'คุก4ปี-ปรับเป็นล้าน' มาตรการใหม่กวาดล้างนายจ้างกดค่าแรง

รัฐบาลสหพันธรัฐเผยร่างปฏิรูปกฎหมายในสถานประกอบการใหม่ เพิ่มโทษทางแพ่ง-อาญากับนายจ้างกดค่าแรง ตัดสิทธิ์บริหารกิจการ 5 ปี

Attorney-General Christian Porter.

Attorney-General Christian Porter. Source: AAP

รัฐบาลสหพันธรัฐ ระบุว่า จะมีการดำเนินคดีทางทางอาญาและทางแพ่ง กับนายจ้างที่ไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างตามสัญญา ภายใต้กฎหมายใหม่ในการกวาดล้างการจ่ายค่าจ้างอันไม่เป็นธรรม  

การปฏิรูปดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมสัมพันธ์ของออสเตรเลีย ที่กำลังจะมีการเสนอเข้าต่อรัฐสภาในวันนี้ (9 ธ.ค.) โดยนายจ้างที่จ่างค่าแรงต่ำกว่าที่ลูกจ้างพึงได้รับจะต้องได้รับโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี และต้องโทษปรับสูงสุด $1.1 ล้านดอลลาร์ ในข้อหาความผิดทางอาญาใหม่เกี่ยวกับการโกงค่าจ้าง 

นอกจากนี้ บริษัทต่าง ๆ อาจต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินสูงสุด $5.5 ล้านดอลลาร์ หากละเลยการจ่ายเงินก้อนเพื่อชดเชยค่าแรงที่ขาดตก รวมถึงการคำนวณค่าจ้างที่ผิดพลาดและประมาณเลินเล่อ

นายคริสเตียน พอร์เตอร์​ (Christian Porter) รัฐมนตรีอุตสาหกรรมสัมพันธ์ของออสเตรเลีย กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวจะปกป้องลูกจ้างจาก “ผู้ประกอบการไร้คุณธรรมส่วนหนึ่ง ที่เอารัดเอาเปรียบลูกจ้างของตนอย่างจงใจ”

นายพอร์เตอร์ กล่าวว่า มาตรการด้านอุตสาหกรรมสัมพันธ์ดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการแก้ปัญหาในส่วนของกฎหมายในสถานประกอบการ ซึ่งขัดขวางการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียในภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา

ร่างการปรับแก้กฎหมายมในสถานประกอบการที่ได้มีการเสนอต่อรัฐสภานั้น เกิดขึ้นหลังมีการประชุมโต๊ะกลมโดยสหภาพนายจ้าง ที่ได้มีการชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่คนทำงานแคชวล การปรับปรุงอัตราจ่ายค่าแรงในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และการปฏิรูปต่าง ๆ เกี่ยวกับสถานประกอบการ

โดยนายจ้างที่จงใจจ่ายค่าแรงให้ลูกจ้างในอัตราต่ำกว่าที่พึงได้รับ จะมีความผิดในโทษฐานขโมยค่าจ้าง นอกจากนี้ จะถูกตัดคุณสมบัติในการบริหารจัดการบริษัทหรือองค์กรเป็นเวลา 5 ปี

นายพอร์เตอร์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลออสเตรเลียมีความพยายามในการเพิ่มโทษปรับทางแพ่งให้มีความเข้มงวด เพื่อทำให้แน่ใจว่านายจ้างจะปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งจะทำให้โทษปรับในข้อหาความผิดเกี่ยวกับสถานประกอบการเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 โดยจะมีโทษปรับสูงสุดถึง $19,980 ดอลลาร์สำหรับบุคคลธรรมดา และ $99,000 ดอลลาร์สำหรับบริษัทต่าง ๆ

‘งานยืดหยุ่น’ สำหรับคนทำงานพาร์ทไทม์’

มีอีกมาตรการหนึ่ง ที่จะทำให้ลูกจ้างพาร์ทไทม์ประจำในอุตสาหกรรมอาหารและค้าปลีก ไม่ได้รับค่าตอบแทนล่วงเวลา เมื่อต้องทำงานนอกเหนือจากชั่วโมงงานปกติ โดยพวกเขาสามารถตกลงรับชั่วโมงงานเพิ่ม โดยได้รับค่าตอบแทนรายชั่วโมงตามปกติ

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นความพยายามในการชี้แจงให้เห็นถึงปัญหาที่คนทำงานธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจบริการจำนวนมาก ต้องการชั่วโมงทำงานเพิ่ม แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากภาคธุรกิจต่าง ๆ ไม่เต็มใจที่จะจ่ายค่าตอบแทนในพนักงานในอัตราที่สูงขึ้น

“การปฏิรูปในครั้งนี้จะมอบความมั่นใจ และความมั่นคงที่ภาคธุรกิจ ที่ต้องการการจ้างงานจากพนักงานประจำ มากกว่าการที่มุ่งจ้างพนักงานในรูปแบบที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นแบบเดิม ๆ” นายพอร์เตอร์ กล่าว

ด้านพรรคแรงงานและสหภาพแรงงาน ได้ส่งสัญญาณถึงการต่อสู้ที่กำลังจะเกิดขึ้นเกี่ยวกับกฎหมายใหม่นี้ หลังมีความกังวลอย่างจริงจัง ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบต่อคนทำงานแคชวล

นายโทนี เบิร์ก (Tony Burke) โฆษกด้านอุตสาหกรรมสัมพันธ์จากพรรคแรงงาน กล่าวว่า เขายังคงมีความกังวลเกี่ยวกับร่างการปฏิรูปสำหรับคนทำงานพาร์ทไทม์ ที่รัฐบาลได้เสนอต่อรัฐสภา

“มันไม่ใช่แนวคิดที่แย่ที่สุดที่พวกเขาได้เสนอ แต่มันก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งเราจำเป็นต้องพิจารณากันในส่วนนี้” นายเบิร์ก กล่าว 

“มันคือกฎหมายที่เรายังไม่เคยพบเห็น ดังนั้นเราจึงจะพิจารณาในส่วนนี้อย่างสร้างสรรค์ แต่ถ้าหากมันไม่สามารถรักษาตำแหน่งงานของผู้คนไว้ด้วยค่าแรงที่เหมาะสมได้ เราก็จะคัดค้านในส่วนนี้”

นางแซลลี แม็กมานัส (Sally McManus) เลขาธิการสหภาพแรงงานออสเตรเลีย (ACTU) ได้เตือนว่า ร่างการปฏิรูปกฎหมายดังกล่าวเป็น “การพลาดโอกาส” ในการสร้างความมั่นคงให้ตำแหน่งงาน และเป็นการริดรอนสิทธิ์ที่คนทำงานพึงได้รับ


รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 



Share
Published 9 December 2020 2:01pm
Updated 9 December 2020 2:06pm
By Tom Stayner
Presented by Tinrawat Banyat


Share this with family and friends