สภาพภูมิอากาศแปรปรวนเป็นภัยคุกคามมวลมนุษย์ในปี 2023

Melting icebergs drift off near a glacier in Scoresby Fjord, Greenland

ภูเขาน้ำแข็งที่กำลังละลาย ที่เมืองสกอร์สบี้ ฟยอร์ด ประเทศกรีนแลนด์ Source: Getty / OLIVIER MORIN

สภาวะโลกร้อนนับเป็นข่าวสำคัญตลอดทั้งปี 2023 มองย้อนถึงการจัดการปัญหานี้ของมวลมนุษย์ใน 12 เดือนที่ผ่านมา


กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน

มนุษยชาติเหลือเวลานานเท่าไหร่?

เมื่อเดือนมกราคม ปี 2023 “นาฬิกาวันโลกาวินาศ (Doomsday Clock)” ระบุว่าเราใกล้ถึงเวลานั้น 90 วินาทีก่อนเที่ยงคืน โดยเวลาเที่ยงคืนเป็นเวลาของทฤษฎีทำลายล้างโลก

นาฬิกาวันโลกาวินาศเป็นนาฬิกาที่แสดงให้เห็นเวลาที่โลกจะสิ้นสุดว่านานแค่ไหน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ด้านปรมาณู (atomic scientist) ตั้งเวลาที่จะทำลายล้างมวลมนุษยชาติไว้ และเวลาในปีนี้เร็วกว่าปีที่แล้ว 10 วินาที

ทุกๆ ปีนักวิทยาศาสตร์จะขยับเข็มนาฬิกาให้เหมาะสมกับค่าของภัยคุกคามในขณะนั้น

คุณพอล อินแกรม (Paul Ingram) ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยคุกคามจากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ (Cambridge University) กล่าวว่าสถานการณ์สงครามในยูเครนและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง (climate change) เป็นตัวแปรในการคาดการณ์

“หากเรายังคงให้การแข่งขันและการขัดแย้งเป็นวิธีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและปฏิสัมพันธ์กับระบบนิเวศของเรา เราจะพินาศ เมื่อภัยคุกคามขยายวงกว้างขึ้น และเราเริ่มตระหนักถึงเรื่องนี้มากขึ้น เราจะเข้าใจมากขึ้น ผมคิดว่าเรายังมีความหวัง แต่เราต้องเปลี่ยนวิธีที่เราคิดและวิธีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้”
โดยเฉพาะเมื่อเดือนมกราคม ปี 2023 ที่เรามีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง น้ำท่วม ไฟป่า และคลื่นความร้อนจัด (heatwaves)

คุณเกร็ก มัลลินส์ (Greg Mullins) อดีตกรรมาธิการหน่วยดับเพลิงและกู้ภัยแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์กล่าวว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังเห็นผลจากการเพิกเฉยปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ผ่านมา

“มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก เพราะเราเจอภัยพิบัติซ้ำๆ ผลกระทบอีกอย่างหนึ่งของสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงคือภัยพิบัติรุนแรงขึ้น ขณะที่คุณเพิ่งจะฟื้นตัวจากภัยพิบัติครั้งก่อนหน้า ก็เจอภัยพิบัติอีกครั้งหนึ่ง และสิ่งที่รัฐบาลควรเน้นคือการลดผลกระทบจากสิ่งนี้"
เราต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยด่วน เราจะมอบโลกของเราให้ลูกหลานและคนรุ่นหลังอย่างไร
คุณมัลลินส์กล่าว
มือถือลูกโลกจำลอง
มือถือลูกโลกจำลอง Credit: pexels
เดือนกุมภาพันธ์ สภาภูมิอากาศ (Climate Council) เผยแพร่รายงานเดอร์ตี้ โดเซน (Dirty Dozen) ซึ่งจงใจใช้ชื่อนี้เพื่อทำให้บริษัทก่อมลพิษจากเชื้อเพลิงฟอสซิล 12 รายใหญ่ต้องอับอาย เช่น เชฟรอน (Chevron) บีเอชพี (BHP) และเชลล์ (Shell)

ด็อกเตอร์เจนนิเฟอร์ เรย์เนอร์ (Jennifer Rayner) หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนสภาสภาพอากาศกล่าวว่าบริษัทเหล่านี้ต้องลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโดยด่วน

“เราอยากให้บริษัทในรายงานเดอร์ตี โดเซนเปลี่ยนแปลง โดยการหาแหล่งเชื้อเพลิงใหม่ เปลี่ยนเทคโนโลยี โดยเฉพาะบริษัทที่ใช้พลังงานฟอสซิลให้เปลี่ยนธุรกิจใหม่ เพราะเวลาของเชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังจะหมดลง”

ในเดือนมีนาคม คณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) เผยแพร่รายงานที่ยืนยันว่ามนุษย์เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน (global warming) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gas emissions) อย่างต่อเนื่อง

ศาสตราจารย์มอลต์ ไมน์สเฮาเซน (Malte Meinshausen) จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น (University of Melbourne) กล่าวกับเอสบีเอส (SBS) ว่าเวลาเรากำลังจะหมดลง
ทศวรรษนี้เป็นทศวรรษสุดท้าย และทศวรรษ 2030 เป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะมีโอกาสรักษาภาวะโลกร้อนให้อยู่ที่ 1.5 องศา
"ในการประเมินครั้งต่อไป โอกาสนั้นจะไม่มีแล้ว”
ร่างกฎหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรัฐบาลบังคับให้ผู้ปล่อยก๊าซรายใหญ่ของประเทศ 215 รายต้องลดการปล่อยก๊าซลง 4.9% ต่อปี

ขณะที่องค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organisation หรือ WMO) เตือนว่าระดับน้ำทะเลทั่วโลกกำลังเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม 2 เท่า จากระดับที่เคยวัดได้ในทศวรรษแรกที่ทำการวัดระหว่างปี 1993 – 2002

“เราพ่ายแพ้กับการต่อสู้กับการละลายของธารน้ำแข็ง ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และนั่นเป็นข่าวร้าย จากข้อมูลของ IPCC ประมาณการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอยู่ที่ครึ่งเมตรถึงหนึ่งเมตรต่อทศวรรษ”

ในเดือนมิถุนายน ผู้นำทั่วโลกรวมตัวกันที่การประชุมสุดยอดที่เมืองปารีส เพื่อหารือเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศ คุณเกรตา ทุนเบิร์ก (Greta Thunberg) นักรณรงค์เรื่องสภาพภูมิอากาศกล่าวว่าเวลาของโลกกำลังจะหมดลง
ก๊าซเรือนกระจกอยู่ในระดับสูงที่สุดในประวัติการณ์ และความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (C02) ไม่เคยสูงขนาดนี้ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
"เรากำลังเดินไปผิดทาง และวิทยาศาสตร์บ่งชี้ชัดเจน ผู้ที่เป็นแนวหน้าในการรณรงค์เรื่องความฉุกเฉินของสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงได้แจ้งเตือนมาเป็นเวลานานแล้ว” คุณทุนเบิร์กกล่าว
ในเดือนกรกฎาคมก็มีฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายเมืองทั่วโลก ทั้งบริเวณตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย หลายจังหวัดในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน รวมถึงคลื่นความร้อนเซอร์เบอรัส (Cerberus*) ที่ปกคลุมทั่วซีกโลกเหนือ

*ชื่อเซอร์เบอรัสตั้งตามชื่อสุนัขที่เฝ้าประตูนรกในตำนาน

ศาสตราจารย์ฮันนาห์ โคลก (Hannah Cloke) นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรีดดิ้ง (Reading University) กล่าวว่าความร้อนสามารถฆ่าคนได้ และทำนายอนาคตที่หม่นหมอง
เราเห็นคลื่นความร้อนรุนแรงเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว เห็นคลื่นความร้อนที่รุนแรงก่อนหน้านั้นเช่นกัน
"มันแย่ลงเรื่อยๆ เราติดกับอยู่กับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เราควรหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเพราะจะสร้างปัญหามากยิ่งขึ้นในอนาคต”

และเดือนกรกฎาคมก็เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดที่เคยบันทึกในประวัติศาสตร์

รายงานระหว่างรุ่น (Intergenerational Report) ของรัฐบาลออสเตรเลียมองอนาคตอีก 40 ปีข้างหน้าและรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง จิม ชาลเมอร์ส (Jim Chalmers) กล่าวว่า รายงานนี้เป็นเครื่องเตือนใจว่าไม่ควรเสียเวลาในการดำเนินการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“เราไม่สามารถนิ่งเฉยกับอนาคตได้ การนิ่งเฉยอาจสร้างความเสียหายได้มากที่สุดเมื่อเป็นเรื่องของสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เราเคยนิ่งเฉยกับเรื่องนี้ และเราได้สูญเวลาไปมาก”
ควันพิษจากปล่องที่โรงงาน
ควันพิษจากปล่องที่โรงงาน Source: Pixabay
ฤดูร้อนปีนี้ที่ออสเตรเลียมีแนวโน้มว่าจะร้อนและอันตราย

สำนักอุตุนิยมวิทยา (Bureau of Meteorology) ประกาศว่าออสเตรเลียเข้าสู่รูปแบบสภาพภูมิอากาศเอลนีโญ (El Niño) ซึ่งเป็นสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง และหน่วยฉุกเฉินกังวลเรื่องการเกิดไฟป่าทั่วประเทศ

มีการสรุปหลักฐานความเสียหายจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงของปีที่การประชุม COP-28 การประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (United Nations Climate Change conference) ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

หนึ่งในผลลัพธ์จากการประชุมคือการตั้งกองทุนการสูญเสียและความเสียหาย เพื่อสนับสนุนประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

ทูตสภาพภูมิอากาศจากบาร์เบโดส อาวินาช เพอร์โซด์ (Avinash Persaud) กล่าวว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นสิ่งที่ประเทศของเขารอมานาน

“โดยเฉพาะรัฐเกาะเล็กๆ ที่เป็นตัวบ่งชี้เรื่องสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงได้อย่างดี ประสบความสูญเสียและความเสียหายก่อนใคร และได้พยายามโต้เถียงถึงความจำเป็นเรื่องการระดมทุนนี้ ประเทศที่เปราะเรื่องสภาพภูมิอากาศมักจะเป็นประเทศที่มีหนี้มากที่สุดในโลก เพราะไม่มีเงินทุนในการบูรณะและฟื้นฟู”

แต่เมื่อมีการแถลงการณ์ในขั้นสุดท้าย หลายประเทศก็ผิดหวังที่ไม่มีการความมุ่งมั่นในการตกลงยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

หัวหน้าฝ่ายสภาพภูมิอากาศและพลังงานแห่งกรีนพีซ ออสเตรเลีย (Head of Climate and Energy at Greenpeace Australia) เจส พาเนไจเรส (Jess Panegyres) กล่าวกับเอสบีเอสว่าการต่อสู้ต่อไปยังคงสำคัญ
ข้อดีคือผู้นำโลกเห็นพ้องในสิ่งที่จำเป็น และนั่นคือการเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล
"แต่ที่น่าผิดหวังคือยังไม่มีแผนปฏิบัติการเรื่องนี้ เรายังสู้ต่อไปเพื่อรักษาอุณภูมิให้อยู่ที่ 1.5 องศา นั่นเป็นสิ่งที่เพื่อนบ้านในแปซิฟิกของเราขอ และนั่นคือสิ่งที่เราต้องการในออสเตรเลีย เพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติไฟป่า น้ำท่วม และอากาศร้อนจัด”

นักวิทยาศาสตร์บอกเราว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาที่อันตรายที่สุดที่มนุษยชาติกำลังเผชิญ ความคืบหน้าในปีนี้ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อไป


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share