DOI BOY: ความฝัน โอกาส และความหลากหลายทางสังคม

DOI BOY_Main KA_TH (1).jpg

"ดอย บอย" ภาพยนตร์ไทยที่ฉายทางเน็ตฟลิกซ์ทั่วโลก

คุณนนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ดอยบอย ที่กำลังฉายทางเน็ตฟลิกซ์ทั่วโลก พูดคุยกับเอสบีเอสไทยเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นในการสร้างภาพยนตร์ที่กล้าตีแผ่ประเด็นหลากหลายทางสังคมที่น้อยคนจะยอมรับและรับรู้



คลิก ▶ ด้านบนเพื่อฟังเรื่องนี้



“มนุษย์เรามันเลือกที่จะฝันได้ด้วยเหรอ”

ประโยคบอกเล่าธรรมดาที่จับใจผู้กำกับหนังสารคดีอย่างคุณ นนทวัฒน์ นำเบญจพล และเป็นจุดกำเนิดของการตั้งคำถามจนเป็นการเดินทางที่นำไปสู่การค้นพบเรื่องราวของมนุษย์ที่มีความหลากหลายจนกลายมาเป็นภาพยนตร์ที่ผู้ชมพูดถึงกันในสื่อโซเชียลมีเดียกันอย่างมากในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา

ดอยบอย (Doi Boy) เป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงชีวิตของคนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย โดยที่มีเรื่องราวและการนำเสนอประเด็นทางสังคมที่ไม่ค่อยมีภาพยนตร์ไทยหยิบเอามาตีแผ่เท่าไหร่นัก โดยผ่านการเล่าเรื่องของตัวละครหลักสามคน



คุณนทวัฒน์ นำเบญจพล
คุณนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องดอย บอย

คุณนนทวัฒน์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามนี้ว่าเป็นช่วงที่ทำภาพยนตร์ “ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง” ซึ่งเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรกของเขา การได้สัมผัสพื้นที่ชายแดนของประเทศไทยมันเปิดมุมมองแบบคนเมืองของเขาตั้งแต่นั้นมา

“ตามปกติแล้วเนี่ยเวลาพูดถึงประเทศไทย ในหัวผมก็จะมีแค่กรุงเทพ แต่พอไปอยู่ที่ชายแดน จังหวัดศรีสะเกษเป็นเวลาเดือนกว่าๆ ก็รู้สึกว่าประเทศไทยมันไม่ใช่แค่นี้นะ มันมีอะไรมากกว่านั้นเยอะ โดยเฉพาะบริเวณชายแดน มันมีเรื่องของ conflict มีทั้งเรื่องการผสมผสานทางวัฒนธรรมหลากหลาย ทุกอย่างมันตื่นตาตื่นใจไปหมดเลย ผมเลยตั้งใจจะ explore ชายแดนทั่วประเทศไทย“

คุณนทวัฒน์เล่าว่าจุดกำเนิดของภาพยนตร์เรื่องดอยบอยมาจากการได้เดินทางมาสำรวจภาคเหนือเพื่อทำสารคดี และก็ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของคนไทใหญ่ เขาจึงตั้งคำถามเกี่ยวกับการเดินทางของคนกลุ่มนี้ในเมืองไทย

 “มันเกิดจากการที่ผมทำ “ดินไร้แดน” เมื่อ4-5 ปีที่แล้ว เริ่มจากการ explore ภาคเหนือ เริ่มจากเชียงใหม่ กับเชียงรายเพราะไปเที่ยวบ่อย (ตอนแรก) ไม่ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของคนไทใหญ่ขนาดนั้น แต่พอรับรู้การมีอยู่ของเค้า หลังจากนั้นก็เห็นพวกเขาตลอดเวลารอบกายเลย"

เลยเกิดคำถามว่าทำไมคนไทใหญ่ถึงมาอยู่ที่ภาคเหนือของไทยเยอะขนาดนี้
คุณนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับภาพยนตร์

”ผมก็เริ่มหาข้อมูลแล้วสุดท้ายก็เริ่มได้เข้าไปถ่ายที่บริเวณรัฐกันชน ระหว่างไทยกับพม่า จังหวัดเชียงราย เป็นกองกำลังของชาติไทใหญ่ แล้วก็สัมภาษณ์คนเป็นการแคสติงไปในตัว“

การพูดคุย สัมภาษณ์ชีวิตของคนไทใหญ่จำนวนมาก ทำให้คุณนทวัฒน์ได้พบกับสิ่งที่จับใจจนนำมาเป็นแก่นของภาพยนต์เรื่องนี้ ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นเรื่องประเด็นของคนชายขอบ แต่หากมันเป็นเรื่องธรรมดาที่เราไม่คาดคิดอย่างเรื่อง "ความฝัน"


DOI BOY_Main KA_EN.jpg
ภาพยนตร์เรื่องดอย บอย ภาพยนตร์ที่มีที่มาจากความฝันและประเด็นหลากหลายทางสังคม

“มันมีคำถามหนึ่งที่เค้า (เด็กวัยรุ่นไทใหญ่ที่เป็นทหาร) ตอบมา เรื่องความฝัน ถามว่าฝันอยากเป็นอะไร ซึ่งถ้าถามเด็กกรุงเทพก็จะบอกว่าผมอยากเป็นนั่น หนูอยากเป็นนี่ บางคนอยากเป็นหลายอย่างจนงงว่าอยากเป็นอะไร แต่พอถามคนที่อยู่รัฐกันชน เค้าก็มีความ dead air ขึ้นมานิดนึง เค้าไม่รู้จะตอบยังไง“

มีประโยคหนึ่งที่เกิดขึ้นมา และทำให้เกิด ดอยบอยคือ มนุษย์เราเนี่ยมันเลือกจะฝันได้ด้วยเหรอ ซึ่งมันทัชเรามากเพราะเป็นทัศนคติหรือมุมมองที่เราไม่เคยคิดได้มาก่อนว่ามันจะมีสิ่งนี้อยู่
คุณนนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับภาพยนตร์

จากการสัมภาษณ์คนไทใหญ่หลายๆคน จนทำให้คุณนนทวัฒน์ได้มาเจอกับเรื่องราวที่ทำให้ประหลาดใจมากมายที่ทับซ้อนกันในชีวิตคนหนึ่งคน ซึ่งในสายตาคนทั่วไปอาจเป็นเรื่องแปลกแต่มันกลายมาเป็นเรื่องธรรมดาของคนบางกลุ่มในสังคมและเขาได้ขมวดประเด็นเหล่านี้ในภาพยนตร์เรื่องนี้

“ในคนหนึ่งคนมันรวมประเด็นไว้หลากหลายมากเลย เราก็เลยสนใจมาก มันมีทั้งเรื่อง gender เรื่องของการข้ามแดน เรื่องของชนชั้น เรื่องของการเมือง สงคราม อยากทำเป็นหนังนี่แหละแต่มันอาจไปกระทบกับชีวิตของเค้า"

"เราก็เลย split ออกมาเป็น 2 โปรเจค โปรเจคหนึ่งก็เป็นสารคดีที่ทำเสร็จไปแล้ว ดินไร้แดน และอีกอันหนึ่งทำเป็น ดอย บอย ที่มันเป็น fiction แล้วเอาประเด็นที่เราสนใจ แล้วเอามาใส่เข้าไปเป็น fiction เรื่องดอย บอย“

เมื่อพูดถึงเรื่องการย้ายถิ่น ย้ายประเทศ สะท้อนสภาพสังคมประเทศนั้นๆ อย่างไร คุณนทวัฒน์มีความเห็นว่ามันก็มีพื้นฐานมาจากความฝัน เขาพูดว่ามันไม่ผิดที่ใครอยากมีชีวิต มีทางเลือกที่ดีกว่าเดิมและขึ้นอยู่กับว่าพื้นที่นั้นให้โอกาสกับความฝันของเราได้กลายมาเป็นความจริงมากแค่ไหน


”ผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องใหม่ทุกอย่างมันเริ่มต้นมาจากความฝัน ทุกคนฝันอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น อยากมีทางเลือกให้กับชีวิต ทุกคนมีดีหมดไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม อยู่ที่ว่าอยู่ถูกที่ถูกทาง อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อกับฝันของเรามากขนาดไหน ถ้าเค้าคิดว่าพื้นที่ที่เค้าอยู่ไม่ fit in กับฝันที่เค้ามี การย้ายถิ่นฐานก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว“

การนำเสนอประเด็นทางสังคมผ่านงานศิลปะจะช่วยขับเคลื่อนสังคมได้อย่างไร คุณนทวัฒน์สรุปว่าการมีบทบาททำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างบทสนทนา อาจช่วยให้เกิดความคิดใหม่ที่หลากหลายและนำไปสู่มุมมองการแก้ปัญหาที่ดีกว่าเดิมในอนาคต

 ”ผมทำงานเสร็จออกมาแล้ว ถ้าผู้ชมสามารถที่จะพูดคุย แลกเปลี่ยนความเห็น และได้คำตอบเหมือนที่ผมได้ หรือ อาจเกิดบทสนนา เกิดการแลกเปลี่ยนทางความเห็นกัน แล้วมันได้คำตอบดีขึ้น ใหม่ขึ้น หรือหลากหลายมากกว่านั้น มันก็ถือว่าประสบความสำเร็จ และอาจช่วยขับเคลื่อนทางสังคมทางหนึ่ง”



คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 







บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 



Share