ล่ามไทยร่วมประท้วง เหตุศาลลดค่าแรง โวย 'ถูกขโมยเงิน'

Photo-Interpreter Strike (3).jpg

ล่ามหลายภาษารวมตัวประท้วงหน้าศาล Credit: Translator and Interpreter Australia

นับเป็นเวลากว่า 3 สัปดาห์ที่ล่ามรวมตัวกันประท้วงหน้าศาลที่รัฐวิกตอเรีย เหตุถูกลดค่าแรง สมพิศ วัตกินส์ ล่ามไทยที่รัฐวิกตอเรีย หนึ่งในล่ามที่ร่วมประท้วงเล่าถึงสาเหตุของการประท้วงครั้งนี้


กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน

สมพิศ วัตกินส์เป็นนักแปลและล่ามคนไทยที่มีใบรับรองนาติ (NAATI) ที่รัฐวิกตอเรีย และเป็นหนึ่งในล่ามที่ร่วมประท้วงในครั้งนี้ เธออธิบายว่าเหตุการณ์นี้เป็นการรวมตัวกันประท้วงของล่ามในรัฐวิกตอเรียกับองค์กร คอร์ท เซอร์วิสส์ ออสเตรเลีย (Court Services Australia) หรือ CSV ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลที่บริหารจัดการบริการต่างๆ ของศาลในรัฐวิกตอเรีย รวมถึงการจ้างงานล่ามที่ทำงานให้ศาลด้วย
Photo-Interpreter Strike (7).jpg
ล่ามรวมตัวประท้วงหน้าเคานต์ตี คอร์ท Credit: Sompit Watkins
สมพิศอธิบายถึงการทำงานของล่ามว่า ล่ามส่วนใหญ่ทำงานกับภาครัฐ ทำให้รัฐบาลเป็นทั้งผู้จัดหางานและผู้บริโภค โดยล่ามจะได้รับการจ้างงานผ่านเอเจนซี ซึ่งให้บริการทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น แลงเกวจ ลูป (Language Loop) ออนคอล (Oncall) ฯลฯ และล่ามมักมีสถานะเป็นพนักงานชั่วคราวหรือผู้รับเหมาอิสระ (contractor)

“ตัวอย่างเช่น คนไทยที่ไปหาหมอ ไปคุยกับเซ็นเตอร์ลิงก์ ไปสัมภาษณ์กับอิมฯ หรือว่าไปศาล จะไม่ต้องจ่ายค่าจ้างล่าม ยกเว้นในบางกรณี เพราะหน่วยงานรัฐที่ติดต่อล่ามเป็นคนจ่ายค่าล่าม เพราะฉะนั้นรัฐจะเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขในการขอรับบริการ และปกติแล้วจะไม่คำนึงถึงค่าตอบแทนและเงื่อนไขในการทำงานของล่าม” 
เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ปฏิวัติวงการแปลภาษา-ล่าม

อย่างไรก็ตาม สมพิศกล่าวว่า รัฐบาลมักจะเป็นผู้กำหนดค่าจ้างหรือสัญญาจ้าง โดยที่ล่ามไม่มีอำนาจในการต่อรอง เนื่องจากองค์กรของรัฐบาลและเอเจนซีมักปรับเปลี่ยนค่าจ้างและเงื่อนไขในการทำงานของล่ามเสมอ สิ่งนี้เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาปลายปี แม้จะมีสหภาพแรงงานล่ามและนักแปลเข้ามาไกล่เกลี่ย

สำหรับการที่ล่ามมารวมตัวกันประท้วงในครั้งนี้ เนื่องจากล่าสุด CSV ปรับลดค่าจ้างล่าม และเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติที่เคยใช้ในการทำงาน จากที่เคยจ้างงานแบบครึ่งวันหรือเต็มวัน เป็นการจ้างแบบชั่วโมงที่สั้นลง ทำให้ได้รับค่าตอบแทนน้อยลง รวมถึงสิ่งนี้ยังกระทบความแน่นอนในการทำงานด้วย

“งานศาลเนี่ย เป็นงานที่คาดเดาไม่ได้ สมมติว่าดิฉันถูกจ้างไปเป็นล่ามในการไต่สวนรับสารภาพ อาจใช้เวลาไม่กี่นาที สมมติว่าจำเลยรับสารภาพ ผู้พิพากษาอาจไต่สวนเพิ่มเติม และสั่งให้ดิฉันอยู่ต่อ”
ล่ามจะได้ค่าจ้างน้อยลงประมาณอย่างต่ำ $10 หรือ $40 - $50 เหรียญต่อวัน ล่ามไม่ได้ค่าจ้างเพิ่มมานานแล้ว
สมพิศ ล่ามไทย กล่าว
Photo-Interpreter strikes-Sompit Watkins (1).jpg
สมพิศ วัตกินส์ขณะร่วมประท้วงกับล่ามภาษาอื่น Credit: Sompit Watkins
สมพิศและล่ามภาษาอื่นกังวลว่า การปรับลดค่าจ้างครั้งนี้อาจบานปลายไปถึงงานอื่นของรัฐบาลด้วย ล่ามจึงร่วมกันประท้วงด้วยการหยุดรับงานศาล จนถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 1 เดือนแล้ว โดยมีโปรเฟสชันนัล ออสเตรเลีย (Professional Australia) หน่วยงานสำหรับนักวิชาชีพในออสเตรเลีย และองค์กรนักแปลและล่ามออสเตรเลีย (Translator and Interpreter Australia) ให้การสนับสนุน

“ทางผู้ให้บริการ พอไม่มีคนรับงานที่ศาล ก็เปลี่ยนงานเป็นการทำงานทางโทรศัพท์หรือวิดิโอแทน เพื่อให้ล่ามจากรัฐอื่นรับงานแทนได้ ซึ่งล่ามในรัฐอื่นที่สนับสนุนล่ามเช่นกันก็ปฏิเสธงาน”

สมพิศตอบคำถามว่าการประท้วงถือว่าขัดหลักจรรยาบรรณหัวข้อความสามัคคีหรือไม่ เหตุผลที่ล่ามยังทำงานกันต่อ ความสำคัญของล่ามทั้งกับคนไทยและกับหน่วยงานของออสเตรเลีย และความมั่นคงของงานล่ามที่ออสเตรเลีย

ฟังได้ในบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม
กด ▶ ฟังสัมภาษณ์ฉบับเต็ม
Thai_Interview_Interpreter protest_120924 image

ล่ามไทยร่วมประท้วง เหตุศาลลดค่าแรง โวย 'ถูกขโมยเงิน'

SBS Thai

12/09/202417:07

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 
 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share