จะเกิดอะไรขึ้นหลังรู้ผลการลงประชามติ

Voters in a polling booth (SBS).jpg

นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น หลังจากที่เรารู้ว่าการลงประชามติเรื่องคณะที่ปรึกษาเสียงชนพื้นเมืองต่อรัฐสภา หรือ Indigenous Voice to Parliament ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว


อีกไม่ถึงหนึ่งเดือน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะให้คำตัดสินเกี่ยวกับเรื่องคณะที่ปรึกษาเสียงชนพื้นเมืองต่อรัฐสภา หรือ Indigenous Voice to Parliament ผ่านการลงประชามติในวันที่ 14 ตุลาคม

ในการลงประชามติ 14 ตุลาคมนี้ จะการถามชาวออสเตรเลียว่า พวกเขาสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญหรือไม่

เมื่อการนับคะแนนเสียงเริ่มขึ้น อาจใช้เวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์กว่าจะทราบผลลัพธ์

การลงประชามติจะประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องได้รับคะแนนเสียงที่เรียกกันว่า "เสียงข้างมากสองต่อ" หรือ double majority

นั่นคือทั้งประชากรส่วนใหญ่และรัฐส่วนใหญ่ลงคะแนนเสียงว่า Yes

หากการลงประชามติประสบความสำเร็จ ผลการลงประชามติก็จะถูกส่งไปยังผู้สำเร็จราชการแทนกษัตริย์อังกฤษประจำสหพันธรัฐ เดวิด เฮอร์ลีย์

รัฐธรรมนูญจะถูกเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ยอมรับชนกลุ่มแรกของออสเตรเลียโดยจัดตั้งคณะที่ปรึกษาเสียงของชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส
ศาสตราจารย์ เชอริล ซอนเดอร์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญของมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น กล่าวว่า จากนั้นจะขึ้นอยู่กับรัฐสภาที่จะกำหนดว่าคณะที่ปรึกษาดังกล่าวจะดำเนินการอย่างไร

"สิ่งต่อไปที่จะเกิดขึ้นคือจะต้องมีการร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งคณะที่ปรึษาเดอะวอยซ์ กำหนดองค์ประกอบและหน้าที่ของมัน และอื่น ๆ นอกจากนี้ยังจะต้องมีการคิดอย่างรอบคอบภายในรัฐบาลและรัฐสภาด้วยว่าจะนำคณะที่ปรึกษาเดอะวอยซ์ไปเกี่ยวข้องในการดำเนินงานอย่างไร และคำตอบของสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนลงในกฎหมายอย่างไร" ศ.ซอนเดอร์ส อธิบาย

หลักการในการพิจารณาเรื่องนี้ได้ถูกกำหนดไว้แล้วผ่านกระบวนการออกแบบร่วม

แต่ศาสตราจารย์แอนน์ ทูมีย์ แห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่า แม้ว่าจะผ่านบททดสอบด้วยการได้เสียงข้างมากสองต่อสำหรับการลงประชามติ แต่ก็อาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่คณะที่ปรึกษาเสียงชนพื้นเมืองต่อรัฐสภา หรือ เดอะวอยซ์ จะกลายเป็นจริง

"อาจใช้เวลาสักระยะหนึ่ง อาจใช้เวลาเป็นปีหรืออาจนานกว่านั้นก็ได้ ฉันคาดว่ารัฐบาลอัลบานีซีต้องการทำให้เสร็จในช่วงวาระที่ดำรงตำแหน่งนี้เพื่อจะแน่ใจได้ว่ารัฐบาลจะสามารถดำเนินโครงการให้เสร็จสิ้น ในอดีตการก่อตั้งองค์กรอื่น ๆ เช่น ศาลสูงแห่งออสเตรเลีย ต้องใช้เวลาหลายปีนับจากจุดที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมีองค์กรเหล่านี้" ศ.ทูมีย์ กล่าว

ทางเลือกอื่นคือ ประเทศลงคะแนนเสียงว่า No ในวันที่ 14 ตุลาคม

รัฐธรรมนูญก็จะไม่เปลี่ยนแปลง

แต่จากการที่รัฐบาลและฝ่ายค้านมีความเห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับประเด็นนี้ ศ.ทูมีย์ กล่าวว่าทั้งสองฝ่ายจะตรวจสอบผลลัพธ์ของการลงประชามติอย่างใกล้ชิด

"ทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาอย่างใกล้ชิดเพื่อพยายามหาเหตุผลของการลงคะแนนเสียงในการลงประชามติ เพื่อให้รู้อย่างชัดเจนถึงสิ่งที่ชาวออสเตรเลียต้องการ ดังนั้น ทั้งหมดนี้จริง ๆ แล้วอยู่ที่ว่า ชาวออสเตรเลียหมายถึงอะไรในการโหวต No และเป็นเรื่องยากที่จะรู้แน่ชัด" ศ.ทูมีย์ แสดงความเห็น
สิ่งหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ในอนาคตคือ โอกาสที่จะมีการลงประชามติอีกครั้ง โดยจะเป็นการยอมรับชาวพื้นเมืองอย่างเป็นทางการในรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว ซึ่งปีเตอร์ ดัตทัน ผู้นำฝ่ายค้านได้กล่าวไว้ว่าอาจเกิดขึ้น

ศาสตราจารย์ซอนเดอร์สกล่าวว่า ผลการลงประชามติจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อการเรียกร้องสนธิสัญญาบางส่วนกับชนกลุ่มแรกนั้น ยังเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง

"มันสามารถเกิดขึ้นได้ไม่ว่าผลการลงประชามติจะเป็นอย่างไร ฉันคิดว่าจะเป็นประเด็นถกเถียงและต้องรอดูกันต่อไป แม้ว่าจะมีเจตจำนงทางการเมืองที่จะเดินหน้าทำสนธิสัญญาหากการลงประชามติล้มเหลว แต่นั่นก็จะใช้เวลาสักระยะ" ศ.ซอนเดอร์ส คาดการณ์

แต่ผลการลงประชามติก็จะไม่ขัดขวางรัฐและมณฑลต่าง ๆ ไม่ให้ดำเนินการในด้านนี้

ศาสตราจารย์ทูมีย์กล่าวว่า ไม่ว่าผลการลงประชามติจะออกมาเป็นอย่างไร ได้มีการตอกย้ำถึงประเด็นสำคัญคือ ความจำเป็นในการปรับปรุงวิธีที่ชนกลุ่มแรกของชาติมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้านการกำหนดนโยบายต่าง ๆ

"ความจริงแล้ว รัฐและมณฑลมีอิทธิพลมากกว่าต่อชีวิตของชนพื้นเมืองของออสเตรเลีย และผลการลงประชามติจะไม่กระทบต่อสิ่งที่รัฐและมณฑลดำเนินการต่อไป ฉันคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ทุกคนได้ยินดังและชัดเจนคือ เราต้องให้ความสำคัญกับชาวพื้นเมืองของออสเตรเลียให้มากขึ้น และรับฟังพวกเขาว่ากฎหมายและนโยบายต่าง ๆ นั้นส่งผลต่อพวกเขาอย่างไร" ศ.ทูมีย์ กล่าวทิ้งท้าย

คุณสามารถค้นหาข้อมูลที่ครอบคลุมรอบด้านเกี่ยวกับการลงประชามติครั้งนี้ได้ที่พอร์ทัล SBS Voice Referendum ไปที่เว็บไซต์ www.sbs.com.au/voicereferendum

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share