หลายฝ่ายยินดีกับการจะให้เงินอุดหนุนแก่ธุรกิจขนาดเล็กต่างๆ ที่ดำเนินธุรกิจต่อไปในช่วงวิกฤตไวรัสโคโรนา แต่ยังมีความวิตกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 17.6 พันล้านดอลลาร์นี้ จะช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการเจ้าของคนเดียว (sole trader) ที่มีกว่า 1.5 ล้านคนในออสเตรเลียได้อย่างไร
มาตรการสำคัญหนึ่งคือการให้เงินอุดหนุนระหว่าง 2,000-25,000 ดอลลาร์ที่จะจ่ายให้โดยอัตโนมัติแก่ธุรกิจต่างๆ ที่จ้างงานลูกจ้าง โดยที่ธุรกิจเหล่านั้นจะต้องส่งรายงานการหักภาษีเงินได้ของลูกจ้างให้แก่กรมสรรพากรแห่งออสเตรเลีย หรือเอทีโอ
แต่ธุรกิจในออสเตรเลียกว่า 3 ใน 5 ไม่ได้จ้างลูกจ้าง โดยมีเพียงเจ้าของกิจการคนเดียวเท่านั้นที่ทำงานในธุรกิจในอุตสาหกรรมการจับกุ้งล็อบสเตอร์และปู ซึ่งนายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ได้กล่าวถึงเป็นพิเศษว่าได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตไวรัสโคโรนา มีธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้เพียง 516 ธุรกิจจากทั้งหมด 1,638 ธุรกิจที่มีการจ้างงานลูกจ้าง
Treasurer Josh Frydenberg listens as Prime Minister Scott Morrison addresses economic stimulus measures. Source: AAP
นายมอร์ริสัน กล่าวว่า รัฐบาลของเขามุ่งเน้นไปยังนายจ้าง
“เรากำลังให้การสนับสนุนแก่ธุรกิจราว 690,000 แห่งที่จ้างงานชาวออสเตรเลีย เนื่องจาก อย่างที่ผมกล่าวไปแล้วว่า มันเป็นการช่วยให้ชาวออสเตรเลียมีงานทำต่อไป” เขาบอกกับผู้สื่อข่าวในกรุงแคนเบอร์รา เมื่อวันพฤหัสบดี (12 มี.ค.)มาตรการชุดดังกล่าวยังรวมไปถึงการจ่ายเงินช่วยเหลือ 750 ดอลลาร์ให้แก่ผู้รับเงินบำนาญและประชาชนที่รับเงินสวัสดิการจากรัฐบาลด้วย
Patients line up at the Royal Melbourne Hospital for Coronavirus testing. Source: AAP
เมื่อถูกถามว่าจะมีการให้ความช่วยเหลือหรือไม่ แก่กิจการเจ้าของคนเดียว (sole trader) ที่มีกิจกรรมการค้าขายหรือการให้บริการลดลง หรือเจ้าของธุรกิจเหล่านั้นป่วย นายกรัฐมนตรี ตอบว่า
“จะมีเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อมีความต้องการมูลค่ารวม 4.7 พันล้านดอลลาร์ ส่งเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนกิจการเจ้าของคนเดียวต่างๆ เงินในส่วนนั้นมีไว้สำหรับเรื่องนี้”“มันถูกออกแบบมาให้ปรับปรุงการหมุนเวียนเงินสดในธุรกิจที่ไหลเข้าสู่เศรษฐกิจ และแน่นอนว่า นั่นเพื่อสนับสนุนธุรกิจประเภทนั้น”
A food delivery rider wears a face mask in the CBD of Sydney. Source: AAP
นายปีเตอร์ สตรอง หัวหน้า สภาองค์กรธุรกิจขนาดเล็กแห่งออสเตรเลีย (Council of Small Business Organisations of Australia) กล่าวว่า ขณะที่เข้าใจได้ว่าเหตุใดรัฐบาลจึงมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจที่จ้างงาน แต่จำเป็นต้องมีการให้ความช่วยเหลือในระดับหนึ่งแก่กิจการเจ้าของคนเดียวด้วย
“หากพวกเขาประสบความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจเนื่องจากพวกเขาไม่มีลูกค้า ก็ควรจะมีมาตรการอื่นที่พวกเราต้องพิจารณา” นายสตรอง กล่าว
“เนื่องจากเมื่อวิกฤตไวรัสจบสิ้นลง แนวคิดเบื้องหลังมาตรการนี้ทั้งหมดคือ ช่วยให้พวกเขาสามารถกลับไปดำเนินธุรกิจดังเดิมได้”
เขายังได้ย้ำถึงเจ้าของธุรกิจที่ดำเนินกิจการจากบ้านราว 600,000 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
ยังไม่ชัดเจนว่าผู้ประกอบกิจการเจ้าของคนเดียวจะสามารถรับเงินเบี้ยเลี้ยงเมื่อป่วยจากเซ็นเตอร์ลิงค์ได้หรือไม่ ซึ่งอีกไม่นานนี้เงินเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวจะกลายเป็นเงินช่วยเหลือประเภทใหม่สำหรับผู้หางานทำ ซึ่งลูกจ้างแคชวลจะสามารถขอรับเงินช่วยเหลือประเภทนี้ได้ หากพวกเขาต้องหยุดงานเพราะเจ็บป่วย
นายสตรองกล่าวว่า ผู้ประกอบกิจการเจ้าของคนเดียวอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากที่สุด เนื่องจากพวกเขาไม่ได้รับค่าจ้างเพิ่มพิเศษร้อยละ 25 เพื่อแลกกับสิทธิลาป่วย
นายแมตต์ กรัดนอฟฟ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ของสถาบันออสเตรเลีย กล่าวว่า มาตรการชุดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านี้ที่ถูกออกแบบมานั้น ไม่มีประสิทธิภาพดีพอ โดยเฉพาะสำหรับกิจการเจ้าของคนเดียวและธุรกิจขนาดเล็กต่างๆ
“เห็นได้ชัดว่า หากคุณเคยมีงานทำ แต่กลายเป็นไม่มีงานทำ คุณก็มีรายได้สำหรับใช้จ่ายน้อยลง” เขาบอกกับ เอเอพี
“แต่ผลกระทบทางจิตวิทยาที่ใหญ่กว่านั้นคือ หากคุณวิตกเกี่ยวกับอนาคต คุณก็คงไม่รีบออกไปพัฒนาปรับปรุง (รีโนเวท) ห้องน้ำใหม่ หรือคงจะไม่ทำอะไรทำนองนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบกิจการเจ้าของคนเดียวต่างต้องพึ่งพาอาศัย”
การจ่ายเงินสดให้แก่ครัวเรือนต่างๆ เช่นเดียวกับที่จะจ่ายให้ผู้รับเงินบำนาญและผู้รับเงินสวัสดิการจากรัฐ 750 ดอลลาร์นั้น น่าจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ในการรักษาความมั่นใจและช่วยรักษาระดับการใช้จ่ายได้ นายกรัดนอฟฟ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ของสถาบันออสเตรเลีย กล่าว
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ออสฯ ทุ่มงบพันล้านกระตุ้นเศรษฐกิจจากวิกฤตโคโรนา
ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
DSI แจงขอบเขตการสอบสวนคดีคนไทยในออสเตรเลีย