Fly365 ล้มละลาย ชุมชนไทยโวยถูกลอยแพไม่มีตั๋วกลับบ้าน

World’s best Airlines Indexes for 2019

Source: AAP

ลูกค้าของบริษัทจองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ Fly 365 ถูกลอยแพ หลังบริษัทดังกล่าวถูกเข้าบริหารจัดการทรัพย์สิน


กดปุ่ม 🔊 ที่ภาพด้านบนเพื่อฟังรายงาน

ประกาศว่า บริษัท Fly365 ที่ทำธุรกิจสำรองที่นั่งกับสายการบินออนไลน์ในชื่อ Fly365.com ได้ถูกเข้าบริหารจัดการทรัพย์สินอย่างสมัครใจเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์

จากเหตุการณ์นี้ สร้างปัญหาให้ลูกค้าของบริษัทจำนวนหลายร้อยราย และมีชาวไทยในออสเตรเลียอ้างว่าได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้เช่นเดียวกันเป็นจำนวนหลายราย


  • ทำไมลูกค้าหลายรายเลือกใช้บริการ Fly365
  • คนไทยในออสเตรเลียที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ Fly365
  • การขอตั๋วเครื่องบินใหม่จากสายการที่ได้สำรองที่นั่ง
  • การขอเงินคืนจากธนาคารในออสเตรเลีย

คุณเอมมี จากซิดนีย์ คือหนึ่งในผู้เสียหายที่สำรองที่นั่งกับสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ ผ่านทางเว็บไซต์ Fly365 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2019 ก่อนที่จะติดต่อสายการบินในภายหลังเพื่อขอเปลี่ยนเที่ยวบินเนื่องจากความกังวลในสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรนา แต่เธอกลับพบกว่าบัตรโดยสารของเธอนั้นไม่มีแล้ว

“เราส่งอีเมล์ไปหาสายการบิน บอกว่าเราไปไม่ได้แล้วเพราะเรื่องโควิท-19 จะทำอย่างไร เขาก็ตอบกลับมาทันทีว่าไม่มีแล้ว คือบริษัทนี้ไม่มีแล้ว”

“เลยลองเข้าไปในเฟซบุ๊คเพจของสกายสแกนเนอร์ ปรากฎว่ามีผู้ชายคนหนึ่งชื่อสตีฟ เขาส่งข้อความมาในเฟซบุ๊คให้เข้ากรุ๊ปของเขา (Fly365 Liquidation Support Group) บอกว่าเดี๋ยวเราจะช่วยเหลือกัน แล้วผ่านไปสักคืนก็มีคนช่วยเหลือเรา เขาบอกว่าเขาบินกับสิงคโปร์แอร์ไลน์เหมือนกัน แล้วให้เบอร์โทรศัพท์มาลองโทรไปคุย”

โดยคุณเอมมีแจ้งว่า หลังจากใช้เวลาต่อรองกับสายการบินทางโทรศัพท์กว่า 1 ชั่วโมง สุดท้ายทางสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์อนุญาตให้เธอเลื่อนวันเดินทางได้ภายใน 1 ปี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และคุณเอมมี่แนะนำให้ผู้เสียหายคนอื่นๆ ลองติดต่อไปกับทางสายการบินโดยตรงเพื่อดูว่าจะสามารถช่วยเหลืออะไรกับเรื่องนี้ได้บ้าง

คุณจริยา จากซิดนีย์ คืออีกคนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุ Fly365 ล้มละลายเช่นกัน โดยเธอได้สำรองที่นั่งกับสายการบินไทย เพื่อเดินทางกลับบ้านที่ประเทศไทย รวมมูลค่ากว่า 3,000 เหรียญ

“เราจองตั๋วเครื่องบินผ่านสกายสแกนเนอร์ ซึ่งวันนั้น Fly365 ค่อนข้างถูก ก็จองไป 4 คน ประมาณ 3,100 เหรียญ จองเสร็จสรรพ เขาก็ส่งอีเมล์ยืนยันมาเรียบร้อย มีรหัสสำหรับเช็คกับแอร์ไลน์ โอเคเราก็เอารหัสนั้นไปเช็ค โอเคมันสามารถเช็คชื่อได้ เราก็ไม่ได้เอะใจ”

“จนมาคุยกับเพื่อนๆ ในกลุ่มคนไทยในซิดนีย์ เขาเช็คตรงนี้ เช็คตรงนั้น ก็เลยไม่ไหวแล้ว เงิน 3,000 กว่ามันเยอะมาก รุ่งเช้าก็โทรเข้าสายการบินไทย โทรไปก็หวังว่าขอให้มีบัตร โทรไปคนแรกผู้ชายรับเขาก็บอกว่ามีดีเทล์หมดครับ แต่ว่าเราไม่มีตั๋ว เราบอกให้เขาออกให้ได้ไหม เขาบอกไม่ได้เพราะว่า Fly 365 เขาไม่ได้จ่ายเงินให้เรา ก็เลยถามว่าทำไมเรายังเช็ครายละเอียดของเราได้ เขาบอกเช็คได้ครับแต่ถ้าถึงวันเดินทางจริงก็เดินทางไม่ได้เพราะว่าไม่มีอี-ทิกเก็ต [ตั๋วเดินทางอิเล็กทรอนิกส์] ”

สุดท้ายคุณจริยาตัดสินใจให้สามีโทรศัพท์แจ้งธนาคารเจ้าของบัตรที่ใช้ชำระค่าตั๋วเครื่องบิน

“ของ ANZ เขาก็ถามข้อมูลส่วนตัวของเรา และรายละเอียดการเดินทาง เราแจ้งไปว่าประมาณเดือนพฤศจิกายน มียอดประมาณเท่านี้ มันก็ขึ้นบอกอยู่แล้วว่ามียอดนี้ที่เราจ่ายให้กับ Fly 365”

“เขาบอก เดี๋ยวเขาจะติดต่อกลับภายในหนึ่งอาทิตย์ ว่าเรื่องไปถึงไหน ถ้าเขาไม่ติดต่อมาให้เราโทรไป แต่เขาคอนเฟิร์มว่าเงินได้คืนแน่ๆ แต่อาจจะช้าหน่อย ประมาณ 5 – 10 วันทำการ”

คุณจริยาย้ำว่าตามกฎหมายออสเตรเลีย ถ้าเราซื้อสินค้าแล้วไม่ได้สินค้า เราสามารถขอเงินคืนได้ ให้ผู้เสียหายจาก Fly 365 ติดต่อกับธนาคารเจ้าของบัตรที่ใช้ชำระเงินเพื่อขอเงินคืน
ในปีที่แล้วมีเหตุการณ์คล้ายกับกรณีนี้ โดยบริษัท เบสต์เจ็ต ผู้ให้บริการเว็บไซต์ bestjet.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์จองตั๋วเครื่องบินผ่านช่องทางออนไลน์ ตั้งอยู่ที่รัฐควีนส์แลนด์ ได้ถูกเข้าบริหารจัดการทรัพย์สินอย่างสมัครใจเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2018 ส่งผลให้ลูกค้าในออสเตรเลียจำนวนมากต้องเดือดร้อนจากการถูกปฏิเสธการออกตั๋วเครื่องบินและไม่ได้รับเงินคืน

กดปุ่ม 🔊 ที่ภาพด้านบนเพื่อฟังรายงาน

ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 


 


Share