LISTEN TO
ทีมนักวิทย์ฯ WHO ลงพื้นที่อู่ฮั่น หาต้นตอโควิด-19
SBS Thai
18/01/202108:00
ทีมนักวิทยาศาสตร์ 10 คนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เดินทางไปถึงเมืองอู่ฮั่นของจีนแล้ว ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยพวกเขาจะต้องเข้ารับการกักตัวเป็นเวลา 14 วันก่อนที่จะสามารถเริ่มต้นการสืบสวนถึงที่มาของไวรัสนี้ได้
โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากองค์การอนามัยโลกนั้น ประกอบด้วยนักสัตววิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดในระบบทางเดินหายใจ และนักระบาดวิทยา
นพ.ปีเตอร์ เบน เอ็มบารเร็ก (Dr Peter Ben Embarek) นักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก กล่าวกับสำนักข่าวอัลจาซีรา (Al Jazeera) ว่า พวกเขาจะทำการสืบหาว่าไวรัสชนิดนี้แพร่กระจายในเมืองดังกล่าวได้อย่างไร
“เราจะศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการติดเชื้อในระยะแรก การติดเชื้อที่พบในมนุษย์เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ปี 2019 รวมถึงตลาดเปียกอู่ฮั่นซึ่งเป็นที่โด่งดัง และดูว่าเกิดอะไรขึ้นที่นั่น” นพ.เอ็มบาเร็ก กล่าว
แต่นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับมอบหมายในการสืบหาที่มาของการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลกเกือบ 2 ล้านรายครั้งนี้ คาดว่าอาจเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา
มีทฤษฎีหนึ่งที่ระบุว่า ไวรัสโคโรนานั้นถูกพบในสัตว์ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ามาจากค้างคาวในตลาดเปียกที่เมืองอู่ฮั่น ซึ่งที่นั่นเป็นตลาดค้าสัตว์ป่าที่มีชีวิตแต่ นายสัญจายา เสนานายาเค (Sanjaya Senanayake) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด กล่าวว่า การค้นหาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนารายแรกสุด (patient zero) อาจเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
Workers in protective suits walk past the Hankou railway station in Wuhan in April, last year. Source: AP
“ผมคิดว่า มันอาจเป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะสืบหาจนพบผู้ติดเชื้อรายแรกสุดที่ได้รับเชื้อนี้มา แต่พวกเขาสามารถรู้โดยนัยได้ว่า การระบาดนั้นมาจากไหน มาอย่างไร และแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คนได้อย่างไร รวมถึงการวิเคราะห์ในบทบาทต่าง ๆ ของของห้องปฏิบัติการ” นายเสนานายาเค กล่าว
ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาในจีนยังคงเพิ่มขึ้น กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากองค์การอนามัยโลก ยังต้องการที่จะเข้าถึงห้องปฏิบัติการสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น (Wuhan Institute of Virology) ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้มีข้อสังเกตจากคณะรัฐมนตรีของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐ ฯ ว่าไวรัสโควิด-19 นั้น ได้หลุดรอดออกมาจากห้องปฏิบัติการดังกล่าว
แต่จากการจับตาของรัฐบาลจีนอย่างใกล้ชิด ทำให้มีความกังวลเพิ่มมากขึ้นในการเข้าถึงห้องปฏิบัติการและตลาดซื้อขายสัตว์ป่าในเมืองอู่ฮั่นเพื่อการสืบสวนในครั้งนี้นางมาริส เพย์น (Marise Payne) รัฐมนตรีการต่างประเทศของออสเตรเลีย ได้แสดงความหวังว่า รัฐบาลจีนจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง
นางมาริส เพย์น (Marise Payne) รัฐมนตรีการต่างประเทศของออสเตรเลีย Source: AAP
“ความกังวลอันท่วมท้นที่เรามีต่อทีมสืบสวนในครั้งนี้ คือความโปร่งใสและความอิสระ เราจะจับตาอย่างใกล้ชิดว่าการสืบสวนไปอย่างไร ดิฉันหวังว่า ด้วยการสนับสนุนขององค์การอนามัยโลก และทางการจีนต่อทีมสืบสวนในครั้งนี้ จะทำให้พวกเขามีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล และสถานที่ซึ่งมีความสำคัญ” นางเพย์น กล่าว
ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2020 ที่ผ่านมา ออสเตรเลียได้เรียกร้องให้มีการสอบสวนอิสระถึงที่มาของไวรัสโควิด-19 แต่มีรายงานว่า การเรียกร้องดังกล่าว ได้กลายเป็นเหตุผลข้อหนึ่งที่ทำให้จีนตัดสินใจกีดกันทางการค้า ในส่วนของสินค้านำเข้าจากออสเตรเลีย เช่น เนื้อสัตว์ ข้าวบาร์เลย์ และไวน์
แต่ นายไมเคิล แม็กคอร์แม็ก (Michael McCormack) รักษาการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ออสเตรเลียยังคงเปิดกว้างในการติดต่อกับคู่ค้ารายใหญ่อย่างจีน
“สายโทรศัพท์ของเรายังเปิดอยู่ตลอด ประตูของเรายังเปิดกว้างเสมอ ตราบใดที่ออสเตรเลียยังคงมีความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้าระหว่างจีน ผมทราบถึงความสำคัญที่จะทำให้แน่ใจว่าเรายังคงมีการค้าขายร่วมกับจีน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าราว $149,600 ล้านดอลลาร์ พวกเขาคือคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเรา” นายแม็กคอร์แม็ก กล่าวแต่อย่างไรก็ตาม เขาได้ปฏิเสธที่จะให้ความเห็น ในกรณีของอิทธิพลของรัฐบาลจีนต่อการสืบสวนที่มาของไวรัสโควิด-19 โดยระบุว่า เขามุ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับออสเตรเลียเพียงอย่างเดียว
Source: AAP
“ผมจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับข้อถกเถียงที่ว่าจีนควรทำหรือไม่ควรทำอะไร จุดมุ่งหมายของเรายังคงอยู่ที่สุขภาพของชาวออสเตรเลีย สุขภาพของชาวออสเตรเลียนั้นส่งผลต่อการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของเรา เรากำลังทำให้แน่ใจว่าเราได้รับวัคซีนจาก AstraZeneca จำนวน 140 ล้านโดส ซึ่งจะช่วยรักษาชีวิตผู้คน” นายแม็กคอร์แม็ก กล่าว
“และไม่ใช่เพียงเท่านั้น เรายังได้จับตาในส่วนของวัคซีนจากบริษัท Pfizer อีกด้วย และเราจะทำให้แน่ใจว่า เมื่อวัคซีนได้เปิดตัวในเดือนหน้า ชาวออสเตรเลียจะสามารถเข้าถึงได้ทุกคน”
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพได้แนะนำว่า ออสเตรเลียควรลดการพึ่งพาวัคซีนจากบริษัท แอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca) เพียงอย่างเดียว ซึ่งมีประสิทธิภาพต่ำกว่าวัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์ (Pfizer)
นายเสนานายาเค ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด กล่าวว่า ออสเตรเลียควรที่จะเจรจากับบรรดาผู้ผลิตวัคซีนจากทั่วโลกต่อไป
“ในตอนนี้ มีผู้ผลิตวัคซีนที่กำลังทดลองในมนุษย์ 63 รายในขั้นตอน แตกต่างกันไป และมี 15 รายที่กำลังอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายแล้ว" นายเสนานายาเค กล่าว
"ผมมีความหวังว่าวัคซีนจากผู้ผลิตส่วนหนึ่งจะแสดงผลลัพธ์ที่ดีในขั้นตอนที่ 3 ผมคิดว่ายุทธศาสตร์ของออสเตรเลียในการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนควรเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูว่ามีวัคซีนจากผู้ผลิตรายใดบ้าง และเปิดโอกาสให้ชาวออสเตรเลียเข้าถึง แม้จะเป็นจำนวนโดสเพียงเล็กน้อยก็ตาม”
“มันไม่ควรหยุดอยู่แค่วัคซีนของไฟเซอร์ หรือแอสตร้าเซเนก้า เราควรที่จะเสาะหา และเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนอย่างต่อเนื่อง”
ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ
หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
ระวังโทรศัพท์หลอกลวงเสนอลดบิลค่าน้ำ/ไฟ/โทรศัพท์