ผู้ปกครองคนไทยถกประเด็น 'การศึกษาทางเลือก' ในออสเตรเลีย

home school group 3.jpeg

กลุ่มเด็กที่เรียน home school ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ออกไปทำกิจกรรมการเรียนรู้ Credit: Supplied

หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด ออสเตรเลียมีจำนวนเด็กที่มาเรียนโรงเรียนทางเลือก มากขึ้นกว่าเท่าตัว เอสบีเอสไทยจะพาไปสำรวจว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้ผู้ปกครองคนไทยเลือกการศึกษาทางเลือกให้แก่บุตรหลาน และการศึกษาทางเลือกนี้ มีข้อดี และข้อด้อยอย่างไร และทำไมจึงเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง


กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน

จากข้อมูลล่าสุดพบว่า หลังจากการแพร่ระบาดของโควิดเป็นต้นมา ในออสเตรเลียมีจำนวนเด็กที่มาเรียนโรงเรียนทางเลือกเช่น home school หรือ virtual school มากขึ้นกว่าเท่าตัว เอสบีเอสไทยจะพาไปสำรวจว่าชุมชนไทยมีความาคิดเห็นต่อการศึกษาทางเลือกอย่างไร มีข้อดี และข้อด้อยอย่างไร และทำไมจึงเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง

ดร. รีเบกกา อิงลิช อาจารย์อาวุโส มหาวิทยาลัย Queensland University of Technology และเป็นนักวิจัยที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับการเรียนแบบทางเลือก เปิดเผยข้อมูลล่าสุดกับเอสบีเอสไทยว่า ปัจจุบันในออสเตรเลียมีเด็กที่เรียนแบบ home school ถึง 45,000 คน ทั่วประเทศ

โดยที่รัฐควีนสแลนด์ มีอัตราการเติบโตของการเรียนแบบ home school มากที่สุด โดยเติบโตมากถึง 194% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รองลงมาคือรัฐนิวเซาท์เวลส์ และรัฐวิกตอเรียตามลำดับ ส่วนอีก 3 รัฐที่เหลือคือรัฐแทสมาเนีย แคปิตอลเทร์ริทอรี และนอร์ทเทิร์นเทร์ริทอรี ยังไม่มีตัวเลขล่าสุดของเด็กที่เรียน home school อย่างเป็นทางการ

ปัจจัยที่ทำให้เด็กในออสเตรเลียเลือกการศึกษาทางเลือกมากขึ้น

มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตของการเรียนแบบทางเลือกดังกล่าว ดร. รีเบกกา ชี้ว่าจากผลการวิจัยของเธอพบว่า ปัจจัยภาวะความบกพร่องทางอารมณ์ สังคมและพฤติกรรม หรือความเจ็บป่วยทางจิต ต่างก็เป็นประเด็นที่ส่งเสริมการเติบโตของการศึกษาทางเลือกของผู้ปกครอง

นอกจากนั้นยังมีประเด็นเรื่องของความไม่เชื่อมั่นในการศึกษาในระบบ และอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่มองข้ามไม่ได้นั่นก็คือปัญหาเรื่องของการกลั่นแกล้งรังแกในโรงเรียน หรือการที่โรงเรียนไม่มีการจัดการเรื่องความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพเพียงพอ

เอสบีเอสไทยสำรวจความคิดเห็นของคนในชุมชนไทยในออสเตรเลียที่เลือกการศึกษาทางเลือกให้กับลูกๆ พบว่า ประเด็นที่กล่าวมานั้นสอดคล้องกับการวิจัยของ ดร. รีเบกกา

เช่น คุณ กุ้ง คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวลูกสอง จากนครเมลเบิร์นเล่าให้เอสบีเอสไทยฟังว่า ลูกของเธอต้องออกมาสมัครเรียนออนไลน์ซึ่งเป็นหลักสูตรของ Victoria Virtual school เพราะเจอปัญหาการถูกบูลลีหรือการ
กลั่นแกล้งรังแกที่โรงเรียน
Girl attending online school classes from home
โรงเรียน Victoria Virtual school ในรัฐวิกตอเรีย เป็นโรงเรียนที่มีการสอนโดยครูทางออนไลน์ Credit: simonkr/Getty Images

บวกกับการตรวจพบว่าลูกมีอาการที่ทำให้เกิดความบกพร่องทางด้านพัฒนาการทางภาษาและการสื่อสาร การเข้าสังคม หรือ ออทิสติก ทำให้เกิดภาวะเครียดวิตกกังวลจนไม่ยอมไปโรงเรียน ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนโรงเรียนหลายโรงเรียนแต่ยังไม่ดีขึ้น คุณกุ้งจึงตัดสินใจให้ลุกออกมาเรียนโรงเรียนทางเลือก คุณกุ้งเล่าเรื่องราวของเธอว่า

“ที่ส่วนหนึ่งตัดสินใจเรียนเพราะด้วยความที่ว่าเค้า (ลูกของคุณกุ้ง) โดนบูลลีที่โรงเรียน แล้วพาไปหากุมารเวช เพราะเค้ามีความเครียด พาไปเทสถึงรู้ว่าลูกมีอาการออทิสติก level 2 เปลี่ยนโรงเรียนมาเยอะเหมือนกัน ก็ยังโดนบูลลีอยู่ จิตแพทย์เลยแนะนะให้มาเรียน virtual school”

ส่วนลูกคนโต คุณกุ้งเล่าว่าประสบปัญหาการถูกกลั่นแกล้งรังแก และถูกเพื่อนทำร้ายร่างกาย จนทำให้เกิดความเครียดว่าจะไม่ปลอดภัยกับชีวิต จึงหยุดไปโรงเรียนเช่นกัน

“อย่างลูกคนโตมีปัญหากับ teenager gang ที่โรงเรียน โดน attack 4- 5 รอบ ไปแจ้งตำรวจแต่อายุต่ำกว่า 18 ตำรวจก็ไม่ทำอะไร ก็เลยกลัว เลยไม่กล้าไปโรงเรียน ต้องออกจากโรงเรียน ไม่กล้าอยู่จนถึง year 12”
คุณกุ้งเปิดเผยว่า โรงเรียน Victoria Virtual school เป็นโรงเรียนที่มีการสอนโดยครูทางออนไลน์ และช่วยลูกๆ ของเธอได้มากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเธอเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว แต่การที่จะเข้าไปเรียนได้นั้นต้องมีใบรับรองจากกุมารแพทย์ จิตแพทย์ หรือ บุคลกรที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อรับรองว่าว่าเด็กมีความเหมาะสมที่จะเรียน virtue school คุณกุ้งเปิดเผยว่า
การ enroll จะต่างจาก home school เพราะ virtual school ต้องมี referral จากหมอเพื่อที่ยืนยันว่าเค้าเหมาะสมที่จะเข้าไปเรียน
คุณกุ้ง คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวจากนครเมลเบิร์น

นอกจากปัจจัยด้านสุขภาพจิตและความบกพร้องด้านการเรียนรู้แล้ว ปัจจัยด้านความสะดวกการเดินทางและการย้ายที่อยู่อาศัยบ่อย ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่พ่อแม่ในชุมชนไทยตัดสินใจที่จะให้ลูกมีการศึกษาทางเลือก คุณ นัท จากรัฐแทสมาเนีย บอกกับเอสบีเอสไทยว่า

“ตอนที่น้องเค้าถึงเกณฑ์เค้าคินเดอร์ เราก็ไปสมัครตามปกติ แต่ตอนนั้นนัทเพิ่งหัดขับรถ และต้องมีคนที่มี full licence อยู่ด้วยแล้วพอสามีไปทำงานก็ไม่มีใครไปส่งน้อง ที่ทำงานกับโรงเรียนอยู่คนละทางกัน เป็นปัจจัยที่ไม่มีใครไปรับไปส่งน้องที่โรงเรียน ก็เลยมาหา option ว่าจะทำยังไงให้น้องได้เรียน ก้เลยเรียนเป็น home school”

การย้ายที่อยู่บ่อย ทำให้ลูกต้องย้ายโรงเรียนบ่อยๆ และไม่ค่อยมั่นใจในคุณภาพการสอนของครูและโรงเรียน จึงเป็นปัจจัยที่คุณใหม่จึงตัดสินใจว่าให้ลูกเรียน home school

“เราย้ายที่อยู่บ่อย มันก็หาโรงเรียนยาก กว่าจะได้ที่เรียนก็เดี๋ยวก็ต้องย้ายอีกแล้ว ก็เลยทำ home school ดีกว่า อีกอย่าง หลักสูตร (ที่โรงเรียน) ไม่ค่อยเข้มข้นอย่างที่เราคาดหวัง เราต้องมาสอนซ้ำอีก ถ้าเราสอนเองตั้งแต่แรกเลยดีกว่า”

ข้อดีของ home school

การเรียนแบบ home school มีข้อดีอย่างไร ทำไมครอบครัวชาวออสเตรลียมากขึ้นจึงให้ลูกเรียน home school และมีไม่น้อยที่พ่อแม่ผู้ปกครองเหล่านั้นเป็นครูมาก่อน แต่ทำไมถึงเลือกออกจากงานและให้ลูกเรียนแบบการศึกษาทางเลือก

homeschool group 2.jpeg
ปัจจุบันในออสเตรเลียมีเด็กที่เรียนแบบ homeschool ถึง 45,000 คน ทั่วประเทศ Credit: Supplied

คุณ พอล เจ้าของเพจ Western Sydney Homeschool club ซึ่งมีสมาชิกกว่า หนึ่งพันคน และเป็นอดีตคุณครูด้วย เปิดเผยว่า การเรียนแบบ home school หรือ no school เป็นการเรียนรู้ที่มีเด็กเป็นศูนย์กลางทำให้เด็กเข้าใจตัวเอง ได้เรียนรู้ในสิ่งที่พวกเขาสนใจจริงๆ และยังเป็นการช่วยพัฒนาทักษะทางอารมณ์ของคนเป็นพ่อแม่ด้วย

“ข้อดีข้อแรกเลยคือเราเอาเด็กเป็นศูนย์กลางจริงๆ เรามองความสนใจลูกเป็นหลัก แล้วพาเค้าไปหาวิชาที่เค้าสนใจ อย่างระบบในโรงเรียนมีเด็ก 20-30 คนการเรียนการสอนต้องเอาความรู้มาให้เหมาะสมกับทั้งเด็กที่มีพื้นฐานต่างๆ กัน เค้าสามารถเรียนด้วยจังหวะของเค้าเอง พ่อแม่ก็สามารถได้พัฒนาตัวเองด้วย เพราะเวลาอยู่กับลูกมันก็ต้องมีอารมณ์หงุดหงิดบ้าง แต่เราต้องมีสติ ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก”


พ่อแม่ในชุมชนไทยพูดถึงข้อดีของการเรียนแบบทางเลือก ไว้หลายประเด็นค่ะ ไม่ว่าจะเป็น การที่ลูกสามารถมีทางเลือกมากขึ้น สามารถเลือกเรียนในเวลาที่พวกเขาต้องการและเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจจริงๆ และ ได้รับการใส่ใจในสิ่งที่พวกเขาต้องการ

มีการช่วยเหลือหรือสนับสนุน ไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ และมีการเรียนรู้ทักษะจำเป็นในการใช้ชีวิตได้ดีกว่า

“ข้อดีคือให้เด็กมีทางเลือกมากขึ้น ไม่ต้อง hide อยู่กับบ้าน การเรียนการสอน มี flexible เรื่องเวลาเรียนมากขึ้น”

“การเรียน home school เราสามารถวางแผนได้เอง ว่าเราจะเลือกเรียนเรื่องนี้ เรียนกี่โมง”

“น้องเค้าสามารถเรียนในหนังสือหรืออะไรที่ต้องค้นคว้า 3-4 ชั่วโมง หลังจากนั้นเราก็พาเค้าออกไปข้างนอกได้ น้องมีเวลาทำในสิ่งที่เค้าอยากจะทำ การออกไปทัศนศึกษาก็เป็นการหาความรู้อย่างนึง เพราะความรู้ไม่ได้มีแต่ในหนังสือ ”

homeschool 1.jpeg
คุณนัทจากรัฐแทสมาเนียเปิดเผยว่าข้อดีของการ home school คือการที่เด็กได้เรียนในสิ่งที่ชอบและมีเวลาออกไปเรียนรู้ผ่านการทัศนศึกษา Credit: Supplied

อุปสรรคในการเรียนแบบ home school

ข้อเสียเปรียบของการเรียนแบบทางเลือกแบบนี้ คืออะไร พ่อแม่ในชุมชนไทย ก็เปิดเผยว่า อาจจะเป็นเรื่องของการจัดสรรคเวลาระหว่างผู้ปกครองให้ดี เพื่อที่จะมีเวลาพาลูกไปทำกิจกรรมการเรียบนรู้

หรือ การที่ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองบางครั้งอาจทำให้เด็กขาดความกระตือรือร้นได้ และอาจมีปัจจัยภายนอกเช่นการเข้าถึงเทคโนโลยีหรืออินเตอร์เน็ตที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเรียนแบบทางเลือกได้ คุณกุ้ง เปิดเผยว่า

“เด็กอาจจะไม่สามารถเรียนตัวต่อตัวได้ แล้วเด็กที่มีความเครียดอาจจะ motivate ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ มันก็อาจทำให้วันนั้นไม่ค่อย engage กับการเรียนเท่าไหร่ แล้วอีกอย่างคือเรื่องอินเตอร์เน็ต ถ้าอินเตอณ์เน็ตล่มก็ไม่สามารถ access เข้าไปเรียนได้”

 ส่วนคุณพอลเล่าว่า

“อาจเป็นเรื่องการจัดการเวลามากกว่า เป็นการจัดสรรเวลาระหว่างพ่อแม่ วันนี้แม่พาลูกไปทำกิจกรรม หรือ วันนี้พ่อพาไปทำกิจกรรม แต่ถามว่าเหนื่อยไหม ต้องบอกว่าเหนื่อยมาก แต่เรามองว่าตรงนี้คือการสร้างพื้นฐานที่ดีให้กับลูก”

แม้ว่าจะเป็นเรื่องดีที่เด็กสามารถมีการศึกษาทางเลือกมากขึ้นในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องการศึกษาและทางเลือกการศึกษาเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองควรใช้วิจารณญาณและพิจารณาถึงความเหมาะสมของแต่ละครอบครัว

คุณสามารถค้นหาข้อมูลทางการศึกษาได้จากเว็บไซต์กระทรวงการศึกษา หรือ department of education ในรัฐของคุณ

ฟังรายงานเรื่องนี้แบบเต็มๆ ได้ที่นี่ :
LISTEN TO
Home school report podcast  image

ผู้ปกครองคนไทยถกประเด็น 'การศึกษาทางเลือก' ในออสเตรเลีย

SBS Thai

23/09/202416:59

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share