วิกฤตเศรษฐกิจโควิด-19 เปลี่ยนขั้ว ผู้ชายเสี่ยงตกงานเพิ่ม

พบสัญญาณอันตรายทางเศรษฐกิจในออสเตรเลีย ที่กำลังเพ่งเล็งไปยังอุตสาหกรรมที่ผู้ชายทำงานเป็นส่วนมาก หลังส่งผลอย่างเลวร้ายกับตลาดงานที่มีผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่อย่างเลวร้ายก่อนหน้านี้

Workers are seen at a construction site in Brisbane.

Workers are seen at a construction site in Brisbane. Source: AAP

จากการวิเคราะห์ที่ได้รับการเปิดเผยโดยสมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้านในรัฐบาลกลางออสเตรเลีย ระบุว่า ผู้ชายอาจเผชิญกับภาวะการว่างงานที่ถาโถมเข้ามามากขึ้น จากผลกระทบที่ยาวนานของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา ที่ขณะนี้เปลี่ยนจากอุตสาหกรรมที่มีผู้หญิงเป็นส่วนมาก มาเป็นอุตสาหกรรมที่มีผู้ชายทำงานเป็นส่วนใหญ่

นางแคลร์ โอ นีล (Clair O’Neil) ได้ใช้โอกาสในการกล่าวสุนทรพจน์ ที่สถาบันแม็กเคล (McKell Institute)  เมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อเตือนว่า ผู้ชายในวัยทำงานกำลังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเพิ่มมากขึ้น ขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจทวีความรุนแรง

ก่อนหน้านี้ ผู้หญิงวัยทำงานนั้นได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุด จากการที่ภาคธุรกิจต่าง ๆ ต้องปิดตัวลงจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา และมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล
Labor's spokesperson for the Future of Work Clare O'Neil.
Labor's spokesperson for the Future of Work Clare O'Neil. Source: AAP
นางโอ นีล โฆษกด้านอนาคตในการทำงานจากพรรคแรงงาน กล่าวว่า จากหลักฐานหลายอย่างได้แสดงให้เห็นว่า ผู้ชายในชนชั้นทำงานนั้นกำลังต้องแบกรับภาระอันหนักอึ้งจากภาวะตกงาน

“ขณะที่มีผู้หญิงจำนวนมากที่ตกงานในช่วงแรกของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การวิเคราะห์ที่ดิฉันได้เปิดเผยในวันนี้แสดงให้เห็นว่า สิ่งเหล่านี้กำลังถาโถมมายังอุตสาหกรรมที่ผู้ชายทำงานเป็นส่วนมาก” นางโอ นีล กล่าว

นางโอ นีล ได้อ้างอิงการวิจัยจากกลุ่มบริษัทให้คำปรึกษาแม็กคินซีย์ (MacKinsey) และได้เตือนว่า ธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดในเดือนมีนาคมปีหน้าที่กำลังจะมาถึงนั้น จะรวมถึง

  • ธุรกิจก่อสร้าง มีผู้ชายทำงานคิดเป็น 88%
  • ธุรกิจการผลิต มีผู้ชายทำงานคิดเป็น 73%
  • งานวิชาชีพ (ทนายความ ที่ปรึกษา ฯลฯ) มีผู้ชายทำงานคิดเป็น 57%
งานวิจัยดังกล่าวยังได้ประมาณว่า หากมีการหยุดจ่ายเงินชดเชยรายได้จ๊อบคีปเปอร์ (JobKeeper) และเงินสงเคราะห์ค่าจ้างสำหรับผู้ว่างงานจ๊อบซีกเกอร์ (JobSeeker) ในจำนวนผู้ตกงานในระดับไม่เกิน 500,000 ตำแหน่ง จะพบคนทำงานมากกว่า 60% ที่เป็นผู้ชาย

ในการกล่าวสุนทรพจน์ของนางโอ นิล เธอยังได้เรียกร้องให้มีการประเมินผลกระทบของการแพร่ระบาดของวัรสโคโรนา ”อย่างละเอียด” มากขึ้น ผ่านมุมมองของเพศสภาพ และเตือนถึงธรรมชาติของการถกเถียงในเรื่องดังกล่าวที่มีการแบ่งขั้วกันอย่างชัดเจน

“มันไม่ใช่การแข่งขันระหว่างเพศสภาพ โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงในประเด็นที่ว่าใครที่ต้องลำบากมากกว่ากันในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำขนาดนี้ ประเด็นของดิฉันก็คือ ตอนนี้ทุกคนกำลังลำบากกันทั้งนั้น” นางโอ นีล กล่าว

เธอกล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในระลอกแรกได้ส่งผลกระทบ “อย่างเลวร้าย” กับผู้หญิง ซึ่งรวมถึงผู้ที่ทำงานในธุรกิจบริการ ที่พักอาศัย และบางส่วนในภาคการศึกษาและด้านสุขภาพ โดยอุตสาหกรรมส่วนมานั้นพึ่งพาพนักงานแคชวล ซึ่งส่วนมากมักถูกเลิกจ้าง และไม่สามารถรับเงินชดเชยค่าจ้าง JobKeeper ได้

“ผู้หญิงเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ประสบกับความเลวร้าย ในตอนนี้ได้กลับกลายเป็นผู้ชายที่ต้องพบเจอ และมันมีหลักฐานว่าเราจะเห็นสิ่งนี้ชัดเจนขึ้นในแต่ละเดือน” นางโอ นีล กล่าว
นางโอ นีล ได้อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลีย (ABS) ที่แสดงให้เห็นว่า ภายในเดือนกันยายน ปี 2020 ผู้ชายมีโอกาสมากกว่าที่จะประสบกับภาวะว่างงาน ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากผลกระทบของไวรัสโคโรนา

อัตราการว่างงานของผู้ชายนั้น ขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 7.15 เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ร้อยละ 6.17 โดยอัตราว่างงานของผู้ชายนั้นเพิ่มขึ้นมากกว่าผู้หญิง ในช่วงสถานการณ์ไวรัสโคโรนา

ขณะที่ผู้หญิง ยังคงมีโอกาสมากกว่าที่จะประสบกับภาวะว่างงานเมื่อเทียบกับผู้ชาย แต่อัตราการเพิ่มขึ้นของภาวะว่างงานของผู้ชายนั้น อยู่ในระดับสูงหากเทียบกับผู้หญิง

นางโอ นีล กล่าวว่า กลุ่มผู้ชายที่ไม่เรียนต่อจากระดับชั้นมัธยมศึกษามากนักที่ราวร้อยละ 40 เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกเลิกจ้าง

“โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ชายกลุ่มนี้กำลังประสบกับช่วงเวลาของความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อ นี่เป็นปัญหาที่ต้องการและสมควรได้รับความสนใจ” นางโอ นีล กล่าว

เธอกล่าวอีกว่า ผู้ชายที่มีการศึกษาในระดับสูงและอาศัยอยู่ในเมือง กลับอยู่ในสถานะที่ดีกว่าประชากรชายทั่วไปอย่างลิบลับ

นางเคท กริฟฟิทส์ (Kate Griffiths) นักวิจัยจากสถานบันวิจัยแกรทแทน (Grattan Institute) ยอมรับว่า มี “การเปลี่ยนแปลง” ที่ “กระจายอย่างเท่าเทียม” ของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่สงผลกระทบทั้งผู้หญิงและผู้ชาย

แต่เธอกล่าวว่า มันควรเป็นที่รับรู้ว่า ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนานั้น เลวร้ายกว่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ผ่านมา ในส่วนของผลกระทบที่มีต่อคนทำงานที่เป็นผู้หญิง    

“เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้แน่นอน แต่หากเทียบกับวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา ครั้งนี้ถือว่าเลวร้ายที่สุดสำหรับผู้หญิง ความแตกต่างตรงนี้อยู่ที่ 50-50 ในแง่ของภาวะการว่างงาน และเมื่อคุณพบกับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแบบ 50-50 คุณย่อมต้องการการตอบสนองแบบ 50-50 เช่นกัน” นางกริฟฟิทส์​ กล่าว

ขณะที่พรรคกรีนส์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน และนักวิเคราะห์ด้านนโยบาย ได้วิพากษ์วิจารณ์การแถลงแผนการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลสหพันธรัฐ  เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา ว่าพวกเขาไม่ได้สนับสนุนอุตสาหกรรมที่มีผู้หญิงทำงานเป็นส่วนมากอย่างเพียงพอ

พรรคกรีนส์ ได้โต้แย้งว่า อุตสาหกรรมที่มีผู้ชายทำงานเป็นส่วนมาก เช่น อุตสาหกรรมการก่อสร้าง และการผลิตนั้น ได้รับงบประมาณสนับสนุนเพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากถึง $10,000 ล้านดอลลาร์

แต่ นายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรี ได้ปกป้องการตอบสนองทางเศรษฐกิจ โดยกล่าวว่า การจัดสรรงบประมาณที่ผ่านมานั้นก็เพื่อการสนับสนุนชาวออสเตรเลียทุกคน และได้เตือนว่า “เสียงของความแตกแยกนั้น” จะส่งผลเสียต่อการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศ


คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 4 November 2020 6:50pm
Updated 4 November 2020 7:17pm
By Tom Stayner
Presented by Tinrawat Banyat


Share this with family and friends