คำแนะนำเรื่องการเล่นน้ำให้ปลอดภัยในออสเตรเลีย

คุณสตีเวน เพียร์ส

คุณสตีเวน เพียร์สแนะนำชุมชนไทยเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเล่นน้ำ Source: Surf Life Saving New South Wales

“ถ้าเราไม่เห็นคุณ เราไม่สามารถช่วยคุณได้” ฟังคำแนะนำจากคุณสตีเวน เพียร์ส ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำ (Surf Life Saving) ในรัฐนิวเซาท์เวลล์ในเรื่องความปลอดภัยในการเล่นน้ำในออสเตรเลียในหน้าร้อนนี้


LISTEN TO
surf life saving nsw water safety thai community image

คำแนะนำเรื่องการเล่นน้ำให้ปลอดภัยในออสเตรเลีย

SBS Thai

07/12/202012:15
ถอดบทสัมภาษณ์ของคุณสตีเวน เพียร์ส ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำหรือ Surf Life Saving ในรัฐนิวเซาท์เวลล์

สวัสดีค่ะคุณเพียร์ส ขอบคุณสำหรับเวลาที่ให้เราได้สัมภาษณ์นะคะ ก่อนอื่นช่วยอธิบายเกี่ยวกับองค์กรช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำหรือองค์กร Surf Life Saving ที่รัฐนิวเซาท์เวลล์ให้เราฟังหน่อยค่ะ

ยินดีที่ได้มาให้สัมภาษณ์ครับ องค์กร Surf Life Saving ในรัฐนิวเซาท์เวลล์ เป็นองค์กรช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำที่ใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย เรามีสมาชิกในองค์กรประมาณ 76,000 คน มีเซิร์ฟคลับ 129 แห่ง และมียามลาดตระเวนชายฝั่งประมาณ 20,000 คนที่ลาดตระเวนบริเวณธงสีแดงเหลืองในวันเสาร์และวันอาทิตย์ เรามียามชายฝั่งมืออาชีพมากที่สุด มีประมาณ 350 คนในองค์กร เรายังมีการใช้โดรนตระเวนชายฝั่งที่เยอะที่สุดในออสเตรเลีย และเรามีนักบินประมาณ 350 คนที่ลาดตระเวนหากพบเห็นฉลามตามชายฝั่งในชายหาดของนิวเซาท์เวลล์  

จริงหรือไม่คะที่คนที่มักจะประสบภัยทางน้ำในออสเตรเลียส่วนมากเป็นคนต่างชาติหรือผู้อพยพ
เราพบว่ามีคนที่เสียชีวิตจากการไปตกปลาตามโขดหินประมาณ 8 คนทุกปี โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน และตามสถิติคนเสียชีวิตส่วนมากเป็นคนต่างชาติ
สิ่งที่น่าสนใจก็คือสถิติคนประสบภัยทางน้ำที่เสียชีวิตที่ชายหาดในรัฐนิวเซาท์เวลล์ที่มักเป็นคนต่างชาติ และส่วนมากเกิดประสบอุบัติเหตุจากการตกปลาตามโขดหิน

ช่วยบอกได้ไหมคะว่าทำไมการตกปลาตามโขดหินถึงเป็นอันตราย

มันอาจจะฟังดูแปลกหน่อยนะครับ การตกปลาตามโขดหินถือเป็นกีฬาชนิดหนึ่งในรัฐนิวเซาท์เวลล์ อาจจะนับได้ว่าเป็นหนึ่งในกีฬาที่อันตราย ตามที่ผมพูดไปก่อนหน้านี้ว่าเพราะมีสถิติคนเสียชีวิตสูง อันตรายของการตกปลาตามโขดหินคือการที่คนที่จะตกปลาจะต้องลงไปตามแนวโขดหินมีความเสี่ยงในการจะถูกคลื่นซัดออกไป และมักเป็นบริเวณที่ไม่มียามชายฝั่งลาดตระเวนอยู่แถวนั้น ที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือเวลาพบคนที่กำลังตกอยู่ในอันตราย คนที่พบเห็นมักจะเป็นคนที่ผ่านไปแถวนั้นซึ่งมักจะเป็นคนที่ตกปลาตามโขดหินเหมือนกัน และมักจะไม่มีอุปกรณ์ที่จะช่วยให้ลอยตัวอยู่ได้ มันเป็นกิจกรรมที่อันตรายมาก และขอแนะนำให้คนที่จะทำกิจกรรมแบบนี้เป็นคนที่มีประสบกาณ์เท่านั้น

ทางองค์กรช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำมีวิธีการแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร เพื่อป้องกันการประสบอุบัติภัยทางน้ำในกลุ่มคนต่างชาติและผู้อพยพ

เราทำงานร่วมกับกลุ่มผู้อพยพหลากเชื้อชาติในรัฐนิวเซาท์เวลล์ เรามีโปรแกรมให้ความรู้ทั้งแบบออนไลน์และแบบพบปะกับกลุ่มที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ในกลุ่มเหล่านี้มีทั้งไทย จีน เวียดนาม เกาหลี และคนกรีกซึ่งมีสถิติเสียชีวิตจากอุบัติภัยทางน้ำสูงด้วย เราทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐบาลที่ควบคุมกิจกรรมตกปลา อย่างเช่นเวลาที่พวกเขาจัดกิจกรรมเกี่ยวที่ต้องตระหนักระหว่างการตกปลา หรือกิจกรรมที่ให้ความรู้เรื่องการตกปลา เรามักจะเข้าร่วมด้วย เพื่อพูดถึงความปลอดภัยในการทำกิจกรรมทางน้ำ และจะป้องกันตัวอย่างไรเมื่ออยู่ตามโขดหิน

คุณมีคำแนะนำเกี่ยวกับความปลอดภัยทางน้ำอย่างไร สำหรับคนที่กำลังจะไปว่ายน้ำหรือทำกิจกรรมทางน้ำที่ชายหาดในออสเตรเลีย

ออสเตรเลียมีชายหาดที่สวยงามมากมาย แต่หาดที่สวยงามเหล่านี้อาจมีอันตรายได้ เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่เราบอกกับทุกคนที่จะไปชายหาดในออสเตรเลียว่า ให้มองหาบริเวณหาดที่มีการลาดตระเวน หาดที่มีการลาดตระเวนในที่นี้หมายถึงหาดไหนก็ได้ที่มีธงสีแดงเหลืองปักอยู่ และที่มียามชายฝั่งทำงานอยู่ เหตุผลก็คือเราจะปักธงในบริเวณที่ปลอดภัยที่สุดที่สามารถลงเล่นน้ำได้ อยู่ไกลจากคลื่นดูดหรือเวิ่งน้ำที่อันตราย และมียามชายฝั่งสอดส่องดูแล เรามีคำขวัญที่ใช้เสมอคือ
ถ้าเราไม่เห็นคุณ เราไม่สามารถช่วยคุณได้
เป็นสำนวนที่เราพยายามบอกเพื่อให้คนรักษาระยะให้อยู่ในบริเวณธงสีแดงเหลือง
ยามชายฝั่ง
ว่ายน้ำในบริเวณที่มีธงสีแดงเหลืองและยามชายฝั่งลาดตระเวน Source: Getty Images/graytln
หากมีคนประสบอุบัติภัยทางน้ำ คุณแนะนำว่าควรทำอย่างไรดีคะ

คนส่วนมากมักจะตกใจนะครับ ถ้าคุณถูกคลื่นดูดในทะเลที่ออสเตรเลีย ถึงแม้ว่ามันอาจจะฟังดูยาก แต่สิ่งสำคัญเลยก็คือต้องพยายามควบคุมตัวเองให้สงบและลอยตัวไว้ ยกมือไว้ให้ยามชายฝั่งเห็น แล้วยามชายฝั่งจะว่ายน้ำหรือพายบอร์ดออกไปเพื่อช่วยคุณ อีกวิธีนึงคืออย่าพยายามว่ายน้ำกลับเข้าฝั่ง คุณจะไม่สามารถทำได้เพราะคลื่นจะแรงกว่ามาก สิ่งที่เราแนะนำเวลาที่คุณถูกคลื่นดูดและคุณคิดว่าคุณว่ายน้ำได้คือให้พยายามว่ายน้ำเป็นเส้นทแยงมุมข้ามแนวคลื่นดูดไป แทนที่จะว่ายน้ำสู้กับคลื่น แล้วคุณจะสามารถว่ายน้ำอ้อมกลับมาที่ฝั่งได้ แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าคุณเล่นน้ำในบริเวณที่มีธงสีแดงเหลือง

คุณมีคำแนะนำอย่างไรหากเราพบคนที่กำลังประสบอุบัติภัยทางน้ำ

เป็นคำถามที่ดีมากเลยครับ อย่างแรกเลยคือควรบอกยามชายฝั่ง หากมียามชายฝั่งทำงานอยู่ หากไม่มียามชายฝั่งทำงานอยู่บริเวณนั้น ควรโทรสายด่วนฉุกเฉิน 000 ซึ่งเขาจะติดต่อมาที่เราโดยตรง อาจจะเป็นตำรวจหรือยามชายฝั่งที่จะมาช่วย หากมีอะไรใกล้มือที่สามารถช่วยให้คนที่กำลังประสบเหตุลอยตัวอยู่ได้ ให้พยายามโยนไปให้เขา พยายามช่วยให้เขาลอยตัวอยู่ได้จนกว่าจะมียามชายฝั่งหรือคนมาช่วย สิ่งหนึ่งที่เราไม่แนะนำเลยนะครับ ซึ่งเราได้เห็นโศกนาฎกรรมแบบนี้หลายครั้งแล้ว คือคนที่ลงไปช่วยคนที่กำลังประสบเหตุ แล้วกลายเป็นคนที่ตกอยู่ในอันตรายแทน นอกเสียจากว่าคุณจะว่ายน้ำเก่งจริงๆ เราแนะนำว่าให้โทรสายด่วนฉุกเฉิน และขอความช่วยเหลือจากยามชายฝั่งให้มาช่วยเหลือคนที่ประสบเหตุจะดีกว่า

คุณช่วยบอกชื่อชายฝั่งที่อันตรายในรัฐนิวเซาท์เวลล์ได้ไหมคะ  

ชายหาดในรัฐนิวเซาท์เวลล์ทั้งสวยและในบางเวลาก็อันตรายเหมือนกัน มันไม่มีหาดไหนที่เราจะบอกได้ว่า “อย่าไปเล่นน้ำที่นั่นเลย” สิ่งที่เราบอกได้คือหาดที่ปลอดภัยในรัฐนิวเซาทท์เวลล์คือหาดในเวลาที่มีธงสีแดงเหลืองและมีการลาดตระเวน

สุดท้ายแล้ว มีอะไรที่อยากแนะนำเพิ่มเติมไหมคะ

สำหรับชาวต่างชาติที่ จะมาเที่ยวแถวทะเลในออสเตรเลีย เรามียามชายฝั่งที่เก่งๆ ลาดตระเวนในชุดสีแดงเหลือง และมันเป็นสิ่งสำคัญมากถ้าหากคุณจะมาเที่ยวแถวทะเลและอยากจะสนุกกับการเล่นน้ำในชายหาดในออสเตรเลีย คุณควรจะมาและเล่นน้ำในบริเวณธงสีแดงเหลืองครับ


Share