This article is more than 1 year old
ชาวออสเตรเลียเป็นโรคภูมิแพ้อาหารมากขึ้น คุณจะต้องระวังอย่างไร
ปัจจุบันพบว่าในออสเตรเลียมีผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มากขึ้นเรื่อยๆ ผลการวิจัยล่าสุดเปิดเผยสถิติทารกที่มีอาการแพ้นมวัวและเม็ดมะม่วงหิมพานต์
Published 24 August 2023 11:52am
By Emma Brancatisano
Presented by Chayada Powell
Source: SBS
Image: ด.ญ เอมิลี ลูกสาวของคุณเวียตและคุณไล ผู้ที่มีอาการแพ้อาหารหลายชนิด (Supplied / Vivienne Lai)
ด.ญ เอมิเลีย ลูกสาวของวิเวียน ไล ป่วยด้วยอาการแพ้อาหารตั้งแต่เล็ก ซึ่งเหมือนกับเด็กจำนวนมากในออสเตรเลีย ในปีแรกที่วิเวียนกลับไปทำงาน เธอได้รับโทรศัพท์จากสถานรับเลี้ยงเด็กเป็นประจำ
เธอบอกกับเอสบีเอสนิวส์ว่า
“ฉันได้รับโทรศัพท์แทบทุกสัปดาห์โดยสถานรับเลี้ยงเด็กแจ้งว่าเธอมีอาการแพ้บางอย่าง และนั่นทำให้ฉันต้องลางานทุกครั้งที่ได้รับสาย”
ด.ญ เอมิเลียหรือเอ็มมี ตอนนี้อายุได้ 2 ขวบครึ่งแล้ว และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นภูมิแพ้หลายอย่าง เช่น ถั่วลิสง นมวัว ไข่ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และถั่วพิสตาชิโอ
คุณ วิเวียน ไล กล่าวว่าอาการแพ้ของลูกสาวเธอ “แตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่” เนื่องจากเธอไม่ได้มีอาการแพ้แต่กำเนิด
“เธอสามารถทนต่อสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้ได้ในช่วงสองสามเดือนแรก จนกระทั่งก่อนที่เธอจะอายุครบขวบ เราพบอาการแพ้ดังกล่าว”
“เมื่ออยู่ๆ เธอเกิดอาการแพ้ มันทำให้เราตกใจ เราเกิดความสงสัยและเป็นกังวล”
Vivienne Lai with her husband Viet and daughter Emilia. Source: Supplied / Vivienne Lai
โดยปกติแล้ว เอมี่ จะมีอาการลมพิษขึ้นบริเวณปาก หน้าอก และหลัง แต่ถ้าเกิดอาการแพ้รุนแรงก็จะมีอาการบวมที่มือหรือเท้าด้วย
อย่างไรก็ตาม โชคดีที่เธอยังไม่ได้ป่วยเป็นภาวะภูมิแพ้รุนแรง(anaphylaxis) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาภูมิแพ้ประเภทที่รุนแรงและเฉียบพลันและต้องได้รับการรักษาทันที ในตอนนี้สุขภาพของดูเหมือนจะเริ่มดีขึ้น
แต่ประสบการณ์ที่คุณไลเคยเจอนั้น เธอเล่าว่ามัน"น่ากลัว" และ "น่าวิตกกังวล"
“ดูเหมือนว่าเราจะสามารถป้องกันการเกิดอาการแพ้ได้บ้างแล้ว มันเป็นเรื่องที่เรายังต้องหาทางยับยั้งก่อนที่มันจะเกิดขึ้น”
การวิจัยล่าสุดเผยอัตราการแพ้อาหารในทารก
ผลวิจัยล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี ได้เปิดเผยสถิติของจำนวนทารกในออสเตรเลียที่มีอาการแพ้เม็ดมะม่วงหิมพานต์และนมวัวซึ่งพบเป็นครั้งแรก
จากการวิจัย 2 ฉบับที่นำโดยสถาบันวิจัยเด็กเมอร์ด็อกในนครเมลเบิร์น พบว่าจากการสำรวจทารก1,900 คน ในช่วงอายุ 1 ขวบนั้น ร้อยละ 1.4 มีอาการแพ้เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และร้อยละ 1.3 มีอาการแพ้นมวัว เมื่อเปรียบเทียบกับการวิจัยก่อนหน้านี้ซึ่งพบว่าร้อยละ 3.1 ของทารกได้รับการวินิจฉัยว่าแพ้ถั่วลิสง
การวิจัยโรคภูมิแพ้เม็ดมะม่วงหิมพานต์นี้นำโดยดร. ทิม เบรตทิก แพทย์วิจัยอาวุโสจากสถาบันวิจัยเด็กเมอร์ด็อก และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยาในเด็กที่โรงพยาบาลเด็กรอยัล ในเมลเบิร์น
กล่าวว่าผลการวิจัยนี้ตอกย้ำความเชื่อที่ว่าการแพ้เม็ดมะม่วงหิมพานต์ก็เหมือนกับการแพ้อาหารส่วนใหญ่ที่คาดว่าจะเริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นของชีวิต
วิธีการที่เราเคยใช้กันมาคือการให้เด็กรับประทานอาหารประเภทถั่วในตอนที่โตแล้ว แต่ตอนนี้เราทราบจากการวิจัยหลายชิ้นว่าการให้ทางอาหารประเภทถั่วตั้งแต่ยังเล็กนั้นมีความสัมพันธ์กับอัตราการแพ้ที่ลดลงดร. ทิม เบรตทิก ชี้
“สำหรับผู้ปกครองหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ เราสามารถใช้หลักฐานการวิจัยดังกล่าว มาเป็นแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการกับเด็กที่มีอาการแพ้อาหาร”
ส่วน ดร.วิกตอเรีย โซเรียโน จากสถาบันวิจัยเด็กเมอร์ด็อก ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัยฉบับที่สอง กล่าวว่าทั้งนมวัวและเม็ดมะม่วงหิมพานต์นั้นเป็นที่รู้กันดีว่าเป็นอาหารที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยที่สุดในทารกและเด็กเล็ก โดยสถิติการแพ้จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
ดร. โซเรียโนกล่าวว่า
“อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดที่มีอาการการแพ้นมและเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่ได้รับการรับรองในออสเตรเลีย ทำให้การค้นพบนี้มีความสำคัญสำหรับการวิจัยในอนาคตว่าเราจะป้องกันได้อาการแพ้นี้อย่างไร”
จำนวนผู้ที่มีอาการการแพ้อาหารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในออสเตรเลีย
โรคภูมิแพ้เป็นโรคภาวะเรื้อรังที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มากที่สุดโรคหนึ่งในออสเตรเลีย โดยส่งผลกระทบต่อประชากรประมาณหนึ่งในห้า ตามรายงานของสำนักงานยุทธศาสตร์ด้านอาการแพ้แห่งชาติ ( National Allergy Strategy)
โดยโครงการนี้เริ่มต้นโดย สมาคมวิจัยภูมิคุ้มกันและอาการแพ้แห่งออสเตรเลีย (Australasian Society of Clinical Immunology and Allergy (ASCIA) โดยอยู่ภายใต้องค์กรที่ดูแลเรื่องนี้คือ สภาโรคภูมิแพ้และอาการแพ้รุนแรงเฉียบพลันแห่งออสเตรเลีย (Allergy & Anaphylaxis Australia (A&AA)
อาการภูมิแพ้อาจรวมถึงการแพ้อาหาร แมลง และยา รวมถึงโรคหอบหืดที่เกิดจากภูมิแพ้ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (ไข้ละอองฟาง) และอาการแพ้ที่เกิดผดผื่นคัน (eczema)
จากรายงานของ ASCIA ในปี 2013 ระบุว่าภายในปี 2050 จำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคภูมิแพ้ในออสเตรเลียจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 70 ซึ่งจะมีจำนวนผู้ป่วยโรคนี้ 7.7 ล้านคน
คุณ มาเรีย ซาอิด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ A&AA และผู้อำนวยการสภาโรคภูมิแพ้แห่งชาติ กล่าวว่าคนแพ้อาหารมีจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา
คุณ เซด เปิดเผยว่า
ในช่วงทศวรรษ 1990 คนไม่ค่อยป่วยด้วยโรคนี้ แต่ตอนนี้มันเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป เรามีเด็กแพ้อาหารในห้องเรียนทุกห้องคุณ มาเรีย ซาอิด อิด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ A&AA และผู้อำนวยการสภาโรคภูมิแพ้แห่งชาติ เปิดเผยข้อมูล
ด้าน ดร. เบรตทิกเห็นด้วยว่า
“เราพบอัตราการแพ้อาหารที่เพิ่มขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วจำนวนมาก โดยเฉพาะประเทศที่มีวัฒนธรรมตะวันตก”
จากตัวเลขสถิติของสำนักงานยุทธศาสตร์ระดับชาติพบว่า ทารกประมาณหนึ่งในสิบในออสเตรเลียมีการแพ้อาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในสถิติที่สูงที่สุดในโลก โดยเด็กอายุ 10 - 14 ปี จะมีสถิติการแพ้อยู่ที่ 1 ใน 20 คน และผู้ใหญ่ 50 คนจะมีผู้ที่ป่วยด้วยอาการแพ้อาหาร 1 คน
อะไรเป็นสาเหตุของการแพ้อาหารที่เพิ่มขึ้น?
ในขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
ดร. เบรตทิก กล่าวว่า
“เรามีแนวคิดบางประการที่มันอาจส่งอิทธิพลต่อตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของโรคภูมิแพ้ ซึ่งเราคิดว่ามันเกิดจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมหลายอย่างรวมกัน เช่น การบริโภควิตามินดี เป็นต้น”
การวิจัยของ ดร. เบรตทิก ยังพบว่าอาการแพ้ที่เกิดผดผื่นคันและการแพ้ถั่วลิสงมีความเชื่อมโยงกับการแพ้เม็ดมะม่วงหิมพานต์
ส่วน ดร.โซเรียโนระบุว่า ทารกที่มีประวัติครอบครัวแพ้อาหารและพ่อแม่ที่เกิดในเอเชียตะวันออก จะมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคภูมิแพ้นมวัวและอาการผื่นคัน
ดร. เบรตทิก กล่าวว่าการวิจัยกำลังพิจารณาว่าการควบคุมปัจจัยเสี่ยงและความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมสามารถลดอัตราการแพ้ได้หรือไม่
“แต่ในขั้นตอนนี้ข้อสันนิษฐานดังกล่าวยังไม่ได้รับการพิสูจน์”
การติดฉลากอาหารในออสเตรเลีย
เนื่องจากอาการแพ้อาหารส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากถั่วลิสง ถั่วเปลือกแข็ง นม ไข่ เมล็ดงา ปลาและหอย ถั่วเหลือง ถั่วลูปิน และข้าวสาลี
ตามประมวลมาตรฐานอาหารของออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ กำหนดไว้ว่าบนฉลากอาหารต้องมีการเขียนส่วนประกอบไว้
อาหารทั้งหมดที่จำหน่ายในทั้งสองประเทศจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้องที่กำหนดโดยมาตรฐานอาหารออสเตรเลียนิวซีแลนด์ (FSANZ) และจะมีหน่วยงานกำกับดูแลของแต่ละรัฐดูแลอยู่
คุณซาอิดเชื่อว่ากฎหมายของออสเตรเลียมีความเข้มงวดเกี่ยวกับการติดฉลากสารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อยที่สุด แต่เธอตั้งคำถามว่าเรามีการเฝ้าระวังเพียงพอหรือไม่
“โดยส่วนใหญ่แล้ว เรารอให้ผู้คนมีอาการแพ้ก่อนจะพบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้แสดงส่วนประกอบของอาหารนั้นบนฉลากอย่างถูกต้อง” อย่างไรก็ตาม เรายินดีที่ปัจจุบันรัฐบาลมีการตรวจสอบมากขึ้นและมีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากไม่ถูกต้อง”
จากข้อมูลของ FSANZ พบว่าในแต่ละปีสาเหตุที่มีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์อาหารเนื่องมาจากการไม่ได้แสดงสารก่อภูมิแพ้บนฉลาก
โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2522 ถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2523 มีการเรียกคืนสินค้า 141 ครั้งในออสเตรเลีย โดยร้อยละ 43 เกิดจากการพบสารก่อภูมิแพ้ที่ไม่ได้แสดงบนฉลาก
และตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา จำนวนการเรียกคืนสินค้าโดยเฉลี่ยต่อปีจากเหตุผลนี้อยู่ประมาณร้อยละ 44
The number of food recalls from 2013 to 2022 due to undeclared allergens (by allergen). Source: SBS
จากการเรียกคืนผลิตภัณฑ์อาหาร 346 รายการระหว่างปี 2013 ถึง 2022 สารก่อภูมิแพ้ที่ไม่ได้ประกาศที่พบบ่อยที่สุดคือนม (ร้อยละ 30) สารก่อภูมิแพ้หลายชนิด (ร้อยละ 18) และถั่วลิสง (ร้อยละ 15)
ทำให้ในปี 2021 มีการแก้ไขกฎใหม่สำหรับการติดฉลากสารก่อภูมิแพ้ในอาหาร โฆษกของ FSANZ กล่าวว่า
“การเปลี่ยนแปลงนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้ข้อมูลสารก่อภูมิแพ้บนฉลากอาหารมีความชัดเจนและสอดคล้องกันมากขึ้น โดยกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ต้องแสดงข้อมูลสารก่อภูมิแพ้ในรูปแบบและตำแหน่งเฉพาะบนฉลากอาหารโดยใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษเฉพาะเจาะจง เรียบง่าย”
The number of food recalls from 2013 to 2022 due to undeclared allergens (by food type). Source: SBS
ซึ่งสินค้าเหล่านี้อาจจะผลิตโดยโรงงานผลิตอาหารที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของหลักจรรยาบรรณ
คุณซาอิด มีความเห็นว่าข้อความเหล่านี้หรือที่เรียกว่าข้อควรระวังในการติดฉลากสารก่อภูมิแพ้แบบนี้ (PAL) เป็นเรื่องที่น่ากังวล
“บริษัทสามารถเลือกได้ว่าจะใส่คำเตือนเช่นนี้หรือไม่ก็ได้ และผู้บริโภคไม่มีทางบอกได้ว่ามีการประเมินความเสี่ยงอย่างละเอียดแล้วหรือยัง”
“นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่เราได้แจ้งต่อรัฐบาลและอุตสาหกรรมอาหารไปแล้ว”
“ปัจจุบัน FSANZ ยังไม่มีแผนที่จะนำข้อกำหนดสำหรับการติดฉลากสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นข้อควรระวังมาไว้ในหลักปฏิบัติ” โฆษก FSANZ กล่าวว่าสำนักงานสารก่อภูมิแพ้ได้พัฒนาแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้ PAL
การติดฉลากผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้า
นักวิจัยยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการติดฉลากอย่างไม่ถูกต้องของผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้า
เมื่อหลายปีก่อน ดร. แอนเดรียส โลพาตา ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเจมส์ คุก ได้ทำการศึกษาโดยทดสอบสินค้าบรรจุกล่อง 50 รายการจากร้านขายของชำในเอเชีย 6 แห่งในนครเมลเบิร์น พบว่าผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 46 มีสารก่อภูมิแพ้ที่ไม่ได้แสดงไว้บนฉลาก โดยร้อยละ 18 มีสารก่อภูมิแพ้ที่ไม่ได้ประกาศหลายชนิด ซึ่งรวมถึงไข่ กลูเตน นม และถั่วลิสง ซึ่งบางชนิดมีความเข้มข้นสูงมาก
“พวกเขาไม่ได้เขียนฉลากให้ถูกต้อง ซึ่งจากการทดสอบพวกเขาไม่ได้แสดงส่วนประกอบที่มีของสารก่อภูมิแพ้ใดๆบนฉลาก”
ร้านค้าและผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักไม่มีฉลากที่เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบของเราศาสตราจารย์ แอนเดรียส โลพาตา ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเจมส์ คุก เปิดเผยผลการทดลอง
ดร.โลปาตากล่าวว่าในขณะนั้นผลการศึกษาที่ว่านี้ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการควบคุมอาหารนำเข้ามายังออสเตรเลียต้องตรวจสอบมากขึ้น เขาหวังว่าการศึกษานี้จะเพิ่มความตระหนักรู้และนำไปสู่ระเบียบปฏิบัติที่เข้มงวดมากขึ้น
ด้านกรมวิชาการเกษตร ประมง และป่าไม้ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการควบคุมความปลอดภัยของอาหารที่นำเข้าตามพระราชบัญญัติความปลอดภัยมาตรฐานอาหารของออสเตรเลีย จึงมีการดำเนิน "โครงการตรวจสอบชายแดนตามความเสี่ยง"
โฆษกกระทรวงกล่าวว่า
“ภายใต้โครงการนี้ อาหารที่จัดอยู่ในประเภท 'มีความเสี่ยง' จะถูกส่งตรวจสอบทั้งหมด ส่วนอาหารอื่นๆ จะถูกสุ่มตรวจสอบ”
พวกเขากล่าวว่าอาหารนำเข้าที่จำหน่ายในออสเตรเลียทั้งหมดผ่านการตรวจสอบฉลาก ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบฉลากที่เป็นภาษาอังกฤษ และการแสดงสารก่อภูมิแพ้ใดๆ ก็ตามเป็นไปตามหลักจรรยาบรรณนี้
เมื่ออาหารอยู่ในออสเตรเลียแล้ว หน่วยงานกำกับดูแลด้านอาหารของแต่ละรัฐจะติดตาม ตรวจสอบอาหารที่นำเข้า ณ จุดขายด้วย
โฆษกกล่าวว่ากระทรวงฯ ตระหนักถึงการศึกษาของ ศาสตราจารย์ โลพาตา และหน่วยงานกำกับดูแลด้านอาหารของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ติดตามกรณีดังกล่าวกับธุรกิจที่ขายอาหารนั้นๆ
“อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการทดสอบอาหารประเภทดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2017 มาถึงตอนนี้ ธุรกิจอาหารดังกล่าวเลิกทำธุรกิจหรือไม่ได้ถูกนำเข้าอีกต่อไป”
พวกเขากล่าวว่าแม้จะไม่สามารถทดสอบอาหารนำเข้าทั้งหมดเพื่อหาสารก่อภูมิแพ้ที่ไม่ได้แจ้งบนฉลาก แต่กระทรวงฯ พยายามที่จะลดความเสี่ยงผ่านการดำเนินการ เช่น การติดตามการแจ้งเตือนระหว่างประเทศ การเรียกคืนสินค้าและสอบสวนเหตุการณ์ต่างๆเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในออสเตรเลียที่ระบุโดยหน่วยงานกำกับดูแลของแต่ละรัฐ
The number of food recalls from 2013 to 2022 in Australia. Source: SBS
หากคุณมีผลิตภัณฑ์ที่ถูกเรียกคืนในครัว อย่าเปิดใช้ คุณสามารถคืนที่ร้านที่คุณซื้อได้ และโดยปกติแล้วคุณจะได้รับเงินคืนลิเดีย บุคท์มันน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของสภาข้อมูลความปลอดภัยด้านอาหาร แนะนำ
เธอเรียกร้องให้ผู้บริโภคที่พบรายการอาหารที่มีฉลากไม่ถูกต้องเก็บตัวอย่างไว้พร้อมกับบรรจุภัณฑ์
“คุณสามารถรายงานเรื่องนี้ต่อเทศบาลของคุณได้”
และหากคุณคิดว่าคุณมีอาการป่วยหลังจากบริโภคผลิตภัณฑ์ ให้ไปพบแพทย์ทันทีโดยเฉพาะผู้ที่ตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
หากคุณมีอาการแพ้ A&AA แนะนำให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ Action plan ใน ASCIA ของคุณ
หากไม่แน่ใจให้ใช้อีพิเพน (EpiPen )หรืออานาเพน (Anapen ) หากคุณไม่มี Action plan EpiPen หรือ Anapen ให้โทรเรียกรถพยาบาลที่ เบอร์โทร000
ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ A&AA หรือโทร 1300 728 000
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวที่น่าสนใจ
อยากเปลี่ยนอาชีพต้องทำอย่างไร
Share