“มันไม่ถูก”: เครก ฟอสเตอร์นำชาวออสเตรเลียประท้วงให้ปล่อยตัวฮะคีม

NEWS: ในวันแข่งขันนัดชิงชนะเลิศฟุตบอล เอเชียนคัพ มีการชุมนุมประท้วงทั้งที่ซิดนีย์และเมลเบิร์น เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวนักฟุตบอลผู้ลี้ภัยชาวบาห์เรนจากเมลเบิร์น

นายเครก ฟอสเตอร์ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติออสเตรเลีย นำผู้คนประท้วงที่ซิดนีย์ เรียกร้องให้ปล่อยตัวฮะคีม อัล-อะไรบี (SBS)

นายเครก ฟอสเตอร์ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติออสเตรเลีย นำผู้คนประท้วงที่ซิดนีย์ เรียกร้องให้ปล่อยตัวฮะคีม อัล-อะไรบี Source: SBS News

You can read the full article in English

ชาวออสเตรเลียจำนวนหนึ่งได้ชุมนุมประท้วงที่ซิดนีย์และเมลเบิร์น ในวันนี้ (ศุกร์ 1 ก.พ.) เพื่อเรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวนายฮะคีม อัล-อะไรบี นักฟุตบอลผู้ลี้ภัยชาวบาห์เรน ออกจากเรือนจำในทันที

นักฟุตบอลผู้ลี้ภัยวัย 25 ปีผู้นี้ ถูกทางการไทยควบคุมตัวไว้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเขาถูกกักตัวไว้ที่กรุงเทพมหานคร ขณะเดินทางไปยังประเทศไทยเพื่อพักผ่อน แต่ถูกจับเนื่องจากหมายจับสีแดงของตำรวจสากล หรืออินเตอร์โพล ที่ออกหมายอย่างไม่ถูกต้องจากบาห์เรน ประเทศบ้านเกิดของเขา

ต่อมาหมายจับดังกล่าวถูกถอนออกไป เนื่องจากตามนโยบายของอินเตอร์โพล ระบุว่าไม่อนุญาติให้ออกหมายจับสีแดงเพื่อจับกุมตัวผู้ลี้ภัย และผู้ขอลี้ภัยได้ หากหมายจับดังกล่าวเป็นการร้องขอจากประเทศที่บุคคลเหล่านั้นเกรงว่าหากกลับไป จะถูกทารุณกรรม
“นี่เป็นการแสดงให้โลกเห็นวันนี้ว่าออสเตรเลียใส่ใจกับเรื่องนี้มากเพียงใด” นาย เครก ฟอสเตอร์ อดีตนักฟุตบอลกัปตันทีมชาติออสเตรเลีย กล่าวในการชุมนุมประท้วงที่นครซิดนีย์

“ความรู้สึกของประเทศนี้พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และประเทศไทยควรต้องรู้ว่า จะมีผลสะท้อนกลับตามมา สำหรับการตัดสินใจใดๆ ของไทยที่ตรงข้ามกับกฎหมายสากล”

“นี่ไม่ใช่แค่นักกีฬาอายุน้อย ผู้ลี้ภัยอายุน้อย ที่ไม่ได้พบภรรยาของเขามานาน 2 เดือน -แต่เขาคือผู้รอดชีวิตจากการทรมาน นี่มันไม่ถูกต้อง”

นายฟอสเตอร์ กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยนั้นหวังจะได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในอนาคต

“หากคุณส่งฮะคีมเข้าสู่ระบบศาล และทำให้เขาต้องอยู่ที่นั่นนาน 2-3 ปีแล้วละก็ เราเห็นว่าคุณก็ไม่สามารถเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกได้ และเราจะคัดค้านเรื่องนี้อย่างหนัก” นายฟอสเตอร์ ระบุ

“หากคุณต้องการเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลก แต่คุณไม่สามารถรับรองความปลอดภัยของบรรดานักฟุตบอลได้ ก็เห็นได้ชัดว่าคุณไม่มีความสามารถที่จะเป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ที่สำคัญ”
Protesters at the Sydney rally.
Protesters at the Sydney rally. Source: SBS News
นายฟอสเตอร์ เพิ่งเดินทางกลับมาถึงซิดนีย์เมื่อเช้าวันศุกร์นี้ หลังเดินทางไปยังประเทศไทย เพื่อพยายามรณรงค์ให้บุคคลในคณะรัฐบาลไทยและสมาคมฟุตบอลต่างๆ ในประเทศไทย ช่วยกันเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายอัล-อะไรบี

“เราจำเป็นต้องผลักดันอย่างหนักตอนนี้” นายฟอสเตอร์ กล่าวที่สนามบินซิดนีย์

“การที่เรื่องนี้อาจเข้าสู่การพิจารณาทางกฎหมาย เราจึงจำเป็นต้องผลักดันกันอย่างหนักขณะนี้ เราต้องผลักดันให้ไทยทำในสิ่งที่ถูกต้องตอนนี้ เราไม่สามารถทนเห็นเขาต้องรอคอยการพิจารณาในศาลเป็นเวลาหลายปีได้”

การประท้วงดังกล่าวมีกำหนดให้ตรงกับวันแข่งขันนัดชิงชนะเลิศฟุตบอล เอเชียนคัพ ที่กำลังมีขึ้นในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ประเทศบาห์เรน อ้างว่า นายอัล-อะไรบี ได้ทำลายทรัพย์สินของสถานีตำรวจแห่งหนึ่ง ระหว่างเหตุการณ์อาหรับสปริง ในปี 2012 แม้ว่าจะมีหลักฐานยืนยันว่านักฟุตบอลผู้นี้กำลังลงเล่นในการแข่งขันฟุตบอลที่ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ในช่วงเวลาที่มีการกล่าวหาว่าเขาก่ออาชญากรรมที่ว่า จากนั้น เขาถูกศาลตัดสินลับหลังจำเลย ให้จำคุกเขาเป็นเวลา 10 ปี

การประท้วงที่เกิดขึ้นในซิดนีย์ และเมลเบิร์นนี้ มีขึ้นก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย มีกำหนดจะแถลงข่าว ซึ่งคาดว่าอาจมีการกล่าวถึงกรณีของนายอัล-อะไรบี ด้วย

ระหว่างการประท้วง นายฟอสเตอร์ กล่าวว่า รัฐบาลไทยรู้ดีว่า “กำลังมีเสียงประณามไทยเพิ่มมากขึ้น” และเขาหวังว่าจะได้ข่าวดีเกี่ยวกับนายฮะคีม อัล-อะไรบี เร็วๆ นี้

“มันไม่ใช่แค่เรื่องฟุตบอลเท่านั้น มันเป็นเรื่องของความปลอดภัยของผู้ลี้ภัย และนี่ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศ” นายฟอสเตอร์ ย้ำ
Melbourne rally to save Mr. Al-Araibi
ประชาชนในเมลเบิร์นรวมตัวกันเรียกร้องให้ไทยปล่อยตัวนักฟุตบอลผู้ลี้ภัยชาวบาห์เรน ที่ถูกควบคุมตัวไว้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2018 (SBS Thai) Source: SBS Thai
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีมหาดไทยของประเทศบาห์เรน ยืนยันว่าบาห์เรนได้ส่งหนังสืออย่างเป็นทางการเรียกร้องขอให้ไทยส่งตัวนายอัล-อะไรบีในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่บาห์เรน

ชีค ราชิด บิน อับดุลลาห์ อัล คาลิฟา รัฐมนตรีมหาดไทย กล่าวตำหนิฝ่ายต่างๆ ที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวนายอัล-อะไรบี และประณามการแทรกแซงจากภายนอกว่าเป็นสิ่งที่ “ยอมรับไม่ได้”

“ผู้ที่ตั้งข้อครหาอย่างไม่มีมูลเกี่ยวกับความซื่อสัตย์และการไม่ขึ้นต่อผู้ใดของระบบศาลยุติธรรมของราชอาณาจักร ไม่เพียงแต่จะเป็นการก้าวก่าย แต่ยังพยายามแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมด้วย” เขารัฐมนตรีมหาดไทยบาห์เรน กล่าวในแถลงการณ์

นายฟอสเตอร์ กล่าวว่า เขาพอใจที่รัฐบาลออสเตรเลีย กำลังพยายามอย่างหนักที่จะให้มีการปล่อยตัวนายอัล-อะไรบี แต่กล่าวว่า “ขณะนี้ถึงเวลาที่จะต้องกดดันเพิ่มมากขึ้น”

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ยืนยันว่า รัฐบาลออสเตรเลียจะ “ผลักประตูทุกบานให้เปิดออก” เพื่อให้นายอัล-อะไรบีได้รับการปล่อยตัว

นายมอร์ริสัน ได้ส่งจดหมายถึง นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ของไทย เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ

“มันไม่ใช่งานของผมที่จะโกรธเคือง แต่งานของผมคือนำฮะคีมกลับบ้านให้ได้” นายมอร์ริสัน บอกกับ ทูจีบี (2GB)

“เรากำลังประสานงานอย่างใกล้ชิดกับไทย นี่เป็นประเด็นทางการทูตที่อ่อนไหวมาก”

ด้าน นางนันทนา ศิวะเกื้อ เอกอัครราชทูตไทย ประจำสถานทูตไทย ณ กรุงแคนเบอร์รา บอกกับ เอสบีเอส ไทย ว่าเจ้าหน้าที่สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองของไทย ได้กักตัวนายฮะคีม อัล-อะไรบีไว้ โดยเป็นการดำเนินการต่อการแจ้งหมายแดง ซึ่งทางการไทยได้รับการแจ้งเตือนจากสำนักงานกลางตำรวจสากลแห่งชาติของออสเตรเลีย
Hakeem AlAraibi (left) and Thai Ambassador Nantana Sivakua (right)
นายฮะคีม อัล-อะไรบี นักฟุตบอลผู้ลี้ภัยชาวบาห์เรน (ซ้าย) นางนันทนา เอกอัครราชทูตไทย ประจำสถานทูตไทย กรุงแคนเบอร์รา (ขวา) AAP/Supplied Source: AAP
ประกอบกับไทยได้รับคำร้องขอจากรัฐบาลบาห์เรน เพื่อขอให้ไทยจับกุมและส่งตัวนายอัล-อะไรบี ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน กลับไปยังบาห์เรน เนื่องจากเป็นผู้หลบหนีคดีการก่อวินาศกรรมตามกฎหมายบาห์เรน จึงทำให้เจ้าหน้าที่ของไทยกักตัวนายอัล-อะไรบี ไว้

แต่เมื่อทางการออสเตรเลียได้ถอนหมายแดงออกจากระบบของอินเตอร์โพลแล้ว เนื่องจากนายอัล-อะไรบี ได้รับสถานภาพผู้ลี้ภัยจากออสเตรเลียตั้งแต่ปี 2016 เหตุใดทางการไทยจึงยังไม่ปล่อยตัวเขากลับบ้านที่ออสเตรเลีย นางนันทนา ชี้แจงว่า

“เดิมเมื่อเราได้รับแจ้งหมายแดงที่จับนายอัล-อะไรบี กว่าจะถอนหมายแดงออกนั้น ใช้เวลาหลายวัน เมื่อเข้ากระบวนการของการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากหมายแดงของอินเตอร์โพลอันแรก ที่เราได้รับแจ้งจากออสเตรเลียและคำขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนของทางการบาห์เรน ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายที่ถูกต้อง เมื่อตำรวจจับไปแล้ว เมื่อมีการมาแจ้งถอนหมายแดงภายหลังจากที่เริ่มกระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถนำการถอนหมายแดงไปยุติกระบวนการทางกฎหมายได้ นี่คือเหตุผล”

นางนันทนา เอกอัครราชทูตไทย ประจำสถานทูตไทย กรุงแคนเบอร์รา กล่าวต่อไปว่า การที่ไทยจะส่งตัวนายอัล-อะไรบี ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่รัฐบาลบาห์เรนหรือไม่  จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลไทย ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลไทย หรือฝ่ายใด ก็ไม่สามารถแทรกแซงได้

“ขณะนี้ ยังมีเวลาจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ทางการไทยจะกักตัวเขาไว้ได้ แต่หลังจากนั้น อัยการจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาล ถ้าทางจำเลยคือนายอัล-อะไรบี มีหลักฐาน หรือมีข้อชี้แจง ที่สามารถพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า เหตุใดเขาจึงปฏิเสธที่จะกลับไปที่บาห์เรน ทนายของเขามีสิทธิชี้แจงต่อศาลได้ ส่วนการพิจารณา จะเป็นอำนาจของศาล ซึ่งเราไม่สามารถก้าวล่วงได้”

นางนันทนา ศิวะเกื้อ ยังย้ำด้วยว่า “ประเทศไทยให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และพันธกรณี ในฐานะที่เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาความตกลงระหว่างประเทศมาโดยตลอด”

อย่างไรก็ตาม มีการเกรงกันว่า หากนายอัล-อะไรบี ถูกส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปยังบาห์เรนนั้น ผู้ลี้ภัยผู้นี้อาจเผชิญกับโทษประหารชีวิตในประเทศบ้านเกิดของเขาเอง

สถาบันกัลฟ์ อินสติทูด ฟอร์ เดโมเครซี แอนด์ ฮิวแมน ไรส์ (Gulf Insitute for Democracy and Human Rights) กล่าวว่า เมื่อต้นสัปดาห์นี้เอง ได้มีคำพิพากษาลงโทษอย่างรุนแรงจากศาลบาห์เรน รวมทั้งโทษประหารชีวิตนักโทษทางการเมือง และโทษจำคุกตลอดชีวิตสำหรับผู้นำฝ่ายค้านของประเทศ  ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงสิ่งที่รอคอยนายฮะคีม อัล-อะไรบี อยู่ หากเขาถูกส่งตัวกลับไปรับโทษที่บาห์เรน
ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ .


 


Share
Published 1 February 2019 2:32pm
Updated 12 August 2022 3:33pm
By Parisuth Sodsai, Maani Truu
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS, SBS Thai


Share this with family and friends