ตัวแทนด้านการศึกษานานาชาติ กำลังผลักดันให้รัฐและมณฑลต่าง ๆ ทั่วออสเตรเลีย วางแผนรองรับการกลับมาของนักศึกษาต่างชาติ ก่อนการรับนักศึกษาในเดือน ก.พ. นี้ ขณะมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เปิดเผยว่า พบการยื่นขอเลื่อนการศึกษาที่สูงขึ้น และการลงทะเบียนเรียนที่ลดต่ำลง ท่ามกลางความไม่แน่นอนในการเดินทางระหว่างประเทศ
ขณะที่ประเทศอย่างแคนาดาและอังกฤษ ต่างกำลังจูงใจบรรดานักศึกษาในประเทศแถบเอเชียและอินเดีย ระหว่างที่ออสเตรเลียยังคงปิดพรมแดนอย่างไม่มีกำหนด
ประเด็นสำคัญ
- รัฐนิวเซาท์เวลส์ ได้มีการกดดันให้หยุดแผนนำนักศึกษาต่างชาติกลับมาศึกษาต่อ
- ส่วนที่รัฐวิกตอเรีย (VIC) เซาท์ออสเตรเลีย (SA) และมณฑลนครหลวงออสเตรเลีย (ACT) ยังคงมีแผนที่จะนำนักศึกษาต่างชาติกลับมาเรียนต่อในออสเตรเลีย
- ที่มณฑลนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี (NT) กำลังจะมีการนำนักศึกษาต่างชาติจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย เอเชียตัววันออกเฉียงใต้ และอนุทวีปอินเดีย กลับมาศึกษาต่อในออสเตรเลีย
รายงานจากสถาบันมิตเชลล์ ได้ประมาณว่า จำนวนนักศึกษาต่างชาติที่มาศึกษาต่อในออสเตรเลียจะลดลงกว่า 300,000 คน ในเดือนกรกฎาคมนี้ หากมาตรการจำกัดการเดินทางยังคงมีผลบังคับใช้ และจะทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ และรัฐวิกตอเรีย ซึ่งเป็น 2 รัฐในออสเตรเลียที่มีจำนวนนักศึกษาต่างชาติมากที่สุดในประเทศ
International Education Association of Australia CEO Phil Honeywood. Source: IEAA
‘นอร์เทิร์นเทร์ริทอรี’ เตรียมดึง นศ. ต่างชาติภูมิภาคเอเชียกลับมา
นายฟิล ฮันนีวูด (Phil Honeywood) ประธานบริหาร สมาคมการศึกษาระหว่างประเทศแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า ออสเตรเลียมีความต้องการอย่างมาก ในการให้รัฐบาลรัฐหรือมณฑลใดก็ตาม “กล้าหาญทางการเมือง” พอที่จะเดินหน้าแผนนำนักศึกษาในมหาวิทยาลัยของตนกลับมา
“ถ้ามันดีพอที่จะให้นักกีฬาเทนนิส 1,200 คน พร้อมผู้ติดตามเดินทางเข้ามายังออสเตรเลีย ในพื้นที่ความปลอดภัยพิเศษได้ ถ้านักกีฬาคริกเก็ตนานาชาติเดินทางมาแข่งที่ออสเตรเลียได้ และถ้ามันดีพอที่จะให้เจ้าหน้าที่จากกองทัพในประเทศต่าง ๆ มาฝึกซ้อมเป็นเวลาไม่กี่สัปดาห์ได้ ทำไมเราจะไม่สามารถนำนักเรียนต่างชาติเดินทางกลับมาศึกษาต่อที่นี่ 3-4 ได้ล่ะ”
นายฮันนีวูด กล่าวเสริมว่า รัฐและมณฑลต่าง ๆ ในออสเตรเลียนั้น ควรที่จะยึดหลักปฏิบัติของมณฑลนอร์เทิร์นเทร์ริทอรีเป็นตัวอย่าง ซึ่งเป็นเขตปกครองแรกในออสเตรเลียที่สามารถนำนักศึกษาต่างชาติกลับมาได้แล้ว 63 คน นับตั้งแต่พรมแดนระหว่างประเทศของออสเตรเลียปิดลงสำหรับผู้ถือวีซ่าชั่วคราว เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
คณะรัฐบาลมณฑลนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี ได้ทำข้อตกลงกับรัฐบาลสหพันธรัฐ และมหาวิทยาลัยชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin University) เมือเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา ในการนำนักศึกษาต่างชาติเดินทางกลับมายังนครดาร์วิน
โฆษกมหาวิทยาลัยชาวส์ ดาร์วิน ได้กล่าวกับเอสบีเอส ภาคภาษาปัญจาบว่า พวกเขากำลังรอคอยการอนุมัติจากคณะรัฐบาล ภายใต้การนำของ นายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรี ในการให้เที่ยวบินถัดไปนำนักศึกษาต่างชาติกลับมายังนครดาร์วิน ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
“หากได้รับการอนุมัติ ทางมหาวิทยาลัย ฯ หวังว่า จะสามารถนำนักศึกษาระหว่างประเทศกลุ่มต่อไปกลับมายังนครดาร์วินได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า” โฆษกมหาวิทยาลัยชาลส์ ดาร์วิน กล่าว
CDU หวังว่า จะสามารถนำนักศึกษาจากภูมิภาคเอเชีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอนุทวีปอินเดีย กลับมาในเที่ยวบินนำร่องในอนาคต
NSW กดดันสกัดแผนนำ นศ.ต่างชาติ กลับมาเรียนต่อ
เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา นางกลาดีส์ เบเรจิกเลียน มุขมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์ ได้ให้ความหวังสำหรับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ด้วยการประกาศให้มีการสำรองที่ในสถานกักโรค 1,000 ตำแหน่งต่อสัปดาห์ สำหรับนักศึกษาต่างชาติที่จะเดินทางกลับมาศึกษาต่อ และผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ
แต่แผนแห่งความหวังที่มุขมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์ได้ประกาศไปนั้น กำลังถูกคุกคามจากไวรัสโคโรนาชนิดกลายพันธุ์ ที่สามารถแพร่ระบาดได้เร็วกว่าชนิดเดิม
“ดิฉันคิดว่า นั่นเป็นปณิธานความมุ่งมั่นของเราตลอดมา แต่เราไม่สามารถทำเหมือนกับว่า เราทราบถึงความรุนแรงของไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนี้ จนกว่าเราจะเข้าใจมากขึ้นว่าการกลายพันธุ์นี้จะส่งผลอย่างไร” นางเบเรจิกเลียน กล่าว
นายสจ๊วต เอเยอร์ส (Stuart Ayres) รัฐมนตรีด้านงาน การลงทุน การท่องเที่ยว และพื้นที่ซิดนีย์ตะวันตก ได้ย้ำว่า การกลับมาของนักศึกษาต่างชาตินั้น จะเป็นส่วนสำคัญของการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจหลังวิกฤตไวรัสโคโรนาของรัฐนิวเซาท์เวลส์
“รัฐนิวเซาท์เวลส์ต้องการให้นักศึกษาต่างชาติกลับไปศึกษาในวิทยาเขตของสถาบันต่าง ๆ อย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ในปี 2021 แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ คือการนำชาวออสเตรเลียกลับบ้าน” นายแอเยอร์ส กล่าวในแถลงการณ์กับเอสบีเอส ภาคภาษาปัญจาบ
“รัฐบาลรัฐนิวเซาท์เวลส์จะยังคงทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลเครือจักรภพ และภาคการศึกษา ด้วยเป้าหมายสำคัญในการนำนักศึกษาต่างชาติกลับมาศึกษาต่อในปี 2021”
รัฐวิกตอเรีย (VIC)
รัฐวิกตอเรีย ซึ่งขณะนี้มีนักศึกษาต่างชาติอยู่ในสังกัดมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ราว 120,000 คน ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องกับรัฐบาลสหพันธรัฐ ผ่านคณะทำงานที่มีชื่อว่า International Students Arrivals Working Group ซึ่งมีหน่วยงานศึกษาธิการ ทักษะ และการจ้างงาน และสำนักนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ร่วมเป็นประธานในการอำนวยความช่วยเหลือในการเดินทางกลับมาศึกษาต่อของนักศึกษาต่างชาติในปี 2021
“งบประมาณในขณะนี้ ได้รับการจัดสรรเป็นมูลค่า $33.4 ล้านดอลลาร์ ในการสนับสนุนให้นักศึกษาต่างชาติเดินทางกลับมา และสร้างรากฐานที่แข็งแรงสำหรับการฟื้นฟูภาคการศึกษา” โฆษกรัฐวิกตอเรียกล่าวการศึกษานานาชาติมีมูลค่ามากถึง $40,000 ล้านดอลลาร์ ในระบบเศรษฐกิจของออสเตรเลีย และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมส่งออกที่สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศมากที่สุด
คุณมริดุล ดัล (Mridul Dhall) นักศึกษาต่างชาติสาขาบัญชีในมหาวิทยาลัยในนครเมลเบิร์น ติดค้างอยู่ในรัฐทางตอนเหนือของอินเดียมาตั้งแต่ มี.ค.ปีที่ผ่านมา Source: Supplied by Mr Dhall
คุณมริดุล ดัล (Mridul Dhall) นักศึกษาสาขาบัญชี ซึ่งติดค้างอยู่ในรัฐหรยาณา (Haryana) ทางตอนเหนือของอินเดีย ตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา กำลังรอคอยที่จะกลับไปใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยอีกครั้งในนครเมลเบิร์นด้วยความวิตกกังวล
คุณดัลในวัย 25 ปี กล่าวว่า การขาด “การสื่อสารจากรัฐบาลรัฐ” และ “สารที่กำกวม” จากบรรดามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทำให้เขารู้สึกวิตกกังวลมากขึ้นกว่าเดิม
“ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ทุก ๆ เดือน รัฐบาลประกาศแผนนำนักศึกษาต่างชาติกลับมา แต่ต่อมาก็หยุดทุกอย่างไปอย่างเฉย ๆ นั่นเป็นการทำลายความหวังของเรา และทำให้เวลาในการรอคอยนั้นนานขึ้นไปอีก” คุณดัล กล่าว
“ผมขอจากใจไปยังรัฐบาลรัฐวิกตอเรีย ให้ประกาศวันเวลาที่จะเดินทางกลับไปได้ เพื่อที่เราจะได้วางแผนอนาคตได้ เรายินดีที่จะจ่ายค่าตั๋วเครื่องบิน และค่าใช้จ่ายในการกักโรคที่โรงแรมด้วยตนเอง”
รัฐเซาท์ออสเตรเลีย (SA)
คาดว่า จะมีนักศึกษาต่างชาติเกือบ 300 คน ที่ติดค้างอยู่นอกออสเตรเลีย ได้กลับมาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของรัฐ 3 แห่ง ในนครแอดิเลด ผ่านสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่องที่ได้มีการเสนอไปก่อนหน้านี้ และมีกำหนดที่จะเปิดตัวในปี 2021
โฆษกรัฐบาลรัฐเซาท์ออสเตรเลีย ได้ยืนยันว่า รัฐบาลเซาทืออสเตรเลียกำลังทำงานกับหุ้นส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการต้อนรับนักศึกษาต่างชาติกลับมาอีกครั้งโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการตัดสินใจเลื่อนโครงการนำร่องนี้ออกไปจนถึงต้นปี 2021 เพื่อให้แน่ใจว่า มีความปลอดภัยต่อประชาชนในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย การจัดเที่ยวบินพิเศษพาชาวออสเตรเลียกลับบ้าน และการเดินทางมาถึงโดยสวัสดิภาพของนักศึกษาต่างชาติ”
“ระหว่างที่เรายังคงตั้งมั่นที่จะพาชาวออสเตรเลียกลับบ้าน เรากำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับบรรดามหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการต้อนรับการกลับมาของนักศึกษาต่างชาติอย่างปลอดภัยอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้” โฆษกรัฐบาลรัฐเซาท์ออสเตรเลีย กล่าว
Source: Getty Images
มณฑลนครหลวงออสเตรเลีย (ACT)
ในขณะเดียวกัน มีการคาดว่า นักศึกษาต่างชาติจะได้กลับมาศึกษาต่อในกรุงแคนเบอร์รา ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จากรายงานที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ แคนเบอร์รา ไทมส์ (Canberra Times) ระบุว่า เป็นส่วนหนึ่งของแผนในการเสนอให้สับเปลี่ยนเที่ยวบินที่นำชาวออสเตรเลียในกลุ่มเสี่ยงกลับมา เป็นเที่ยวบินพานักศึกษาต่างชาติกลับมาแทน
แผนดังกล่าว คาดว่าจะสามารถนำนักศึกษาต่างชาติราว 350 คน ที่อยู่ระหว่างรอการตัดสินใจขั้นสุดท้ายจากรัฐบาลสหพันธรัฐ ที่ก่อนหน้านี้ถูกเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนดเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาระลอก 2 ในนครเมลเบิร์น
เอสบีเอส ภาคภาษาปัญจาบ ได้ติดต่อไปยังหน่วยงานในรัฐควีนสแลนด์ รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย และรัฐแทสเมเนีย เพื่อขอความเห็นในประเด็นการนำนักศึกษาต่างชาติกลับมา และจนถึงขณะนี้ ยังคงไม่มีการประกาศแผนการใด ๆ อย่างเป็นทางการ ในการนำนักศึกษาต่างชาติกลับมา
ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ
การตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาขณะนี้สามารถทำได้ทั่วออสเตรเลีย หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
'อนามัยโลก' เตือนยังสร้างภูมิคุ้มกันโควิดทั่วโลกไม่สำเร็จปีนี้