“หลานม่า” ภาพยนตร์ที่สะท้อน เจนเนอเรชัน ความซับซ้อน และชีวิต

LM director.jpg

คุณ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องหลานม่า Credit: Supplied/ GDH

คุณ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องหลานม่า พูดคุยถึงเบื้องหลังการถ่ายทำ แนวคิด และ ความเป็นมนุษย์ ของภาพยนตร์ที่กำลังเป็นที่พูดถึงทั่วทั้งเอเชีย พร้อมชี้อะไรเป็นปัจจัยของความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องนี้


กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน

คุณ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องหลานม่า พูดคุยกับเอสบีเอสไทยถึงเบื้องหลังปรากฎการณ์ภาพยนตร์ไทยที่กำลังเป็นที่พูดถึงทั่วทั้งเอเชีย ว่าฟีดแบคเรื่องนี้เกินความคาดหมายและทำให้เค้ารู้ว่ายังมีกลุ่มคนชอบหนังแนวนี้อยู่มากในหลากหลายประเทศ

“feedback ก็เกินความคาดหมายของผม แล้วมันเป็น feedbackที่ยาวนานต่อเนื่อง เราก็ชื่นใจที่มีคนที่พร้อมดูหนังแบบนี้กระจายตัวกันอยู่หลายส่วนของโลก”

ครอบครัวใหญ่ในความทรงจำ

คุณพัฒน์เล่าว่าหัวใจของความสำเร็จเรื่องนี้อาจจะเป็นที่ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนความทรงจำที่ครั้งหนึ่งเราเคยอยู่ในครอบครัวใหญ่ และภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถ่ายทอดและส่งผ่านความรู้สึกโหยหาที่อยู่ใต้จิตสำนึกของคนหมู่มาก

LM beukin grandma.jpg
ภาพยนตร์เรื่องหลานม่าออกฉายในหลายประเทศในเอเชีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ Credit: Supplied/GDH
"ความเห็นส่วนตัวผมคิดว่า เราอยู่ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน จากครอบครัวใหญ่ไปสู่ครอบครัวเดี่ยว มันอยู่ในช่วง transitionของพวกเราหลายๆ คนที่กระจายกันอยู่ทั่วโลก”

ครอบครัวใหญ่มันเป็นสิ่งที่พิเศษ ที่มีคนทุกเจนเนอเรชัน อยู่ใน event เดียวกัน มันเป็นความทรงจำที่ค่อยๆหายไป แล้วหนังเรื่องนี้มันกลับไปเล่าเรื่องนั้น
คุณ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับภาพยนต์เรื่องหลานม่า
คุณ พัฒน์ ชี้ว่าความเข้าใจมนุษย์เป็นสิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ พยายามจะเสนอทุกแง่มุมของมนุษย์ที่ไม่มีใครถูกไม่มีใครผิดไปเสียทั้งหมด ซึ่งผู้ชมสามารถจะมีความรู้สึกร่วมได้ว่าตัวละครที่ดูอยู่มีชีวิตจริงๆ

“มนุษย์มันไม่มีถูก ผิด ไม่มีคนร้าย ไม่มีคนดี ไม่มีใครเห็นแก่ตัวมากน้อยไปกว่ากัน คนเราแค่อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกัน ถูกเลี้ยงดูมาต่างกัน เวลาเราทำหนังเราจะต้องเล่าทุกด้าน แล้วคนดูจะประกอบตัวละครนั้นขึ้นมาเอง แล้วเขาจะรู้สึกว่าคนนี้เป็นมนุษย์”

LM no one good or bad.jpg
ภาพยนตร์เรื่องหลานม่าสะท้อนความเป็นมนุษย์ที่ไม่มีใครดีหรือร้ายไปทั้งหมด Credit: Supplied/GDH

นักแสดงในเรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญ คุณพัฒน์เล่าว่าการแคสติ้งและได้นักแสดงหลักในเรื่องอย่าง บิวกิ้น (พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล) และยายแต๋ว (อุษา เสมคำ) มีส่วนที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมามีชีวิตจริงๆ เพราะเคมีที่เข้ากันของทั้งคู่ ที่แค่อยู่ด้วยกันก็ทำให้ยิ้มได้
ตอนเขา (ยายแต๋ว) อยู่กับบิวกิ้นมันน่ารัก แค่เห็นเค้าอยู่ด้วยกันเราก็ยิ้มแล้ว
คุณ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับภาพยนต์เรื่องหลานม่า

LM beukin grandma cute.jpg
ความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นหนึ่งหัวใจหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้ Credit: Supplied/GDH

ส่วนประเด็นหลักในภาพยนตร์เรื่องนี้ คุณพัฒน์เปิดเผยว่า ตอนแรกมันอาจแตกออกไปในหลายประเด็นไม่ว่าจะเป็นความทรงจำที่สวยงาม แต่เมื่อหลังจากได้พัฒนาบทและค้นคว้าข้อมูลจึงทำให้พบว่าประเด็นสังคมผู้สูงอายุในไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นใหญ่ของภาพยนตร์


เพียงแต่สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เสนอออกมาอาจจะไม่ใช่ในแง่มุมที่ตอกย้ำความหดหู่ของสังคม แต่เป็นการใช้ทักษะด้านภาพยนต์ถ่ายทอดออกมาให้ผู้ชมได้รับรู้บทุกมุมมองตัวละคร

การเรียนรู้ผ่านความรู้สึกทางอารมณ์นี้อาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมต่อประเด็นดังกล่าวได้ไม่มากก็น้อย

ผมรู้สึกว่าความจริงมันเป็นสิ่งที่หดหู่อยู่แล้ว เราไม่อยากตอกย้ำประเด็นนี้ แค่ใช้สกิลของเรา สะท้อนให้เห็นครบทุกมุม ของทุกเจนเนอเรชัน ทุกวิธีคิด โดยไม่ตัดสินใคร
คุณ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับภาพยนต์เรื่องหลานม่า
"แล้วถ้าคนดูเกิดความรู้สึกทางอารมณ์เค้าจะเกิดการเรียนรู้ และมันอาจนำไปสู่ (หรือถ้าเกิดว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงอะไร) สิ่งที่ก่อสร้างจากใจเค้ามันจะส่งผลได้ใกล้เคียงที่สุด”

รายละเอียดการฉายภาพยนตร์เรื่องหลานม่าในออสเตรเลีย

ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ คุณ  แบรดลี อีตัน (Bradley Eaton) และ คุณ หลุยส์ กีออก์ (Louis Georg) เจ้าหน้าโปรแกรมภาพยนตร์ของ Hoyts ได้ให้สัมภาษณ์กับเอสบีเอสไทยเป็นกรณีพิเศษชี้แจงว่า

ภาพยนตร์เรื่องหลานม่าเป็นภาพยนตร์จากประเทศไทยเรื่องที่สอง ที่ทางโรงภาพยนตร์ได้นำมาจัดฉายในออสเตรเลีย โดยเมื่อ 7 ปีที่แล้วมีภาพยนตร์ไทยเรื่อง Bad Genius ที่ได้เข้ามาให้ผู้ชมได้รับชมเมื่อปี 2017 คุณ หลุยส์ กีออก์ เล่าให้ฟังว่า

"มันนานมาแล้วที่ไม่ได้มีภาพยนตร์จากประเทศไทยเข้ามาฉาย ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดจำได้ว่าชื่อเรื่อง Bad Genius ออกฉายในปี 2017 ก่อนที่ฉันจะทำงานที่ Hoyts เสียอีก แล้วก็เกิดโควิด และถ้ามีหนังไทยที่ได้ลิขสิทธิ์การจัดจำหน่ายในออสเตรเลียคงมีน้อยมาก นี่จึงเป็นหนังไทยเรื่องแรกในยุคของผมที่ได้เข้าฉายในออสเตรเลียและออกฉายในวงกว้าง"

Hoyts interview.jpg
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ Hoyts ให้สัมภาษณ์กับเอสบีเอสไทยเรื่องการเข้าฉายของภาพยนตร์เรื่องหลานม่าในออสเตรเลีย Credit: SBS Thai

ขณะนี้ภาพยนตร์หลานม่าได้กำหนดเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ 21 แห่ง พร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 18 กรกฎาคมนี้ และอาจมีการขยายเวลาและเพิ่มรอบหากลูกค้ามีความต้องการเพิ่มขึ้น

"เริ่มต้นด้วยโรงภาพยนตร์ 15 แห่งและจากนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ชม ซึ่งตอนนี้เราก็ได้เปิดฉายเพิ่มในเขตภูมิภาคมากขึ้น"

"ดังนั้นหากใครต้องการตั๋ว ผมคิดว่าไปที่ดูที่หน้าเว็บไซต์ของเราจะดีที่สุดส่วนในตามเมืองใหญ่ในออสเตรเลีย เราจะมีโรงภาพยนตร์ที่ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้แน่นอน"

"และถ้าใครอยากจะจองแบบกลุ่มส่วนตัว เป็นกลุ่มใหญ่หรือเป็นงานปิดก็ได้เช่นกัน"

ส่วนจะฉายถึงเมื่อไหร่นั้น คุณกีออก์ เปิดเผยว่า ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ชม หากมีเสียงตอบรับดีอาจจะขยายเวลาออกไปอีก

คุณ กีออก์ และคุณ อีตัน อธิบายว่า

"ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ชม เราอยากจะฉายให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่สัปดาห์หน้าจะมีหนังฟอร์มใหญ่เข้ามาฉายชน เราไม่อยากให้ใครต้องพลาดหนังเรื่องนี้"

ขอแนะนำให้คุณไปในช่วงสัปดาห์ที่เปิดฉาย และหากเราดูว่าผู้ชมมีความต้องการชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ในสัปดาห์เปิดตัว เราจะยืดเวลาฉายหนังเรื่องนี้ต่อไปอีกหนึ่งสัปดาห์
คุณ หลุยส์ กีออก์ และ คุณ แบรดลี อีตัน เจ้าหน้าที่จาก Hoyts

ปีนี้เป็นปีทองของภาพยนตร์ไทย คุณ คุณ กีออก์ เผยว่าในเดือนหน้าออสเตรเลียจะมีภาพยนตร์ไทยอีกหนึ่งเรื่องเข้ามาฉาย นั้นก็คือเรื่อง ยูเรนัส2324

"ยูเรนัส 2324 จะเป็นเรื่องถัดไปที่กำลังจะฉายในออสเตรเลีย น่าจะเป็นวันที่ 8 สิงหาคม เป็นภาพยนตร์ของเบ็คกี้และฟรีน"

คุณกีออก์และคุณอีตันทิ้งท้ายว่าหากอยากให้ภาพยนต์เรื่องใดของไทยเข้ามาฉายในออสเตรเลียอีก ผู้ชมสามารถเข้าไปให้ความเห็นในทุกช่องทางของผู้จัดฉายภาพยนตร์ได้

LISTEN TO
Lann ma movie interview fix image

“หลานม่า” ภาพยนตร์ที่สะท้อน เจนเนอเรชัน ความซับซ้อน และชีวิต

SBS Thai

17/07/202422:13

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่  





 

 

Share