ฟังพอดคาสต์เรื่องนี้
LISTEN TO
My Journey: กว่าจะมีวันนี้ของทนายบุญจันทร์ แสนภูมี
SBS Thai
26/07/202109:48
จากเมืองลาวถึงค่ายผู้ลี้ภัย
ย้อนเวลาไปสมัยสงครามเย็น อันเป็นยุคแห่งการช่วงชิงอำนาจระหว่างขั้วมหาอำนาจสหรัฐอเมริกากับโซเวียต ภาวะสงครามแผ่ขยายมายังเวียดนาม ลาว เขมร สถานการณ์ในลาวตอนนั้นไม่ปลอดภัย คนลาวนับแสนอพยพหนีภัยสงครามข้ามมายังฝั่งไทย
หนึ่งในนั้นคือครอบครัวของคุณบุญจันทร์ แสนภูมี
“เมื่อสมัยนั้น ประมาณ 30 กว่าปีมาแล้ว ผมสมัยนั้นเป็นหนุ่มติดตามคุณพ่อ ทางเมืองลาวสมัยนั้นมีปัญหาทางด้านการเมือง เขาเรียกว่าสมัยสงครามเพิ่งสิ้นสุด คุณพ่อก็พาลูก ๆ ข้ามมาลี้ภัยในฝั่งเมืองไทย ผมก็อพยพมาอยู่ศูนย์อพยพที่เมืองไทย”
ชีวิตวัยหนุ่มของคุณบุญจันทร์ในฐานะผู้ลี้ภัยที่ศูนย์อพยพบ้านนาโพธิ์ จ.นครพนม จึงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ตอนนั้นคุณพ่อของคุณบุญจันทร์เคยเป็นทหารเลยตั้งใจอยากพาครอบครัวทั้ง 12 คนไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่สหรัฐอเมริกา แต่ด้วยความที่คุณพ่อสื่อสารภาษาอังกฤษไม่ได้จึงต้องพึ่งพาล่ามภาษาลาวคอยแปลเอกสารให้ พอล่ามเรียก “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” แล้วไม่มีเงินจ่าย ผลสัมภาษณ์เพื่อขอส่งตัวไปอเมริกาปรากฏว่าไม่ผ่าน
ครอบครัวแสนภูมีสมัยอยู่ในค่ายผู้อพยพที่ประเทศไทย Source: Supplied by: Bounchanh Saenphoumy
“ไม่ได้ไปสหรัฐอเมริกา เลยบอกกับตัวเองว่า อ้าว แกเรียนไม่ได้เหรอภาษาอังกฤษ ก็เลยบอกกับตัวเองและครอบครัวว่าไปเรียนภาษาอังกฤษกัน”
ความตั้งใจนำพาให้คุณบุญจันทร์ในวัยเกือบ 20 ปี ตัดสินใจเริ่มเรียนภาษาอังกฤษที่โบสถ์คริสตจักรในค่าย จนได้เป็นศิษยาภิบาลของศูนย์อพยพ
โบสถ์คริสตจักรลาวในศูนย์อพยพ Source: Supplied by: Bounchanh Saenphoumy
ก้าวใหม่ในออสเตรเลีย
หลังจากสี่ปีในศูนย์อพยพก็ถึงเวลาโชคชะตาพลิกผันอีกครั้ง เมื่อครอบครัวของคุณบุญจันทร์ผ่านการสัมภาษณ์ขอส่งตัวมายังออสเตรเลีย
“พวกผมมาในฐานะผู้อพยพที่มาจากเมืองไทย ได้วีซ่าอนุญาตให้มาอยู่ที่นี่เป็นผู้ลี้ภัยโดยถาวร พาสปอร์ตไม่มี เจ้าหน้าที่ออสเตรเลียเขาจะทำกระดาษแผ่นหนึ่งขึ้นมา ยังเก็บไว้ให้ลูกดูอยู่ ระบุบอกว่าชื่ออะไร นามสกุลอะไร วันที่เดือนปีเกิด มาจากไหน นั่นเป็น ID (เอกสารประจำตัว) ตัวเดียวที่มาถึงออสเตรเลีย”
จุดหมายปลายทางแรกเมื่อมาถึงแผ่นดินออสเตรเลียคือ Villawood Detention Centre (สถานกักกันวิลลาวูด) หรือที่แต่ก่อนเรียกว่า “ศูนย์อพยพชั่วคราว” คุณบุญจันทร์เล่าว่า ช่วงสามเดือนในวิลลาวูดมีเจ้าหน้าที่มาแนะนำการหางาน ช่วยเหลือเตรียมความพร้อมแก่ผู้ลี้ภัยก่อนออกไปตั้งต้นชีวิตใหม่ในออสเตรเลีย
จากนั้น คุณบุญจันทร์ในวัย 20 ต้นเริ่มทำงานหาเลี้ยงตัว งานแรกเป็นงานทำความสะอาดในบ้านพักคนชราก่อนจะเปลี่ยนมาทำงานโรงงาน พร้อมกับสานความตั้งใจเรียนภาษาอังกฤษไปด้วย
“เขาเรียกว่าเป็นงานโรงงาน ทำหัวน็อตให้โรงงานเหล็ก ตอนนั้นสามโมงตอนเย็นถึงสามโมงตอนเช้า... 12 ชั่วโมง เหตุผลที่ทำอย่างนั้นเพราะว่าตอนกลางวันมีเวลาไปเรียนภาษาอังกฤษ อยากเรียน”
ทั้งเรียนทั้งทำงานจนแทบไม่มีเวลา เลิกงานปั่นจักรยานกลับบ้านดึกดื่นจนบางครั้งกังวลว่าจะโดนปล้น ถึงอย่างนั้น คุณบุญจันทร์บอกว่าแม้จะลำบากแต่ก็เป็นชีวิตที่สนุก
“ถ้าเปรียบเทียบกับที่อยู่เมืองลาวกับที่อยู่ศูนย์อพยพ ลำบาก แต่มันก็สนุกดี เรายังมีอนาคต ยังมีอาหารการกินอยู่สบาย ตัวอย่าง อยู่บ้านเรา อยู่เมืองลาวสมัยโน้น อาหารการกินมันก็ไม่มี”
วัยหนุ่มของทนายบุญจันทร์ แสนภูมี Source: Supplied by: Bounchanh Saenphoumy
กว่าจะเป็นทนายบุญจันทร์
จากนั้นคุณบุญจันทร์ได้ทุนจากโบสถ์คริสเตียนไปเรียนด้าน Theology (ศาสนาศาสตร์) ทำงานเป็นศิษยาภิบาล 4-5 ปี ก่อนลาออกกลับไปทำโรงงานเดิม แต่ทำได้ไม่นานก็ตกงาน
คุณบุญจันทร์ในวัย 20 กลางตัดสินใจกลับไปเรียนภาษาอังกฤษแล้วต่อมหาวิทยาลัย เดิมทีสนใจเป็นโบรกเกอร์หุ้นเลยเลือกเรียนสาขาเศรษฐศาสตร์การเงิน แต่สักพักพบว่าไม่เหมาะกับตัวเอง เพื่อนร่วมเรียนเห็นว่าคุณบุญจันทร์เรียนได้ดีเลยแนะนำจัดแจงให้เปลี่ยนสายไปเรียนกฎหมาย กลายเป็นก้าวแรกสู่เส้นทางอาชีพทนายจนมาถึงทุกวันนี้
“เวลาไปเรียนแล้วมันก็สนุกดี เวลาไปเรียนแล้วถึงรู้ว่ามันมีเกียรติและศักดิ์ศรี มันเป็น privilege profession (อาชีพที่มีเกียรติ) เรามีโอกาสได้ช่วยหลาย ๆ คน มีโอกาสได้ทำในสิ่งที่เป็นผลประโยชน์กับสังคม เป็นผลประโยชน์ต่อชีวิตเราเอง เป็นผลประโยชน์ต่อหลาย ๆ คนในนั้น”
กฎหมายเป็นสาขาอาชีพต้องอาศัยทักษะภาษาอย่างมาก ยิ่งคุณบุญจันทร์มาออสเตรเลียตอนอายุระดับหนึ่งแล้วยิ่งต้องใช้เวลาเรียนรู้ ทั้งยังมีภาษาเฉพาะทางด้านกฎหมาย คุณบุญจันทร์ยกตัวอย่างว่า ถ้าเพื่อนใช้เวลา 2 ชั่วโมงอ่านเอกสารคดีที่เรียน ตัวคุณบุญจันทร์ต้องใช้ 4-5 ชั่วโมง
แต่ในความยากนั้นก็มีข้อดีอยู่เช่นกัน เมื่อความท้าทายแปรเปลี่ยนเป็นพลังให้ยิ่งทุ่มเท
“มันไม่ใช่ภาษาอังกฤษที่ใช้โดยทั่วไป เป็นภาษาอังกฤษที่พิเศษของ profession (สายอาชีพ) ของทนาย ฉะนั้นนั่นคือสิ่งที่เราต้องรู้ตรงนั้น แต่มันก็มีจุดดีอย่างหนึ่ง ในฐานะที่เราเป็นคนต่างชาติมาเรียนกฎหมาย เราเข้าใจทั้งตัวกฎหมายและต้นที่มาของภาษาที่เขาใช้ด้วย”
“เพื่อน ๆ ของผมสมัยที่เรียนด้วยกันเขาเป็นฝรั่งเกิดที่นี่ เขาก็มาขอคำแนะนำจากเรา เพราะเหตุผลที่ว่าเราไม่ใช่รู้กฎหมายอย่างเดียว แต่เรารู้ต้นที่มาของมันด้วย เราศึกษามากกว่า เราเรียนมากกว่าเขา”
เรียนกฎหมายว่าไม่ง่ายแล้ว หลังจบการศึกษาก้าวเข้าสู่อาชีพทนายเต็มตัวนั้นยากยิ่งกว่า
“ยากกว่าเรียน แต่ยอมรับว่าสนุกกว่าเรียน ก็คือเราได้ใช้ชีวิตจริง เวลาเดินเข้าศาล เข้าไปในศาลทำคดี เราก็รู้อยู่ว่า 50:50 ระหว่างเขากับเรา”
คุณบุญจันทร์ แสนภูมี ในบทบาททนายความ Source: Supplied by: Bounchanh Saenphoumy
คุณบุญจันทร์เล่าถึงคดีที่ยากที่สุดในชีวิตคดีหนึ่ง กับสี่วันที่ Supreme Court (ศาลฎีกา) รู้ว่าอีกฝ่ายเหนือว่า ทั้งเครียดทั้งกดดัน วันที่เดินไปศาลถึงกับร้องเพลงขึ้นมาจนผู้ช่วยทัก คุณบุญจันทร์ตอบว่า
“เพราะฉันเครียด ฉันถึงร้องเพลง ไม่ร้องเพลงมันไม่ลดผ่อน มันเครียดหนักกว่าเดิม”
สุดท้ายความพยายามต่อสู้คดีก็ผลิดอกออกผล นั่นคือช่วงเวลาแห่งความภาคภูมิใจของคนเป็นทนาย
“วันที่สี่ ผู้พิพากษาหันเปลี่ยนเข้ามายอมรับข้อเสนอของทางฝ่ายผม วันนั้นเดินออกจากศาล ยอมรับว่าเหมือนกับดาราเพราะคนไปศาลเยอะ คดีพลิก เดินออกมาใครก็อยากถ่ายรูปด้วย (หัวเราะ)”
ชีวิตคือการเรียนรู้
เป็นเวลา 30 กว่าปีนับจากวันแรกที่เด็กหนุ่มชาวลาวคนหนึ่งระหกระเหินลี้ภัยสงครามติดตามครอบครัวข้ามมาฝั่งไทย จนโชคชะตานำพามาสู่ดินแดนใหม่ที่มีชื่อว่าออสเตรเลียทุกวันนี้ ทนายบุญจันทร์ แสนภูมี เป็นที่รู้จักในฐานะทนายคู่ขวัญผู้ให้คำปรึกษาแก่ชุมชนคนไทยและคนลาวในประเทศนี้มายาวนานเกือบสองทศวรรษ คุณบุญจันทร์ฝากข้อคิดในการทำงานไว้ว่า
ทนายบุญจันทร์ แสนภูมี ทนายความคู่ขวัญชุมชนไทยลาวในนครซิดนีย์ Source: Supplied by: Bounchanh Saenphoumy
“ไม่ใช่ว่าทุกคดีที่ผมทำชนะทุกครั้ง ดีทุกครั้ง ผมก็เรียนรู้ ยอมรับว่าในชีวิตนี้มันก็มีบางคดีที่ถ้าเป็นเหมือนวันนี้ผมอาจจะให้คำแนะนำไปแบบนั้น เผื่อที่ลูกค้าคนนั้นจะได้อย่างนี้”
“ชีวิตคนเราเรียนไปด้วย แต่เรื่องความจริงใจทางด้านการทำงานผมมีจริง เต็มร้อย... พี่น้อง น้องๆ ท่านผู้ฟังหลายคนก็มีอาชีพของตนเอง ผมเชื่อว่าทุกคนก็ใส่ใจทำทุกอย่างในอาชีพของตนเอง”
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
ฟัง/อ่านเรื่องราวอื่นๆ ในพอดคาสต์ ซีรีส์ My Journey: