'มีสวัสดิการ-มีค่าที่พัก' ข้อเสนอปฏิรูปวีซ่าแบ็กแพ็กเกอร์

คณะกรรมการร่วมด้านการอพยพย้ายถิ่นยื่นข้อเสนอปฏิรูปวีซ่าเวิร์กกิงฮอลิเดย์ หวังดึงแรงงานแบ็กแพ็กเกอร์เติมตลาดแรงงานพื้นที่ส่วนภูมิภาค สหภาพแรงงานโต้แก้ปัญหาไม่ตรงจุด หวั่นแรงงานตกเป็นเหยื่อการเอารัดเอาเปรียบมากขึ้น

Backpackers working in a farm.

Source: Getty Images/pixdeluxe

ผู้ถือวีซ่าเวิร์กกิงฮอลิเดย์ ซึ่งทำงานที่ให้ค่าตอบแทนต่ำ เช่น งานเก็บผลผลิตในฟาร์ม จะสามารถได้รับเงินช่วยเหลือผู้ว่างงานได้ ภายใต้แผนของคณะกรรมาธิการสภา​ ในการปรับปรุงวีซ่าเวิร์กกิงฮอลิเดย์

คณะกรรมาธิการร่วมสามัญด้านการอพยพย้ายถิ่นฐาน (The Joint Standing Committee on Migration) ได้เปิดเผยรายงานฉบับล่าสุด เกี่ยวกับการปรับปรุงโครงการวีซ่าเวิร์กกิงฮอลิเดย์ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (30 พ.ย.)

โดยรายงานดังกล่าว ซึ่งจัดทำขึ้น เนื่องด้วยผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงาน ในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา ได้มีการเรียกร้องให้แรงงานผู้ถือวีซ่าดังกล่าว ซึ่งทำงานที่ให้ค่าตอบแทนน้อย เช่น งานในฟาร์ม ยังคงได้รับเงินสงเคราะห์ค่าจ้างจ็อบซีกเกอร์ (JobSeeker) ได้ต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้แนะนำให้ขยายช่วงอายุสำหรับโครงการวีซ่าดังกล่าวไปยังผู้ที่มีอายุมากกว่า 30 หรือ 35 ปีขึ้นไป ที่กำลังรอการอนุมัติวีซ่าหรือได้รับอนุมัติวีซ่าก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

ขณะที่ประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อไวรัสโคโรนาต่ำ ควรได้รับการจัดลำดับความสำคัญในส่วนของการพิจารณาแบบรายประเทศ และยังได้แนะนำให้รัฐบาลพิจารณาประเทศที่มีการยื่นขอวีซ่าเป็นจำนวนมาก ในการอนุมัติวีซ่าเพื่อให้เข้าทำงานที่ต้องการแรงงานจำนวนมาก

รายงานดังกล่าวยังได้แนะนำโครงการสปอนเซอร์สำหรับองค์กรตัวแทน ภาคธุรกิจ หรือรัฐบาล ในการออกค่าใช้จ่ายสำหรับการกักโรคของผู้ที่เดินทางมาด้วยวีซ่าเวิร์กกิงฮอลิเดย์

คณะกรรมาธิการได้แนะนำว่า ในช่วงเวลาอีก 12 เดือนข้างหน้า นักศึกษาต่างชาติควรได้รับข้อเสนอเป็นวีซ่าสำหรับผู้สำเร็จการศึกษา (Graduate visa) แลกกับการทำงานในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก

นักศึกษาต่างชาติควรได้รับเงิน หรือการสนับสนุนที่พักอาศัยและการเดินทาง ในการไปทำงานในพื้นที่ห่างไกล และสำหรับผู้ถือวีซ่าในทักษะที่มีความขาดแคลน รวมถึงผู้ถือใบอนุญาตทำงานชั่วคราวอื่น ๆ ที่ตกงาน ควรที่จะสามารถทำงานในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบได้ โดยไม่ต้องได้รับการสปอนเซอร์ในช่วงปีหน้า ในขณะเดียวกัน ชั่วโมงในการทำงานก็ควรที่จะได้รับการนับรวม เพื่อนำไปประกอบเงื่อนไขเพื่อต่อวีซ่า หรือเพื่อเป็นเส้นทางสู่การได้เป็นผู้อาศัยถาวรในออสเตรเลีย

รายงานดังกล่าว ระบุว่า รัฐบาลสหพันธรัฐควรทำงานรวมกับรัฐและมณฑลต่าง ๆ รวมถึงองค์กรตัวแทนจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในการจ้างงานผู้ที่อยู่ในโครงการแรงงานจากหมู่เกาะแปซิฟิก ในการเติมเต็มตำแหน่งงานที่ขาดแคลนในภาคการเกษตรกรรม

นอกจากนี้ ยังได้แนะนำให้มีการจัดประเภทใหม่ของ “พื้นที่ส่วนภูมิภาค (regional)” ให้เป็นลำดับชั้นที่ประกอบด้วย เมืองหลวงของรัฐขนาดเล็ก (smaller state capital cities) เมืองส่วนภูมิภาค (regional cities) พื้นที่ระหว่างเมืองและพื้นที่ชานเมือง (peri-urban area) เมืองขนาดเล็ก (small towns) และพื้นที่ห่างไกล (remote areas)

นายมาร์ค โมเรย์ (Mark Morey) เลขาธิการสหภาพแรงงานรัฐนิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการได้พลาดโอกาสในการขจัดการเอารัดเอาเปรียบที่เกิดขึ้นในภาคเกษตรกรรม

“ปัญหาหลักในใจกลางของโครงการนี้นั้น คืออำนาจทั้งหมดอยู่ที่นายจ้าง ในการที่จะเซ็นว่าคนทำงานเวิร์กกิงฮอลิเดย์คนไหนที่ทำงานตามชั่วโมงที่กำหนดไว้ เพื่อที่จะได้รับการต่อวีซ่าได้ สิ่งนี้ได้สร้างความเอนเอียงเป็นอย่างมาก ทำให้คนทำงานเหล่านั้นตกอยู่ในความเสี่ยงของการถูกเอารัดเอาเปรียบ” นายโมเรย์ กล่าว

นายโมเรย์ กล่าวอีกว่า รายงานของคณะกรรมาธิการนั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรให้ดีขึ้นมากนัก

“อันที่จริงแล้ว วีซ่าเหล่านี้ควรถูกยกเลิกไปเสียที หากภาคเกษตรกรรมจ่ายค่าจ้างให้ชาวออสเตรเลียไม่ได้ ก็คงต้องคิดทบทวนเรื่องเศรษฐศาสตร์กันใหม่หมดแล้ว ไม่มีอุตสาหกรรมไหนมีสิทธิ์ในการประหยัดเงินด้วยการเอาเปรียบแรงงาน และจ่ายค่าจ้างราคาถูก” นายโมเรย์ กล่าว
 


Share
Published 3 December 2020 6:14pm
Presented by Tinrawat Banyat
Source: AAP, SBS


Share this with family and friends