องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และกลุ่มด้านเสรีภาพพลเมืองของไทย รวมทั้งนักวิชาการ และนักกฎหมายชั้นนำของไทย รวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัว นายฮะคีม อัล-อะไรบี นักฟุตบอลผู้ลี้ภัยชาวบาห์เรน
ในจดหมายเปิดผนึกที่ส่งถึงรัฐบาลไทย พร้อมรายชื่อผู้ร่วมลงนาม 57 รายชื่อ กล่าวว่า รัฐบาลไทยไม่ควรส่งตัวนายฮะคีม อัล-อะไรบี ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปยังประเทศบาห์เรน เนื่องจากเหตุผลทางกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน 2 ประการ และเรียกร้องให้อนุญาตให้ประกันตัวนายอัล-อะไรบี ได้
นายอัล-อะไรบี วัย 25 ปี กำลังถูกทางการไทยควบคุมตัวไว้ ขณะรอการขึ้นศาลในเดือนเมษายนนี้ เพื่อตัดสินว่าเขาจะถูกส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปยังบาห์เรนหรือไม่ ซึ่งที่บาห์เรนนั้นเขาถูกศาลตัดสินจำคุก 10 ปีในการตัดสินลับหลังจำเลย ในข้อหาทำลายทรัพย์สินของสถานีตำรวจแห่งหนึ่งในปี 2012
เขาถูกทางการไทยควบคุมตัวไว้ ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. จากการร้องขอของบาห์เรน
นายอัล-อะไรบี อ้างว่าเขากำลังลงแข่งขันฟุตบอลที่มีการถ่ายทอดสดการแข่งขันอยู่ในขณะที่การโจมตีสถานีตำรวจเกิดขึ้น และเขาได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่า กรณีที่เขาถูกทางการไทยจับกุมตัวก่อให้เกิดความไม่พอใจเป็นวงกว้างในชุมชนกีฬา ทั้งในออสเตรเลียและระดับนานาชาติ
กลุ่มสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่รวมตัวกันเขียนจดหมายเปิดผนึก อ้างถึง พระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551 ของไทย ที่กลุ่มกล่าวว่า ทำให้ไทยไม่ควรส่งตัวนายอัล-อะไรบีให้บาห์เรน เนื่องจากการส่งผู้ร้ายข้ามแดน “ต้องมิใช่ความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง”
หลังจากที่เขาถูกทางการบาห์เรนจับกุมตัวและอ้างว่าเขายังถูกทรมานด้วย จากนั้น นายอัล-อะไรบี ได้ออกมากล่าวโจมตี ชีค ซาลมาน อัลคาลิฟา ซึ่งเป็นสมาชิกราชวงศ์บาห์เรน ที่ขณะนั้นเป็นหัวหน้าสมาคมฟุตบอลบาห์เรน ที่ไม่ยอมสนับสนุนและช่วยเหลือเขา
จดหมายเปิดผนึกดังกล่าว ระบุว่า นายอัล-อะไรบี ถูกประหัตประหาร อันเป็นผลมาจากข้อกล่าวหาเกี่ยวพันธ์กับการที่เขา “คัดค้าน หรือตำหนิรัฐบาลบาห์เรน แม้ว่าเขาจะถูกกล่าวหาในความผิดฐานอื่นด้วย แต่ข้อกล่าวหาดังกล่าวก็เกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับความผิดทีมีลักษณะทางการเมือง”
ในจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ ยังระบุด้วยว่า ภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ห้ามไม่ให้รัฐบาลไทยส่งบุคคลกลับ หรือส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศใดๆ หากมีเหตุอันน่าเชื่อถือว่า “บุคคลนั้นจะได้รับอันตรายจากการถูกประหัตประหาร ถูกทรมาน หรือได้รับการปฏิบัติที่โหดร้าย หรือถูกคุกคาม เอาชีวิต”
“ดังนั้น เมื่อปรากฏว่านายฮาคีมเคยถูกซ้อมทรมานและถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมในประเทศบาห์เรนมาแล้ว จึงมีเหตุอันควรเชื่อหรือความเสี่ยงที่หากเขาถูกส่งตัวกลับไป อาจจะถูกซ้อมทรมานหรือปฏิบัติที่โหดร้ายเช่นเดิมได้” เนื้อความในจดหมายเปิดผนึกระบุ
นอกจากนี้ ในจดหมายยังอ้างว่า ตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 นั้น พนักงานอัยการสามารถถอนฟ้องคดีได้ เนื่องจากกรณีของนายอัล-อะไรบีไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน หรือมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ
ผู้ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวมีทั้ง สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สหภาพแรงงาน และนักวิชาการด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน รวมเกือบ 60 รายชื่อ
นายแดนทอง บรีน (Danthong Breen) จากสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ผู้ดำเนินการรวบรวมรายชื่อแนบท้ายและจัดทำจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ กล่าวว่า จดหมายฉบับนี้มีความพิเศษตรงที่เป็นความพยายามร่วมกันของกลุ่มเอ็นจีโอท้องถิ่นในประเทศไทย และไม่ได้ถูกผลักดันจากกลุ่มสิทธิสากล เช่น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือฮิวแมนไรท์วอทช์
อย่างไรก็ตาม สำนักงานอัยการสูงสุดของประเทศไทยยืนกรานเมื่อวันพุธ (6 ก.พ.) ว่า กรณีของนายอัล-อะไรบีในศาลจะเดินหน้าต่อไป และมีแนวโน้มว่านักฟุตบอลผู้ลี้ภัยผู้นี้จะถูกควบคุมตัวต่อไปจนถึงอย่างน้อยเดือนสิงหาคม
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ออสเตรเลียลั่นไม่ได้ออกหมายแดงจับฮะคีม
ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.