อากาศที่เริ่มอบอุ่นในช่วงต้นเดือนตุลาคมในออสเตรเลีย เป็นสัญญาณของการเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูกเชอร์รี ผลไม้สีแดงสวยรสชาติหวานฉ่ำที่หลายคนชื่นชอบ
ที่เมืองฮาร์คอร์ต (Harcourt) รัฐวิกตอเรีย ห่างไปจากนครเมลเบิร์นราว 140 กิโลเมตร ใกล้กับเมืองเบนดิโก (Bendigo) เอสบีเอส ไทย พูดคุยกับ คุณไวยเลด พุทธาศรี เจ้าของฟาร์มเชอร์รีป่าพันธุ์แคระและพลัมชาวไทย ที่ดูแลที่นี่ด้วยตัวเองมานานถึง 11 ปี
คุณไวยเลดทุ่มเททั้งแรงกายและใจ ดูแลต้นเชอร์รีในสวนกว่า 900 ต้น พร้อมต้นพลัมอีกกว่า 600 ต้น ตั้งแต่เริ่มออกดอก ดูแลให้น้ำให้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม และป้องกันศัตรูพืชโดยไม่ใช้สารเคมี จนได้เป็นผลไม้ปลอดสารพิษที่มีรสชาติอร่อยแบบธรรมชาติ ส่งขายตามตลาดนัดเกษตรกรในพื้นที่เมืองเบนดิโก (Bendigo) คาสเซิลเมน (Castlemaine) และเมืองแลนซ์ฟีลด์ (Lancefield) รวมถึงร้านขายผลไม้ออร์แกนิกบางแห่ง
เธอยังขายเชอร์รีให้กับคนที่สนใจมารับซื้อเอง และเปิดให้ผู้ชื่นชอบการเก็บผลไม้ พาเพื่อนหรือลูกหลานมาเก็บเชอร์รีบางพันธุ์ที่ออกผลในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน และซื้อกลับบ้านแบบชั่งน้ำหนักขายโดยไม่คิดค่าเข้าสวน
LISTEN TO
เจ้าของสวนเล่ากว่าจะได้เชอร์รีแดงก่ำหวานฉ่ำ
SBS Thai
11/12/202019:30
คุณ ไวยเลด พุทธาศรี เจ้าของสวนเชอร์รีในรัฐวิกตอเรีย Source: Supplied
จากคนเมืองสู่ชีวิตสาวชาวสวน
ก่อนที่คุณไวยเลดจะมาเป็นสาวชาวสวนเช่นวันนี้ เธอไม่มีประสบการณ์งานเกษตร ไม่เคยทำสวนหรือทำนาจากเมืองไทยมาก่อน เดิมทีเธอทำงานในโรงแรม และเป็นพี่เลี้ยงเด็กให้กับครอบครัวชาวต่างชาติ ครั้นเมื่อย้ายมาอยู่ออสเตรเลียกับสามี เธอเป็นแม่บ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ย่านชานเมืองนครเมลเบิร์น
ด้วยบรรยากาศในหมู่บ้านที่แออัด และด้วยเป็นคนรักสันโดษ ทำให้คุณไวยเลดเริ่มมองหาลู่ทางย้ายออกไปอยู่นอกเมือง การตัดสินใจครั้งนั้นได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอคิดถึงการมีบ้านสวนฟาร์ม เมื่อพบกับต้นเชอร์รีในที่ดินประกาศขายอยู่นอกเมือง
“ไม่รู้ยังไง นึกอยากออกมาจากหมู่บ้าน เพราะว่าที่เล็กและบ้านคนติดกัน เลยพากันออกมาดูนอกเมือง ก็เลยมาเจอ (ที่ดิน) ที่เขาขาย ก็เลยคิดว่ามันมีสวนเชอร์รี เราก็จะได้มีรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะเราก็ไม่มีงานประจำ”
“คิดว่าน่าจะทำได้ มันไม่ใหญ่มากเท่าไหร่ มันเหมาะกับคนสองคนที่จะจัดการได้ ก็เลยคิดว่าลองสักตั้งหนึ่ง”
ต้นเชอร์รีนับร้อยในฟาร์มเล็ก ๆ ของคุณไวยเลด เป็นเชอร์รีแคระที่ได้รับการต่อกิ่งมาจากเชอร์รีพันธุ์ป่า มีขนาดต้นไม่สูงมาก ยืนต้นถึงยอดนานหลายสิบปี เมื่อออกผลสามารถยืนเก็บได้ด้วยมือ โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ อย่างเช่น รถกระเช้าเก็บเชอร์รี เธอเล่าว่า ตามปกติแล้วจะเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วยตนเองได้วันละประมาณ 100-200 กิโลกรัมเมื่อถึงช่วงต้นเดือนตุลาคมของทุกปี งานของคุณไวยเลดสำหรับฤดูกาลเชอร์รีเริ่มต้นขึ้น ตั้งแต่การให้น้ำและปุ๋ยอย่างเหมาะสม ตัดหญ้า คลุมตาข่ายป้องกันนก จนกระทั่งดอกเชอร์รีที่บานสะพรั่ง เปลี่ยนเป็นผลเชอร์รีลูกเล็ก ๆ ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน เติบโตจนสุกงอม กลายเป็นลูกเชอร์รีสีแดงก่ำน่ารับประทาน พร้อมให้เก็บเกี่ยวช่วงกลางเดือนธันวาคม ก่อนที่คุณไวยเลดจะดูแลสวนพลัมที่เหลือต่อไป เพื่อให้ออกผลในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ เป็นอันเสร็จสิ้นงานในฟาร์มแต่ละปีของเธอแม้เชอร์รีจะเป็นพืชที่ปลูกง่าย ใช้เวลาไม่กี่เดือนก็ออกผล แต่คุณไวยเลดก็ต้องทำงานอย่างหนักตั้งแต่เช้าจนเย็น คอยดูว่าผลเชอร์รีต้นไหนจะสุกก่อนแม้จะเป็นพันธุ์เดียวกัน เร่งเก็บลูกที่สุกแล้วเข้าห้องเย็น และคอยดูว่ามีนกหลุดรอดเข้าตาข่ายไปกินผลที่กำลังสุกหรือไม่
คุณ ไวยเลด พุทธาศรี กับเชอร์รีที่เป็นพันธุ์แคระในสวนของเธอ Source: Supplied
Source: Gala Iv via Unsplash
อีกสิ่งที่ท้าทายสำหรับคุณไวยเลดในการปลูกเชอร์รี นั่นคือเรื่องสภาพอากาศ ทั้งลมแรงที่อาจทำให้ตาข่ายกันนกดึงลูกเชอร์รีจนร่วงพื้น เพราะไม่สามารถสร้างตาข่ายกันนกครอบไว้เหมือนต้นเชอร์รีขนาดใหญ่ได้ และฝนที่ตกลงมาติดต่อกันหลายวัน ซึ่งทำให้ลูกเชอร์รีดูดน้ำจนผิวปริแตกและเกิดเชื้อราได้
มีบ้างที่ท้อ...แต่ก็ภูมิใจ
แม้จะเป็นคนรักการปลูกต้นไม้และใกล้ชิดธรรมชาติ แต่การทำอะไรมากมายเพื่อให้ต้นไม้ในฟาร์มนับร้อยออกผลอย่างดี ทำให้คุณไวยเลดรู้สึกกังวลและท้อแท้ในบางเวลา
“มันก็มีเรื่องปวดหัวเหมือนกัน เพราะเราต้องสู้รบปรบมือกับนก มันทำให้เรากลายเป็นคนที่ค่อนข้างหงุดหงิดง่าย ออกไปข้างนอกก็จะคิดอยู่ตลอดเวลา บางทีก็นอนไม่หลับ กลัวว่านกจะเข้าเน็ตหรือเปล่า เพราะว่าถ้าเขาเข้าไป นกเนี่ยสร้างความเสียหายให้พี่ได้ 30-40% เลย”
“แทนที่เราจะได้ขายดี ๆ บางทีเก็บเชอร์รี 10 ลูก เราได้แค่ 2 ลูก นอกนั้นคือเราต้องทิ้งหมดเลย ทิ้งลงที่พื้นเลย เราก็ดูแลมาตั้งนาน นกก็มาทำอย่างนี้ และพี่ก็เป็นภูมิแพ้ อยู่กับฟาร์ม อากาศแห้ง เจอฝุ่น เจอเกษร พี่ก็หนักเหมือนกัน แล้วก็เป็นทุกปี”ถึงงานจะหนักและเหนื่อย แต่บ้านสวนฟาร์มแห่งนี้ก็มอบบรรยากาศอิสระให้กับคุณไวยเลด ที่รักความสันโดษ และการได้อยู่ใกล้กับธรรมชาติ นอกเหนือจากผลผลิตการเกษตรปลอดสารที่เธอเก็บเกี่ยวได้ในทุกปี
เชอร์รีจากสวนของคุณไวยเลด ที่วางขายตามตลาดนัดเกษตรกร Source: Supplied
“เราตื่นขึ้นมาปุ๊บก็ทำงานได้เลย เราไม่ต้องเดินทาง แล้วก็เราไม่ติดกับใคร เราไม่มีเพื่อนบ้าน และเราก็อยู่ของเราง่าย ๆ อยากทำอะไรก็ทำ”
แต่สิ่งที่คุณไวยเลดภูมิใจที่สุดในชีวิตชาวสวน นั่นคือคำชื่นชมจากปากลูกค้าที่ได้ซื้อเชอร์รีของเธอไปรับประทาน และหวนกลับมาซื้ออีก ครั้งแล้วครั้งเล่า
“ภูมิใจที่สุดเหรอคะ เวลาลูกค้าชิมเชอร์รีของเรา แล้วก็บอกว่า ฉันไม่เคยกินเชอร์รีที่ไหนอร่อยอย่างนี้มาก่อนเลย”
“มันมีความรู้สึกว่าของเรามันพิเศษจริง หรือเป็นเพราะเราปลูกอย่างใส่ใจ เราชิมเองเรารู้ว่ามันอร่อย เราก็อยากให้คนได้กินและก็อร่อย แล้วพอเขาเอาไปพูด ไปเปรียบเทียบ มันทำให้เรารู้สึกภูมิใจมาก คือมันรู้สึกดี เวลาเราไปตลาด เราให้ลูกค้าชิม ลูกค้าชอบ แล้วลูกค้ากลับมาอีก”
เกร็ดความรู้สำหรับคนอยากไปเก็บเชอร์รี
สำหรับคุณผู้อ่านที่สนใจอยากไปเก็บเชอร์รีในฟาร์ม ทั่วออสเตรเลียในช่วงอากาศอบอุ่นแบบนี้ คุณไวยเลดมีคำแนะนำว่า ควรเก็บโดยติดขั้วไว้ เพื่อให้เก็บไว้ในตู้เย็นได้นาน และเลือกเก็บในวันที่อากาศไม่ร้อนมากนักเพื่อไม่ให้ก้านหลุด
“ถ้าเราเก็บติดขั้ว มันจะอยู่ในตู้เย็นได้นาน เพราะมันจะไม่มีแผลที่ลูก ถ้าเราดึงเชอร์รีออกมาจากขั้ว เราจะเห็นน้ำเชอร์รีออกมา อันนั้นคือเราจะเก็บได้ไม่นาน ต้องรีบกินเลย แต่ถ้าเก็บมีขั้วมันจะอยู่ได้นานเป็นอาทิตย์ถึง 4 อาทิตย์เลย”
“ถ้าอากาศที่ร้อนมากกว่า 22-23 องศา ก้านเชอร์รีเขาจะเหี่ยว และพอเขาเหี่ยว มันจะทำให้ตรงก้านกับลูกหลวม ก้านจะหลุดง่าย มันจะทำให้เชอร์รีของเราเป็นเกรด 2 ขายไม่ได้ราคา”
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
ฟาร์มจิ้งหรีดไอเดียสาวไทยทั้งเลี้ยงทั้งขายในออสเตรเลีย