ทีมฟุตบอลไทยร่วมวอนปล่อยตัวอัล-อะไรบี

NEWS: สโมสรฟุตบอลชั้นแนวหน้าของไทยร่วมเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักฟุตบอลผู้ลี้ภัย ฮะคีม อัล-อะไรบี ซึ่งถูกทางการไทยควบคุมตัวไว้ และอาจเผชิญการถูกส่งตัวกลับไปยังบาห์เรน

ทีมฟุตบอลเชียงราย ยูไนเต็ด ออกมาร่วมเรียกร้องให้ปล่อยตัว ฮะคีม อัล-อะไรบี (Chiang Rai United FC/Facebook)

ทีมฟุตบอลเชียงราย ยูไนเต็ด ออกมาร่วมเรียกร้องให้ปล่อยตัว ฮะคีม อัล-อะไรบี Source: Chiang Rai United FC/Facebook

You can read the full article in English

สโมสรฟุตบอลชั้นแนวหน้าของไทยทีมหนึ่ง ออกมาเรียกร้องร่วมกับหลายฝ่ายในระดับนานาชาติ ที่ขอให้ทางการไทยปล่อยตัวนายฮะคีม อัล-อะไรบี นักฟุตบอลผู้ลี้ภัยชาวบาห์เรน ซึ่งกำลังเผชิญการถูกส่งตัวไปยังประเทศบาห์เรน โดยเขาเกรงว่าชีวิตของเขาอาจตกอยู่ในอันตรายหากถูกส่งตัวกลับไป

สโมสรฟุตบอลท้องถิ่น เชียงราย ยูไนเต็ด เป็นทีมฟุตบอลไทยทีมแรกที่ออกมาให้การสนับสนุนแก่นักฟุตบอลผู้ลี้ภัยผู้นี้ และทีมฟุตบอลที่แข่งขันในการแข่งขันไทย ลีก ยังขอให้แฟนฟุตบอลพากันเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำตามพันธกรณีของไทยตามกฎหมายสากลและสิทธิมนุษยชนด้วย

แม้ว่าจะมีความกดดันเพิ่มขึ้นให้ทางการไทยปล่อยตัวนายอัล-อะไรบี ซึ่งอาศัยอยู่และเล่นฟุตบอลกึ่งอาชีพในออสเตรเลีย และถูกทางการไทยควบคุมตัวไว้ในวันที่ 27 พ.ย. ที่สนามบินสุวรรณภูมิจากคำขอของรัฐบาลบาห์เรน แต่กรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นข่าวมากนักตามสื่อภาษาไทย

นายมิตติ ติยะไพรัช ประธานสโมสร โพสต์ลงเฟซบุ๊กของสโมสรว่า ไม่ควรที่นักฟุตบอลคนใดจะถูกคุมขังโดยไม่มีเหตุผลทางกฎหมาย

นายมิตติ กล่าวว่า กรณีของนายอัล-อะไรบี นั้น “เงียบเกินไป” เขายังได้กล่าวชื่นชมนายเครก ฟอสเตอร์ อดีตผู้เล่นทีมซอกเกอร์รู ที่เดินทางไปยังประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อพยายามขอให้แฟนฟุตบอลและเจ้าหน้าที่วงการฟุตบอล พากันออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายอัล-อะไรบี มิเช่นนั้นไทยอาจถูกนานาชาติคว่ำบาตร

“การที่จะนำตัวนักฟุตบอลคนหนึ่งไปคุมขังเป็นการทำลายชีวิตของเขา โดยเฉพาะเมื่อไม่มีเหตุผลทางกฎหมายใดที่จะต้องควบคุมตัวเขาไว้” นายมิตติ โพสต์ทางเฟซบุ๊ก

“ผมคิดว่าพวกเราจำเป็นต้องพากันออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขา”

คนที่คอมเมนต์ในเฟซบุ๊กโพสต์ดังกล่าว บอกว่าพวกเขาไม่เคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับกรณีนี้มาก่อน หรือบางคนก็เข้าใจผิดคิดว่านายอัล-อะไรบีได้รับการปล่อยตัวแล้ว

นายอัล-อะไรบี วัย 25 ปี เคยเล่นฟุตบอลให้แก่ทีมชาติบาห์เรน เขาได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากออสเตรเลีย หลังเขาถูกกล่าวหาว่าทำลายทรัพย์สินของสถานีตำรวจแห่งหนึ่งในบาห์เรนเมื่อปี 2012

นักฟุตบอลผู้นี้ปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่ก็ยังถูกศาลบาห์เรนตัดสินลงโทษ 10 ปี โดยที่เป็นการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย
Hakeem al-Araibi and Thai prison guards
Source: AAP
นายอัล-อะไรบี ถูกจับกุมตัวตามหมายจับของตำรวจสากล ตามคำร้องขอของบาห์เรน เมื่อเขาเดินทางมาถึงประเทศไทยในการเดินทางไปฮันนีมูนหลังแต่งงานกับภรรยาของเขา

ภายใต้กฎหมายไทยนั้น เขาสามารถถูกทางการไทยควบคุมตัวไว้ได้เป็นเวลา 60 วัน จนถึงวันที่ 8 ก.พ. ขณะที่ตอนนี้ ทางการบาห์เรนกำลังเตรียมคำขออย่างเป็นทางการให้ทางการไทยส่งตัวเขาให้บาห์เรนในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน

องค์กรฟีฟ่า ได้ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ของไทย เพื่อขอให้ปล่อยตัวนายอัล-อะไรบีโดยทันที และขอเข้าพบกับเจ้าหน้าที่อาวุโสของไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้

ด้านคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือไอโอซี ร่วมกับสหภาพนักฟุตบอลนานาชาติ นักฟุตบอลและนักกีฬาที่มีชื่อเสียงหลายคน เรียกร้องให้ไทยปล่อยตัวนายอัล-อะไรบีให้เดินทางกลับมายังออสเตรเลียได้

นายฟอสเตอร์ กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่มีสโมสรฟุตบอลของไทยออกมาเรียกร้องเรื่องนี้ด้วย

“เมื่อมีนักฟุตบอลและสโมสรฟุตบอลจำนวนมากออกมาสนับสนุนให้มีการปล่อยตัวฮะคีม จะมีความกดดันเพิ่มขึ้นต่อไทยให้ออกมาแสดงความรับผิดชอบในความปลอดภัยของฮะคีม โดยส่งตัวเขากลับบ้านที่ออสเตรเลีย” นายฟอสเตอร์ ระบุ
Hakeem al-Araibi
นายเครก ฟอสเตอร์ อดีตนักฟุตบอลทีมซอกเกอร์รู ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว หลังเดินทางไปพบนายอัล-อะไรบี ที่เมืองไทย (AAP) Source: AAP
ขณะนี้ นายฟอสเตอร์อยู่ที่นครซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อพยายามพบกับเจ้าหน้าที่ของฟีฟ่า เพื่อกดดันให้ฟีฟ่าออกมาดำเนินการมากกว่านี้เกี่ยวกับกรณีของนายอัล-อะไรบี

นายฟอสเตอร์ มีกำหนดจะแถลงข่าวในวันนี้ (จันทร์ 28 ม.ค.) ตามเวลาท้องถิ่นของนครซูริค

ขณะเดียวกัน กำลังมีแรงกดดันเพิ่มขึ้น ให้ชีค ซัลมาน อัล-คาลิฟา ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย หรือเอเอฟซี ให้ก้าวลงจากตำแหน่ง เนื่องจากบทบาทของเขาเกี่ยวกับกรณีของนายอัล-อะไรบี

นายอัล-อะไรบี เป็นผู้หนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์ ชีค ซัลมาน อัล-คาลิฟา อย่างหนักที่ไม่ยอมปกป้องเขา เมื่อเขาถูกกล่าวหาว่าทำลายทรัพย์สินสาธารณะ ทั้งนี้ ชีค ซัลมานเป็นสมาชิกของราชวงค์บาห์เรน และคาดว่าจะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานเอเอฟซีอีกครั้ง

เอเอฟซี ออกแถลงการณ์เมื่อวันเสาร์ ระบุว่าองค์กรกำลังร่วมกับฟีฟ่า และสมาพันธ์ฟุตบอลของบาห์เรน ออสเตรเลีย และไทย เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

แต่นายเบรนแดน ชวับ ผู้อำนวยการบริหารของสมาคมผู้เล่นกีฬาอาชีพโลก กล่าวว่า ชีค ซัลมาน มี “ผลประโยชน์ทับซ้อน” และไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้นำของ เอเอฟซี ได้

นายฟอสเตอร์ กล่าวว่า การที่ชีค ซัลมาน ไม่ยอมปกป้อง นายอัล-อะไรบี ทำให้เขาสิ้นโอกาสที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธาน เอเอฟซี อีกสมัย พร้อมเสริมว่า นี่เป็นบททดสอบถึงจริยธรรม และความมุ่งมั่นต่อสิทธิมนุษยชนของฟีฟ่า
ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 28 January 2019 11:09am
Presented by Parisuth Sodsai


Share this with family and friends