ฟังพอดคาสต์เรื่องนี้
LISTEN TO
My Journey: สาวแกร่งแห่งวงการมะม่วงในออสเตรเลีย
SBS Thai
26/07/202109:55
กว่าจะสร้างสวนผลไม้เพื่อการค้า ที่ทุกวันนี้ มีมะม่วงกว่า 50,000 ต้น ซึ่งให้ผลผลิตเพื่อส่งออกและขายทั่วประเทศ ปีละกว่า 2,000 ตันนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อคุณเป็นผู้หญิงผู้ย้ายถิ่นฐาน ที่เข้าไปในวงการที่ส่วนใหญ่ยังคงมีอคติต่อผู้หญิงครอบงำ
คุณสรามาศ หรือที่คนไทยในดาร์วินต่างเรียกขานกันว่า คุณตู่ หรือพี่ตู่ ประธานสมาคม NT-Thai Association เธอก้าวสู่การเป็นเจ้าของสวนมะม่วงอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว เมื่อราวปี 1992 ที่เธอย้ายมาอยู่ในออสเตรเลียพร้อมกับคุณเอียน ควิน คู่ครอง เมื่อมาถึงทั้งสองได้ตัดสินใจซื้อบ้านและคุณตู่ได้ลงเรียนปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin University)“พี่เป็นผู้บุกเบิก เป็นผู้หญิงคนแรกที่ทำ สาเหตุที่ทำเพราะหาเงินเรียน ตอนซื้อบ้านครั้งแรกเขามีมะม่วงมาด้วย 163 ต้น เราก็ดีใจ เราก็เก็บมะม่วงแล้วเอาเงินที่ขายมะม่วงได้ไปจ่ายค่าเล่าเรียน เริ่มจากตรงนั้น มองเห็นว่าเป็นธุรกิจที่เราพอจะทำได้ เลยทำต่อมาเรื่อยๆ บางคนอาจไปทำร้านอาหารจ่ายค่าเล่าเรียน แต่พี่ตู่ทำสวนเพื่อจ่ายค่าเล่าเรียน” คุณตู่ สรามาศ ราชแก้ว เล่า
ภาพที่คุณตู่บอกว่า เป็นภาพประวัติศาสตร์ ที่เธอและคู่ครอง คือคุณเอียน ควิน เริ่มการทำสวนมะม่วง เมื่อย้ายมาอยู่ในออสเตรเลียใหม่ๆ Source: Supplied by Saramat Ruchkaew
เส้นทางอันขรุขระเพราะอคติต่อผู้หญิง
จากนั้น เมื่อได้ทำงานรัฐบาล แต่คุณตู่ยังคงดูแลสวนมะม่วงของตนเองในวันเสาร์อาทิตย์อยู่อย่างต่อเนื่อง พร้อมขยายกิจการไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายเธอได้ตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาเป็นชาวสวนมะม่วงอย่างเต็มตัว แต่การเข้ามาทำธุรกิจสวนมะม่วงอย่างเต็มตัวของผู้หญิงผู้ย้ายถิ่นฐานในออสเตรเลียเป็นเส้นทางที่มีขวากหนาม“เพราะเราเป็นคนไทยและเป็นผู้หญิงด้วย และส่วนใหญ่เกษตรกรชาวสวนที่นี่มักเป็นชาวออสเตรเลียผู้ชายที่อายุ 50 ปีขึ้นไป แล้วเราเป็นผู้หญิงเอเชียตัวเล็กๆ ที่มาทำสวนกับเขา ก็ค่อนข้างจะหนัก” คุณตู่ เผยถึงอุปสรรคที่มาจากอคติของผู้คนไม่น้อยในอุตสาหกรรมนี้
สวนมะม่วงของคุณตู่ เมื่อช่วงแรกที่ยังคงทำสวนมะม่วงหารายได้เสริมระหว่างเรียน Source: Supplied by Saramat Ruchkaew
เธอยังจำได้ดีถึงการปฏิบัติต่อเธอของคนในวงการบางคนในช่วงแรกๆ ของการทำธุรกิจสวนมะม่วง Tou’s Garden เมื่อกว่า 28 ปีก่อน
“อุตสาหกรรมการเกษตรที่นี่ ส่วนใหญ่คนที่ทำจะเป็นผู้ชายชาวออสเตรเลียที่เป็นผู้ใหญ่ๆ หน่อย ทีนี้พอเขาเห็นผู้หญิงไทยตัวเล็กๆ มา เขาจะไม่ยอมฟังเรา เวลาเราพูดอะไรไป เขาจะไม่ฟัง บางทีแค่เราถามคำถาม เขาจะไม่ยอมตอบเลย ignore (ทำเพิกเฉย) ไปเลย”
“มีบางคนโทรมาถามเบอร์เครื่องแฟกซ์ (เครื่องโทรสาร) ว่าเบอร์อะไร เขายังไม่ยอมถามเราเลย เขาต้องไปถามคุณเอียน คุณเอียนเลยบอกว่า คนแบบนี้ที่ถึงขนาดไม่ยอมถามคุณว่าแฟกซ์เบอร์อะไร เราก็ไม่ต้องไปทำธุรกิจกับเขาแล้ว เพราะเขา intimidate (วางอำนาจบาตรใหญ่) เกินไป” คุณตู่ เล่า
การไม่ยอมรับในความสามารถของผู้หญิงไทยในวงการมะม่วงอย่างคุณตู่ยังไม่จบเพียงแค่นั้น แต่เคยลามไปถึงในที่ประชุมของบรรดานักธุรกิจเข้าของสวนมะม่วงต่างๆ ด้วย
“บางทีเราพูดอะไรบ้างในที่ประชุม เขาก็จะ put you down (พูดให้คุณรู้สึกเสียหน้าหรืออับอาย) เหมือนกับว่า ‘คุณจะไปรู้อะไร’ ซึ่งบางครั้งก็หนักในตอนแรกๆ แต่เราก็ไม่สนใจ เราถือเสียว่า เราไปประชุม เราก็ได้งานและได้ความรู้กลับมา”
มะม่วงที่ปลูกในสวนของคุณตู่ ที่ส่งขายทั้งในและนอกออสเตรเลีย Source: Supplied by Saramat Ruchkaew
ใช้ความสามารถเป็นเครื่องพิสูจน์
แม้ว่าบางคนในวงการจะมีอคติต่อเธอ แต่คุณตู่ไม่เคยย่อท้อและมุ่งมั่นที่จะให้แสดงความสามารถที่มีให้ประจักษ์ โดยทำอย่างถ่อมตน
“เราจดจ่อกับเป้าหมายให้มากที่สุด ยึดมั่นในมาตรฐานให้มากที่สุด และรู้วิธีการทำงานให้ถูกต้อง บางทีเราต้องโชว์ผลงานให้เขาเห็น ไม่จำเป็นต้องโชว์เขา เราต้องโชว์ผลงานกับลูกค้าของเรา ให้ลูกค้าของเราเป็นคนพูดเอง ซึ่งผลไม้ของพี่จะมีชื่อเสียงด้านคุณภาพและการจัดลงหีบห่อ (packaging) ฉะนั้น เราจึงมุ่งมั่นในจุดนี้ว่าเราขายของดีมีคุณภาพ” คุณตู่ กล่าว
จึงไม่น่าแปลกใจ ที่สวนมะม่วงของเธอ กลายเป็นสวนแรกของดาร์วิน ที่สามารถส่งออกมะม่วงไปจำหน่ายที่สวิตเซอร์แลนด์ได้สำเร็จ อีกทั้ง เธอยังได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งเหรัญญิกของสมาคมมะม่วง ในนานหลายปี“อีกจุดหนึ่งคือ อย่าใช้อารมณ์เวลาคุยกับเขา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องในที่ประชุมจะเจอหนัก เพราะพี่นั่งเป็นคณะกรรมการของสมาคมมะม่วงด้วย เราต้องพยายามผลักดันความเห็นของเราไปเรื่อยๆ ไปช้าๆ ไปบ่อยๆ และมีความเสมอต้นเสมอปลาย สิ่งเหล่านี้จะทำให้เขายอมรับเราว่า เรารู้ว่าเราพูดเรื่องอะไร ซึ่งสำคัญมากว่าเราจะต้องรู้จริงในสิ่งที่เรากำลังพูด” คุณตู่ กล่าว
การบรรจุมะม่วงลงกล่อง พร้อมส่งขายของสวน Tou's Garden Source: Supplied by Saramat Ruchkaew
เธอยังฝากข้อคิดในการทำงานในการทำงานร่วมกับผู้อื่นในออสเตรเลีย ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้ว่า
“ในการทำงาน เมื่อมีความขัดแย้ง แทนที่จะใช้เสียงดัง เราจะพยายามให้เหตุผลมากกว่าที่จะใช้การเป็นคนตัวใหญ่และเสียงดัง ไม่ว่าเราจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายสำคัญที่สุดคือ ถ้าเรารู้ว่าเราทำอะไร หรือเราชัดแจ้งกับวิธีการทำงาน คนจะยอมรับเรา ไม่ว่าเราจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย”
Image
เคล็ดไม่ลับสู่ความสำเร็จ
คุณตู่เชื่อว่า เชื่อว่า แม้จะอยู่ต่างบ้านต่างเมือง แต่หากมีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริง เราจะสามารถประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจได้
“ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีโอกาสมากมาย ถ้าพวกเรา น้องๆ ผู้หญิงไทยหรือว่าผู้ชายไทย ที่เข้ามาอยู่ในประเทศนี้ ถ้ามีจุดยืนเป็นของตัวเอง รู้ว่าต้องการอะไร ทำในสิ่งที่กำลังทำอยู่ได้อย่างดี และจดจ่อกับเป้าหมาย ซึ่งจะทำให้เราประสบความสำเร็จอย่างมากได้ทุกคน ต้องรู้จริงๆ ว่าเราจะทำอะไร ต้อง focus (มีใจมุ่งมั่นจดจ่อ) และมี passion (ความหลงใหลในสิ่งที่ทำ) รักมันจริงๆ ตั้งใจทำมันจริงๆ”เธอยังได้ฝากทิ้งท้ายถึงความช่วยเหลือจุนเจือกัน ที่ควรมีสำหรับผู้หญิงคนไทยในวงการธุรกิจ
คุณ สรามาศ ราชแก้ว เจ้าของสวนมะม่วง Tou’s Garden ยังเป็นประธานสมาคม NT-Thai Association ด้วย Source: Supplied by Saramat Ruchkaew
“ขอให้ be kind to another women (ขอให้เอื้อเฟื้อต่อผู้หญิงคนอื่นๆ ) สำคัญมากที่เราจะต้องดูแลน้องๆ ผู้หญิงคนอื่นๆ ที่พยายามจะขึ้นมาเป็นนักธุรกิจ เพราะว่าในอุตสาหกรรมอย่างที่พี่ตู่อยู่ ที่มีแต่ผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ เราต้องรู้แจ้งเห็นจริงกว่าที่เขาจะยอมรับในความสามารถของเรา เราจึงต้องดูแลกันเองและให้การสนับสนุนกันเองให้ได้มากที่สุด” คุณตู่ สรามาศ ราชแก้ว ย้ำ
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
ฟัง/อ่านเรื่องราวอื่นๆ ในพอดคาสต์ ซีรีส์ My Journey: