ประกันภัยรับเรื่องเคลมค่าสินไหมน้ำท่วม NSW นับหมื่นรายการ

Ben Sullivan clears debris from his flood damaged home in Windsor, Sydney.

Ben Sullivan clears debris from his flood damaged home in Windsor, Sydney. Source: AAP

รัฐบาลนิวเซาท์เวลส์เล็งควบคุมดูแลให้บริษัทประกันภัยดำเนินการคำร้องขอค่าสินไหมจากภัยน้ำท่วมโดยเร็ว แต่เจ้าของบ้านและธุรกิจที่เสียหายหนักจำนวนไม่น้อยกลับไม่มีประกันภัย


หลังจากที่หายนะอุทกภัยสร้างความเสียหายแก่พื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย มีเสียงเรียกร้องให้ธนาคารและบริษัทประกันภัยทั้งหมดเพิ่มความโปร่งใสเกี่ยวกับความเสี่ยงของสภาพอากาศรุนแรงที่อาจมีต่อทรัพย์สิน

ทั้งยังคาดการณ์กันว่า เบี้ยประกันภัยอาจเพิ่มสูงเป็นสองเท่าในบางพื้นที่

คุณลิซา ผู้เช่าบ้านและผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เป็นอีกหนึ่งคนที่ต้องพยายามฟื้นตัวจากผลของน้ำท่วมโดยไม่มีประกันทรัพย์สิน

"คงเป็นเรื่องการเงิน ฉันไม่มีทุน ฉันแค่ไม่เคยนึกถึงมัน ฉันไม่เคยซื้อประกันทรัพย์สินเลย คิดว่าข้ามเลยไปง่ายกว่า"

อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากต้นทุนที่ต้องจ่ายไม่ได้เป็นเพียงปัญหาสำหรับผู้เช่าเท่านั้น แต่ยังน่าปวดหัวสำหรับเจ้าของอาคารสถานที่ด้วย
เหตุการณ์น้ำท่วมเป็นภัยพิบัติล่าสุดที่ส่งผลกระทบต่อคาเฟ่ของคุณเฟลิซิตี คร็อกเกอร์ (Felicity Crocker) ในเมืองวอค์ฮอป (Wauchope) ใกล้พอร์ตแมกควารี

คุณคร็อกเกอร์กล่าวว่า เธอยื่นคำร้องขอค่าสินไหมจากบริษัทประกันแต่ถูกปฏิเสธเพราะบริษัทเปลี่ยนแนวทางข้อกำหนดใหม่

"เราไม่ได้รับการติดต่อจากบริษัทประกันภัย ที่ควรแจ้งเราว่าพื้นที่นี้ถูกพิจารณาว่าเป็นเส้นทางระบายน้ำท่วม และไม่ครอบคลุมในประกัน"

นักวิเคราะห์ความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศรายหนึ่งกล่าวว่า อสังหาริมทรัพย์ในสัดส่วนน้อยกว่า 1 ใน 20 มีความเสี่ยงต่อภัยน้ำท่วมรุนแรง

แต่คุณคาร์ล มัลลอน (Karl Mallon) กล่าวว่า เคยเห็นโครงการพัฒนามูลค่า 500,000 ดอลลาร์ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมต้องจ่ายเบี้ยประกันจำนวนมาก
Buildings are partially submerged in a floodwater in the Windsor area, northwest of Sydney
Buildings are partially submerged in a floodwater in the Windsor area, northwest of Sydney. Source: AAP Pool
"ในพื้นที่นั้นเราเห็นกรมธรรม์พุ่งไปถึง 30,000 ดอลลาร์ แต่บทวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ที่เราจัดทำชี้ว่า ที่จริงแล้วมีอสังหาริมทรัพย์บางรายการที่จำนวนเงินเท่านั้นยังไม่พอครอบคลุมความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า อสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ใช่ในที่ที่ไม่เหมาะอาจประสบปัญหาในแง่ความสามารถในการประกันภัยได้" คุณมัลลอนกล่าว

กระนั้น คุณแอนดรูว์ ฮอลล์ (Andrew Hall) จากสภาประกันภัยแห่งออสเตรเลีย (Insurance Council of Australia) บอกว่านั่นเป็นสถานการณ์ที่พบได้ยาก

"ผมไม่เข้าใจว่าตัวเลขนั้นมาจากไหน อาจมีสักหนึ่งหรือสองแห่งที่การทำประกันภัยจะแพงมากเพราะตั้งอยู่ในจุดที่เกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ที่อาศัยในภูมิภาคนั้น เบี้ยประกันก็อยู่ในระดับปกติ" 

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงมีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงยิ่งขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นำไปสู่การคาดการณ์ว่า เบี้ยประกันภัยอาจพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย

"ในอนาคต เราคาดว่าเบี้ยประกันภัยอาจเพิ่มขึ้นสองเท่าหรือสามเท่าตัว หรืออาจมากกว่านั้น หากไม่มีการดำเนินการอะไรให้ทรัพย์สินเหล่านี้ทนทานต่อภัยพิบัติมากขึ้น" คุณมัลลอนกล่าว
คุณแอนดรูว์ ฮอลล์ จากสภาประกันภัยแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่าควรเน้นไปที่การทำให้ประกันภัยเป็นสิ่งเอื้อมถึงได้

"ต้องมีการวางแผนใช้ที่ดินให้ดีกว่านี้ โดยไม่อนุญาตให้สร้างอาคารบนที่ราบน้ำท่วมถึงซึ่งเสี่ยงต่ออุทกภัย และควรมีการปฏิรูปภาษีในรัฐต่าง ๆ เพราะในบางพื้นที่ เช่น นิวเซาท์เวลส์ เบี้ยประกันภัยเกือบร้อยละ 40 จมไปกับภาษี"

คุณคาร์ล มัลลอน เพิ่มเติมว่าประชาชนควรได้รับข้อมูลมากกว่านี้

"ผมว่า ควรเป็นพันธะหน้าที่ทางจริยธรรมขององค์กรขนาดใหญ่เหล่านี้ ในการเตือนประชาชนว่าพวกเขากำลังเข้าสู่ข้อตกลงแบบใด" คุณมัลลอนกล่าว
รัฐบาลออสเตรเลียและรัฐบาลนิวเซาท์เวลส์ประกาศขยายโครงการช่วยเหลือชุมชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา โดยเพิ่มเติมโครงการทำความสะอาดหลังน้ำลด ช่วยเหลือครัวเรือนที่พักอาศัย ธุรกิจ ผู้ผลิตด้านเกษตรกรรมและปศุสัตว์ (primary producer) รวมถึงสภาท้องถิ่น ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะครอบคลุมทั้งอสังหาริมทรัพย์ที่มีประกันและไม่มีประกัน โดยรัฐบาลออสเตรเลียและรัฐบาลนิวเซาท์เวลส์ร่วมกันรับผิดชอบค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ ยังมอบเงินทุนเพื่อการฟื้นฟูสูงสุด 50,000 ดอลลาร์แก่ธุรกิจรายย่อย และสูงสุด 75,000 ดอลลาร์แก่ผู้ผลิตด้านเกษตรกรรมและปศุสัตว์ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงอีกด้วย


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share