VIVA: มารยาททางสังคมที่เปลี่ยนไปจากวิกฤตโควิด

Social distancing

Source: Getty Images

ในสภาพแวดล้อมรอบตัวเราที่ไวรัสโคโรนาสามารถแพร่ระบาดได้ง่าย มารยาททางสังคมนั้นไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทั้งการรักษาระยะห่างทางสังคม การจามใส่ข้อพับแขน และการล้างมืออย่างสม่ำเสมอ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของบรรทัดฐานทางสังคมแบบใหม่ที่เกิดขึ้นมาได้ไม่นาน ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงวิธีการพบปะและเข้าสังคมของเราไปในแบบไม่เคยมีมาก่อน


LISTEN TO
VIVA: COVID-19 Etiquettes image

VIVA: มารยาททางสังคมที่เปลี่ยนไปจากวิกฤตโควิด

SBS Thai

16/11/202010:02
การดำรงชีวิตท่ามกลางการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา ได้เปลี่ยนแปลงการมีปฏิสัมพันธ์และการเข้าสังคมที่เราเคยปฏิบัติกันมา

คุณเฮรีเอตตา พอดกอร์สกา (Henrietta Podgorska) ผู้จัดการฝ่ายการมีส่วนร่วมในชุมชนจาก อัมเบรลา คอมมูนิตี แคร์ (Umbrella Community Care) ในนครเพิร์ธ กล่าวว่า เสียงหัวเราะที่เธอเคยได้ยินในแต่ละสัปดาห์ จากผู้สูงวัยที่มีภูมิหลังหลากวัฒนธรรมมากกว่า 400 คนนั้น เงียบหายไปในชั่วข้ามคืน ทันทีที่บริษัทได้เริ่มปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

“ฉันคิดว่า จนถึงตอนนี้มันยังเป็นเรื่องใหม่ กับการที่ผู้คนยังคงต้องฝึกฝนและได้รับการย้ำเตือน เช่น การที่ผู้จัดการเดินมาหาคุณ​เพื่อบอกทุกครั้งว่ามีกลุ่มผู้คนอยู่ตรงนี้ และพูดคุยเกี่ยวกับการล้างมือให้สะอาด และทำให้แน่ใจว่าผู้คนต่างรักษาระยะห่างซึ่งกันและกัน คุณพอดกอร์สกา กล่าว 

คุณพอดกอร์สกา กล่าวว่า มาตรการด้านสาธารณสุขที่เคร่งครัด ได้จำกัดจำนวนผู้คนในการรวมกลุ่มทางสังคม ทำให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ระบบขนส่งร่วมกันได้น้อยลง แม้การนั่งใกล้ ๆ กัน ก็ทำให้ได้น้อยลงกว่าเดิม

ด้าน ดร.รุธ เดอ โซซา (Dr Ruth De Souza) พยาบาล และนักวิจัยด้านเชื้อชาติ และเทคโนโลยีดิจิทัล จากมหาวิทยาลัยอาร์เอ็มไอที (RMIT) กล่าวว่า หากคุณไม่แน่ใจว่ามารยาทในการป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำง่าย ๆ ของนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ นางจาซินดา อาร์เดิร์น 

“หากคุณปฏิบัติเหมือนกับว่าคุณอาจติดเชื้อ มันเป็นพฤติกรรมที่ดีในการคิดว่า เราจะทำอย่างไรไม่ให้ผู้อื่นติดเชื้อ” เช่น การรักษาระยะห่างจากผู้อื่น ไม่อยู่ในที่ไม่มีอากาศถ่ายเท ซึ่งนั่นอาจเป็นเรื่องยากหากคุณไปปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาในโบสถ์ มัสยิด หรือที่อื่น ๆ คุณอาจต้องคิดว่าจะต้องทำอย่างไรให้ปลอดภัย” ดร.เดอ โซซา กล่าว
Backyard gathering
Source: Getty Images/Sol Stock

มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ชาวออสเตรเลียไม่คุ้นเคย

คุณเดนนิส ลี (Dennis Lee) ชายวัย 76 ซึ่งเกิดในประเทศฮ่องกง มีความคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับมาตรการด้านสาธารณสุขในช่วงเวลาวิกฤต

โดยประชาชนในฮ่องกงนั้น มีความคุ้นชินกับมาตรการทุกรูปแบบในการป้องกันโรคระบาด เช่น การสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกไปนอกบ้าน แต่ในออสเตรเลียนั้น กลับมีทัศนคติที่แตกต่าง ขณะที่ผู้คนเพิ่งเริ่มรู้จักกับความเสี่ยงด้านสุขภาพครั้งแรกในรอบศตวรรษ นับตั้งแต่การแพร่ระบาดใหญ่ของไข้หวัดสเปน 

“ที่ออสเตรเลีย นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 100 ปี นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของไข้หวัดสเปน ดังนั้นผู้คนจึงไม่คุ้นเคยกับมันที่นี่ และบางคนก็ให้ความใส่ใจกับมันน้อยมาก ๆ เนื่องจากพวกเขาไม่ต้องการปฏิบัติตามกฎเหล่านี้ ดังนั้น ผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นนั้นไม่สนใจในเรื่องนี้ แต่สิ่งที่ผมจะบอกก็คือ แม้ว่าคุณจะไม่เห็นอาการของมัน แต่คุณสามารถทำให้เชื้อแพร่กระจายได้” คุณลี กล่าว 

ปัจจุบัน คุณลี ได้หลีกเลี่ยงการออกไปข้างนอก แม้ว่าเขาจะปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างครบถ้วนทุกประการ เขาได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ฮ่องกง ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าไปนับจำนวนผู้ที่มารับประทานอาหาร ในร้านอาหารจีนที่มีผู้คนหนาแน่น

โดยทุกร้านนั้นมีกำหนดจำนวนสูงสุดที่ลูกค้าสามารถเข้ามาในร้านได้ หากร้านอาหารใดมีจำนวนลูกค้าเกินจากนั้นก็จะต้องถูกเรียกปรับ
Scones
Source: Getty Image / Robert Bye on Unsplash

ผู้คนส่วนมากไม่ทักท้วงพฤติกรรมเสี่ยงแพร่เชื้อ

Alone Together เป็นโครงการวิจัยนำร่องที่ ดร.เดอ โซซา ได้เปิดตัวร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ มหาวิทยาลัย RMIT มหาวิทยาลัยโมแนช (Monash University) มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น โรงพยาบาลเบนดิโก (Bendigo Hospital) และหน่วยงานสุขภาพดิจิทัลแห่งออสเตรเลีย (Australian Digital Health Agency) โดยโครงการวิจัยดังกล่าวเป็นการศึกษาเพื่อเปิดเผยถึงผลกระทบของไวรัสโคโรนาที่มีต่อผู้สูงวัยตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป และมีภูมิหลังหลากวัฒนธรรม 

โดยงานวิจัยของ ดร.เดอ โซซา พบว่าผู้ที่มีอายุมากขึ้น มีความหวาดกลัวที่จะเผชิญหน้ากับคนแปลกหน้า หรือแม้กระทั่งเพื่อนบ้าน เกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไร้ความรับผิดชอบ ในการไม่ปฏิบัติตามแนวทางป้องกันการแพร่ระบาด ของไวรัสโคโรนา

หญิงคนหนึ่งที่เข้าร่วมการวิจัยนี้ กล่าวว่า เธอมีความหวาดกลัวที่จะเผชิญหน้าไม่ว่ากับใครก็ตาม เนื่องจากเธออาจพบเจอความรุนแรงจากคนแปลกหน้า

“สิ่งที่พวกเขาทำก็คือ หากพวกเขากำลังเดินอยู่ และเจอใครสักคนกำลังเดินเข้ามาบนทางเท้า แทนที่จะรอดูว่าคน ๆ นั้นจะหลีกทางให้หรือไม่ พวกเขากลับเป็นฝ่ายที่เลือกอยู่ให้ห่าง และเดินหลีกไปจากทางเท้าเพื่อรอให้คน ๆ นั้นเดินผ่านไป พวกเขาบอกว่า แทนที่จะรอให้ใครสักคนทำสิ่งที่ถูกต้อง พวกเขามองว่าตนเองกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง” ดร. เดอ โซลซา กล่าว

การเข้าสังคมที่เปลี่ยนไป

รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย เป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งประสบความสำเร็จ ในการจัดการการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้สูงวัยที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมนั้น อิสรภาพที่ถูกจำกัดในการออกไปไหนมาไหน มาพร้อมกับลักษณะการเข้าสังคมที่ดูไม่เป็นธรรมชาติ

“พวกเขาต้องทำให้แน่ใจว่า เมื่อผู้สูงวัยนำอาหารมารับประทาน ก็จะต้องไม่แบ่งกันกิน บางคนทำอาหารและของหวานอร่อยมาก แต่เราก็ต้องขอไม่ให้พวกเขาทำมา เนื่องจากถ้ามีอะไรเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้อาจเป็นต้นตอของปัญหา” คุณพอดกอร์สกา กล่าว

ขณะที่เราต่างต้องการที่จะเชื่อมต่อกับสังคม คุณพอดกอร์สกา กล่าวว่า มันเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้คนจะอยู่แต่ในบ้าน หากพวกเขาไม่สบาย และมีอาการเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม 

คุณพอดกอร์สกา กล่าวอีกว่า ผู้สูงวัยที่มีภูมิหลังหลากวัฒนธรรม พบว่า มารยาททางสังคมเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโคโรนาที่ยากที่สุด นั่นก็คือการไม่กอนหรือจูบกัน หลายคนต้องเรียนรู้ที่จะทักทายกันด้วยการชนข้อศอก หรือเพียงแค่โบกมือทักทาย ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาอยู่ห่างกันแค่ไหน  

ดร.เดอ โซลซา กล่าวว่า การทักทายแบบ COVID-safe ที่เหมาะกับกาลเทศะทางสังคมนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องจำกัดอยู่แค่การชนข้อศอก หรือการโบกมือทักทาย

“มีการทักทายหลายรูปแบบที่มาจากชุมชนของเรา ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นการกอดหรือจูบ อย่างเช่น ในวัฒนธรรมของดิฉัน ก็จะเป็นการประสานมือทั้งสองข้าง และโค้งคำนับต่อหน้าบุคคลอื่น” ดร.เดอ โซลซา กล่าว 

ดร.เดอ โซลซา สังเกตว่า ในโลกที่พบกับไวรัสโคโรนานั้น ทำให้เราต้องคิดถึงผู้อื่นและตนเอง ในลักษณะที่มีความรับผิดชอบทางสังคมมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

“ทุกสิ่งที่เราคิดว่าเป็นการเข้าสังคมนั้น กลายเป็นสิ่งตรงกันข้าม ทั้งการมาพบปะกัน การจัดปาร์ตี้ การเฉลิมฉลองต่าง ๆ และในความปกติใหม่นี้ เราได้ถูกกระตุ้นให้เข้าสังคมด้วยจำนวนคนที่น้อยกว่าเดิม ซึ่งรวมถึงการรวมกลุ่มนอกสถานที่ รักษาระยะห่างซึ่งกันและกัน และต้องระมัดระวัง เนื่องจากเรายังไม่พ้นจากอันตรายของไวรัสนี้” ดร.เดอ โซลซา กล่าว

บ่อยครั้ง คุณพอดกอร์สกาจะยกตัวอย่างความเข้มแข็งและความอดทนของผู้เข้ารับการดูแลหลายคน ที่เป็นผู้รอดชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้เราคิดในแง่บวกนั้น คือการยังคงไว้ซึ่งความหวัง 

“นี่คือสิ่งที่เราต้องการในตอนนี้ มันจะไม่เป็นเช่นนั้นตลอดไป และเราจะได้กลับมาสวมกอด จูบกัน และแบ่งปันอาหารให้กันได้อีกครั้งเหมือนที่เคยเป็นมา เพียงแค่ช่วงเวลานี้เท่านั้นที่เราต้องผ่านมันไปด้วยกัน ด้วยการทำสิ่งที่ถูกต้อง และหยุดยั้งการแพร่ระบาด” คุณพอดกอร์สกา กล่าว
Hong Kong in COVID-19
Source: AAP Image/AP Photo/Kin Cheung

 

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย

ออสฯ ทดลองรักษาเบาหวานชนิดที่ 1 ด้วยยาครั้งแรกของโลก


Share