ออสฯ เตรียมผ่อนผันให้คู่ครองไม่ต้องออกประเทศไปรับวีซ่า

Partner & Prospective Marriage Visas

Source: AAP

รัฐบาลออสเตรเลียเตรียมผ่อนผันข้อกำหนดด้านวีซ่าคู่ครอง ให้ผู้ยื่นขอไม่ต้องอยู่นอกออสเตรเลียเพื่อรับอนุมัติวีซ่าตามเงื่อนไขปกติ หลังผู้ยื่นสมัครจำนวนมากส่งเสียงถึงรัฐบาลถึงความลำบากในการเดินทางออกจากประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์ไวรัสโควิด-19


LISTEN TO
Call to change 'archaic' partner visa rules amid pandemic image

ออสฯ เตรียมผ่อนผันให้คู่ครองไม่ต้องออกประเทศไปรับวีซ่า

SBS Thai

30/11/202007:03
รัฐบาลสหพันธรัฐกำลังจะประกาศให้มีการผ่อนผันด้านวีซ่า ที่กำหนดให้ผู้ยื่นสมัครวีซ่าครอบครัวและวีซ่าคู่ครอง ที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลีย ไม่จำเป็นต้องเดินทางออกจากออสเตรเลีย ในขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติวีซ่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 

บรรดาผู้ยื่นสมัครวีซ่า รวมถึงผู้ทำงานสนับสนุน ต่างผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งจะหมายความว่า ผู้ยื่นสมัครวีซ่าไม่จำเป็นต้องอาศัยอยู่นอกออสเตรเลียในระหว่างการอนุมัติวีซ่า 

โดยรัฐบาลกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะได้รับการประกาศใช้ภายในต้นปี 2021 ซึ่งนอกเหนือจากวีซ่าคู่ครอง (Subclass 309) แล้ว การผ่อนผันดังกล่าวจะมีผลครอบคลุมไปถึง 

  • วีซ่าย้านถิ่นฐานของเด็ก (Subclass 101)
  • วีซ่าของบุตรบุญธรรม (Subclass 102)
  • วีซ่าสำหรับบุตรที่ติดตามพ่อแม่ที่ยื่นวีซ่าคู่ครอง (Subclass 445)
  • วีซ่าคู่หมั้นที่ประสงค์จะแต่งงานในออสเตรเลีย (Subclass 300)   
คุณอมีเลีย เอเลียต (Amelia Elliot) และคุณโบวี โดมิงโก (Bowie Domingo) ซึ่งได้ตั้งกลุ่มเฟซบุ๊กเพื่อผู้สมัครวีซ่าคู่ครอง ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดพรมแดนเพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ได้ต้อนรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แต่ก็ได้กล่าวว่า มันควรที่จะเกิดขึ้นเร็วกว่านี้ 

ทั้งสองได้รับการอนุมัติวีซ่าคู่ครองในท้ายที่สุด หลังต้องผ่านกระบวนการที่ยาวนานและเหน็ดเหนื่อย พวกเขาต้องรอเป็นเวลานานถึง 25 เดือน ในการประมวลแบบคำร้อง ซึ่งทั้งคู่ต้องอยู่แยกห่างกันในระหว่างรอผลการอนุมัติ  

คุณโดมิงโก สัญชาติฟิลิปปินส์ สามีของคุณอมีเลีย ต้องเดินทางไปยังประเทศสิงค์โปร์จากนครเมลเบิร์น เพื่อให้วีซ่าของเขาได้รับการอนุมัติ  

“ในช่วงการระบาดของโควิด-19 มันไม่เหลวไหลไปหน่อยเหรอ กับการที่คุณผลักดันให้ผู้คนออกจากออสเตรเลีย เพียงเพราะจะได้อนุมัติวีซ่าให้กับพวกเขาได้ มันไม่จำเป็นเลย และมันก็เป็นเรื่องเหลวไหล เอาเข้าจริงแล้ว มันไม่แฟร์เลยด้วยซ้ำ” คุณโบวี กล่าว

คุณอมีเลีย ชาวนครเมลเบิร์น คู่ครองของคุณโดมิงโก กล่าวว่า พวกเขาหมดเงินไปกับขั้นตอนทางวีซ่านี้ เป็นมูลค่ามากกว่า $6,000 ดอลลาร์ 

“เพื่อทำให้วีซ่านี้แล้วเสร็จ และทำให้เขาได้ทำงาน เราต้องจ่ายเงินไปมากกว่า $6,000 ดอลลาร์ ในการเดินทางไปกลับสิงคโปร์ ซึ่งต้องมีการกักตัวเฝ้าระวังโควิดด้วย นั่นทำให้เราเสียทั้งเงินและความรู้สึก” คุณอมีเลีย กล่าว 

ภายใต้กฎหมายด้านการอพยพย้ายถิ่นฉบับปัจจุบัน ได้กำหนดให้ผู้ที่ยื่นสมัครวีซ่าคู่ครองจากต่างประเทศ จำเป็นต้องอาศัยอยู่นอกออสเตรเลียเมื่อวีซ่าของพวกเขากำลังจะได้รับการอนุมัติ แต่ข้อกำหนดนี้ได้สร้างความกังวลต่อความเสี่ยงด้านสุขภาพ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทางและการกักตัว ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

จากความกังวลดังกล่าว ทำให้ นายจูเลียน ฮิลล์ (Julian Hill) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคแรงงาน ออกมาเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง ผ่านร่างกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ยื่นสมัครวีซ่าคู่ครอง (Subclass 309) ได้รับการอนุมัติวีซ่าขณะที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลียเป็นการชั่วคราว ในมาตรการที่กำลังจะมีการดำเนินการในวันที่ 30 ธันวาคมนี้      

“มันเป็นเรื่องเหลวไหลในขณะที่การแพร่ระบาดใหญ่เกิดขึ้นไปทั่วโลก กับการที่คุณบอกกับคู่ครองซึ่งอาศัยอยู่ในออสเตรเลียว่า ต้องมีใครสักคนที่เดินทางออกไปยังประเทศอื่น ซึ่งนั่นเป็นความเสี่ยงสูงในการสัมผัสกับเชื้อไวรัสโควิด-19 บนราคาที่พวกเขาต้องจ่ายไป” นายฮิลล์ กล่าว

นายฮิลล์ กล่าวอีกว่า ข้อกำหนดด้านวีซ่าที่มีอยู่เดิมนั้น อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดความแออัดในสถานที่กักกันโรค ซึ่งควรได้รับการเตรียมพร้อมสำหรับชาวออสเตรเลียที่ต้องการจะเดินทางกลับบ้าน

“ผู้ยื่นสมัครวีซ่าที่ถูกบังคับให้ต้องเดินทางออกจากประเทศ จะใช้พื้นที่อันมีค่าในสถานกักกันโรค ที่ควรได้รับการเตรียมไว้สำหรับชาวออสเตรเลียที่จะเดินทางกลับบ้าน แทนที่จะไปใช้สำหรับคนที่อยู่ในออสเตรเลียอยู่แล้ว มันดูเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล หากพวกเขาผ่อนคลายข้อกำหนดนี้ไปเป็นเวลา 12 เดือน ในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ครั้งนี้” นายฮิลล์ กล่าว

ด้านทนายความเพื่อการอพยพย้ายถิ่นฐานหลายคน ก็ได้ออกมาสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเช่นกัน 

นายจอร์จ ลอมบาร์ด (George Lombard) ทนายความเพื่อการอพยพย้ายถิ่นฐานคนหนึ่ง กล่าวว่า กฎหมายในฉบับปัจจุบันนั้นมีความเก่าคร่ำครึ

“มันไม่มีเหตุผลใดที่มากไปกว่าการที่รัฐบาลจะยังคงยึดติดอยู่กับกฎหมายเดิมที่มีมานานหลายปี และไม่มีพื้นฐานใด ๆ  ของความเป็นธรรมทางสังคม” นายลอมบาร์ดกล่าว

มีตัวเลขล่าสุดที่ชี้ให้เห็นว่า ยังคงมีแบบคำร้องวีซ่าคู่ครองคงค้างอยู่เกือบ 100,000 ฉบับ ที่ยังคงรอการพิจารณาอนุมัติ ซึ่งเป็นผู้ที่ยื่นสมัครมาจากนอกประเทศ ที่ไม่ได้รับสิทธิ์ในการศึกษาและทำงานในออสเตรเลีย รวมถึงไม่ได้รับสิทธิ์ในการถือวีซ่าชั่วคราว หรือวีซ่าบริดจิง (Bridging Visa)


เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย

รัฐบาลออสฯ ให้ทุนถ่ายหนังถ้ำหลวงในควีนส์แลนด์


Share