญหาที่ต้นตอ และการนิรโทษกรรมนี้เป็นแค่ส่วนเล็กๆ ของปัญหา ซึ่งแท้จริงแล้วเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย

คุณโบ มาโลน เป็นช่างไฟฟ้าที่ทำงานด้านนี้มานานเกือบ 20 ปีแล้ว

เขาได้ทำงานให้กับบริษัทแห่งหนึ่งมาเกือบปี ก่อนที่บริษัทแห่งนั้นจะประสบปัญหาการเงินย่ำแย่ในปี 2009 หลังจากนั้น เขาได้ทราบว่าบริษัทไม่ได้จ่ายเงินสมทบเงินสะสมหลังเกษียณให้เขาตามที่กฎหมายกำหนด และเขาก็ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะติดตามเงินนั้นคืน

“คาดว่าบริษัทติดหนี้ผมอยู่ 7,000 ดอลลาร์ ซึ่งบริษัทไม่ได้จ่ายให้ผมในตอนนั้น และผมก็ไม่เคยได้เงินนั้นคืนเลย หากผมได้เงินส่วนนี้ตั้งแต่แรก มันอาจกลายเป็นเงินกว่า 28,000 ดอลลาร์เมื่อผมเกษียณ ซึ่งมันเหมือนเป็นรอยบุ๋มรอยใหญ่สำหรับครอบครัวที่มีรายได้จากทางเดียวอย่างผม” คุณมาโลน กล่าว

เขาไม่ใช่คนเดียวที่ประสบปัญหานี้ ยังมีลูกจ้างอีกมากมายที่พบปัญหาเดียวกัน

คาดกันว่า ลูกจ้าง 1 ใน 3 คนที่มีสิทธิได้รับเงินสมทบเงินเก็บหลังเกษียณจากนายจ้าง กำลังได้รับเงินส่วนนั้นไม่ครบ

โดยเฉลี่ยแล้ว เงินที่ขาดไปต่อลูกจ้าง 1 คนอยู่ที่กว่า 2,000 ดอลลาร์
Waiter
คาดกันว่า ลูกจ้าง 1 ใน 3 คนที่มีสิทธิได้รับเงินสมทบเงินเก็บหลังเกษียณจากนายจ้าง กำลังได้รับเงินส่วนนั้นไม่ครบ Source: Unsplash Kate Townsend
รัฐบาลสหพันธรัฐของออสเตรเลีย กล่าวว่า รัฐบาลต้องการติดตามเงินเหล่านั้นบางส่วนคืน ผ่านร่างกฎหมายที่นิรโทษกรรมให้แก่นายจ้างเป็นเวลา 6 เดือน โดยจะเป็นการนิรโทษกรรมให้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

นางเจน ฮูม รัฐมนตรีช่วยที่ดูแลด้านเงินสะสมหลังเกษียณ หรือที่เรียกกันว่าเงินซุเปอร์แรนนูเอชัน หรือเรียกสั้นๆ ว่าเงินซุเปอร์ กล่าวว่า รัฐบาลคาดว่าจะได้เเงินกว่า 160 ล้านดอลลาร์คืนให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งหากไม่มีกฎหมายนี้ลูกจ้างเหล่านั้นคงไม่มีโอกาสได้เงินซุเปอร์จากนายจ้างคืน

“บางครั้ง คุณอาจพบว่านายจ้างจ่ายเงินซุเปอร์แรนนูเอชันเป็นจำนวนที่ไม่ถูกต้องอย่างไม่ตั้งใจ บางครั้งอาจเป็นความจงใจ หรือทำไปอย่างชั่วร้าย แต่ส่วนใหญ่แล้ว นายจ้างต่างต้องการโอกาสที่จะทำดีต่อลูกจ้าง แต่บทลงโทษนั้นสูงมาก และมันทำให้พวกเขาไม่กล้าออกมายอมรับผิด” นางฮูม รัฐมนตรีช่วยที่ดูแลด้านเงินซุเปอร์ กล่าว

นายจ้างที่ออกมายอมรับผิดในช่วงที่มีการนิรโทษกรรมให้นั้น จะต้องจ่ายเงินซุเปอร์ที่จ่ายไม่ครบให้แก่ลูกจ้าง พร้อมดอกเบี้ยอีกร้อยละ 10

แต่อย่างไรก็ตาม นายสตีเฟน โจนส์ โฆษกด้านบริการทางการเงินของพรรคแรงงาน กล่าวว่า กฎหมายใหม่นี้ปล่อยให้ธุรกิจที่ไม่มีคุณธรรมทำผิดได้โดยไม่ต้องรับบทลงโทษ

“มันเป็นเพียงน้ำหยดเดียวในมหาสมุทร เมื่อเทียบกับเงินซุเปอร์ที่จ่ายไม่ครบราว 6,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งไม่ได้เข้าไปอยู่ในบัญชีเงินซุเปอร์แรนนูเอชันของประชาชน” นายโจนส์ ของพรรคฝ่ายค้านกล่าว
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ATO Tax Talk: เงินเกษียณ (ซูเปอร์แอนนูเอชัน)

เมื่อปีที่แล้ว บริษัทขนาดใหญ่บางแห่ง ร่วมทั้งบริษัทบัญชี อี-วาย (E-Y) เวสฟาร์เมอร์ (Wesfarmers) และนิวส์ คอร์ป (News Corp) ออกมายอมรับว่าจ่ายเงินซุเปอร์ให้แก่ลูกจ้างไม่ครบ

นายแมท ลินเดน รองประธานกรรมการบริหารของ อินดัสตรี ซุเปอร์ ออสเตรเลีย กล่าวว่า กฎหมายใหม่นี้ไม่กว้างขวางเพียงพอที่จะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายใหญ่โต ของการจ่ายเงินซุเปอร์ให้ลูกจ้างไม่ครบในออสเตรเลีย

“ปัญหาหลักคือ กฎหมายนี้ไม่ได้แก้ไขที่ต้นตอของการจ่ายเงินให้ไม่ครบเหล่านี้ และขณะนี้ นายจ้างสามารถเก็บเงินซุเปอร์ที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเอาไว้ก่อน 3-4 เดือน แทนที่จะนำเข้าบัญชีเงินซุเปอร์ของลูกจ้างทันที” นายลินเดน กล่าวถึงปัญหา

ขณะเดียวกัน คุณโบ มาโลน รู้สึกปลงแล้วกับการสูญเสียเงินซุเปอร์ของเขาไป แต่เขาก็ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นระบบ เพื่อพยายามทำให้แน่ใจได้ว่า จะไม่เกิดเรื่องนี้ขึ้นอีกในอนาคต

“จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย และผมคิดว่า แน่นอนทีเดียว ที่จะต้องกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินให้ลูกจ้างเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งนั่นจะเป็นโบนัสสำหรับคนทำงานชาวออสเตรเลียด้วย” คุณมาโลน แสดงความเห็น

ฟังรายละเอียดเรื่องนี้เป็นภาษาอังกฤษจากเอสบีเอส นิวส์ ได้
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 



Share