ประเด็นสำคัญ
- คณะกรรมการแฟร์เวิร์กกำลังถูกกดดันให้ประกาศเพิ่มค่าจ้าง
- สหภาพแรงงานต่างๆ ต้องการให้ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 7 เปอร์เซ็นต์หรือเพิ่มขึ้นราว 57 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์สำหรับพนักงานฟูลไทม์
- กลุ่มธุรกิจกล่าวว่า นายจ้างสามารถจ่ายค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นได้เพียง 3.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
"พวกเราเป็นคนที่มีงานทำแต่ก็ยังยากจนอยู่ ... ไม่มีความสมดุลระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิต เพราะเราไม่มีเงินพอที่จะใช้ชีวิตได้"
ความเห็นในทำนองนี้ เช่นเดียวกับความเห็นของผู้ช่วยผู้จัดการร้านค้าปลีกที่ทำงานฟูลไทม์ผู้หนึ่ง กำลังถูกเสนอต่อคณะกรรมการแฟร์เวิร์ก ซึ่งกำลังพิจารณาว่าจะขึ้นค่าแรงให้แก่ลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างในอัตราต่ำที่สุดของออสเตรเลียหรือไม่ เพื่อเพิ่มเงินในกระเป๋าของพวกเขา
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในระดับสูงและอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้นกำลังสร้างความยากลำบากให้แก่ครัวเรือนต่างๆ การตัดสินใจครั้งนี้ของคณะกรรมการแฟร์เวิร์กจึงเป็นเรื่องที่ยากเย็น
คณะกรรมการแฟร์เวิร์ก หรือคณะกรรมการเพื่อการจ้างงานที่เป็นธรรม (Fair Work Commission) จะแจ้งคำตัดสินการพิจารณาเรื่องค่าจ้างประจำปีก่อนกลางปี
กลุ่มธุรกิจต่างลังเลกับการขึ้นค่าจ้าง
กลุ่มนายจ้างต่างโต้แย้งว่า ธุรกิจต่างๆ สามารถจ่ายค่าแรงที่จะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.5 เท่านั้นสำหรับลูกจ้างที่ได้ค่าจ้างในอัตราค่าแรงขั้นต่ำ (minimum-wage) และค่าจ้างขั้นต่ำตามประเภทอุตสาหกรรม (award-wage) รวม 2.6 ล้านคน
สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งออสเตรเลีย (ACCI) สมาคมร้านขายของชำของออสเตรเลีย และกลุ่มนายจ้างอื่นๆ กล่าวว่าอัตราการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 3.5 เปอร์เซ็นต์นั้น เหมาะสมแล้ว เมื่อพิจารณาแรงกดดันต่อภาคส่วนต่างๆ
ACCI องค์กรตัวแทนกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ระบุว่า ข้อเสนอของสภานั้น เทียบเท่ากับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 4 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากยังรวมถึงการเพิ่มเงินซูเปอร์ให้แก่ลูกจ้างอีก 0.5 เปอร์เซ็นต์ด้วย
ซึ่งจะส่งผลให้ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็น 841.04 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์
"ธุรกิจสนับสนุนการเพิ่มค่าจ้าง แต่ต้องเป็นอัตราที่สมเหตุสมผลและมีความรับผิดชอบ" นายแอนดรูว์ แมคเคลลาร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ACCI กล่าวว่า
สมาคมค้าปลีกแห่งออสเตรเลียได้เรียกร้องให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 3.8 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ค่าครองชีพลดลงบ้าง แต่ก็ยังคงสูงอยู่
อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 7.4 เปอร์เซ็นต์สำหรับช่วงหนึ่งปีจนถึงเดือนธันวาคม 2022 ตามดัชนีราคาผู้บริโภครายไตรมาสของสำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลีย
แต่ลดลงมาอยู่ที่ 6.8 เปอร์เซ็นต์สำหรับช่วงหนึ่งปีจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ตามตัวบ่งชี้รายเดือนของสำนักสำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลีย และคาดว่าจะลดลงต่อเนื่อง
ขึ้นค่าจ้างกี่เปอร์เซ็นต์จึงจะดีตามความเห็นของสหภาพแรงงาน?
เมื่อคำนึงถึงตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน สหภาพแรงงานกล่าวว่า ACCI และสมาคมร้านขายของชำของออสเตรเลีย กำลังโต้แย้งให้มีการลดมูลค่าที่แจ้งจริงของค่าจ้าง (real pay cut) 1,500 ดอลลาร์ต่อปีสำหรับลูกจ้างฟูลไทม์ที่ได้ค่าจ้างตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ
ซึ่ง ACCI และสมาคมร้านขายของชำของออสเตรเลียเสนอ เท่ากับการมีรายได้ลดลงราว 1,350 ดอลลาร์
สหภาพแรงงาน ACTU ได้เสนอให้มีการเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 7 เปอร์เซ็นต์ หรือเพิ่มขึ้นราว 57 ต่อสัปดาห์ หรือ 3,000 ต่อปีสำหรับลูกจ้างฟูลไทม์ที่ได้ค่าจ้างตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ
สหภาพแรงงานโต้แย้งว่าอัตราการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องสอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน
ปีที่แล้ว กลุ่มนายจ้างโจมตีการตัดสินใจของคณะกรรมการแฟร์เวิร์ก ที่เสนอให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5.2 เปอร์เซ็นต์ และ 4.6 เปอร์เซ็นต์สำหรับค่าจ้างขั้นต่ำตามประเภทอุตสาหกรรม (award-wage)
ในปีที่แล้ว กลุ่มนายจ้างกล่าวว่า อัตราที่เสนอนี้จะทำให้มีความเสี่ยงในการจ้างงาน และกระตุ้นให้เกิดเงินเฟ้อ
การโต้แย้งในทำนองเดียวกันนี้ได้เกิดขึ้นในปีนี้เช่นกัน
สหภาพแรงงานโต้แย้งว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อคือผลกำไรของบริษัท เนื่องจากบริษัทต่างๆ กำลังได้ประโยชน์จากห่วงโซ่อุปทานที่ตึงตัว (tight supply chains) ส่วนใหญ่เนื่องมาจากสงครามในยูเครน
นางแซลลี แมคมานัส เลขาธิการ ACTU กล่าวว่าธุรกิจต่างๆ ไม่ได้กำลังประสบความยากลำบาก
"ธุรกิจต่างไปได้ดีในช่วงการฟื้นตัวจากโควิดและช่วงเงินเฟ้อ กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น 18.9 เปอร์เซ็นต์ในปี 2022 การล้มละลายอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ธุรกิจจึงมีเงินพอที่จะสามารถจ่ายได้"
นายแอนดรูว์ แมคเคลลาร์ กล่าวว่า ค่าจ้างที่พุ่งสูงขึ้นจะสร้างแรงกดดันให้กับธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจครอบครัวในช่วงเวลาที่พวกเขาสามารถจ่ายได้น้อยที่สุด
“ภาคส่วนที่ต้องพึ่งพาค่าจ้างขั้นต่ำตามประเภทอุตสาหกรรม เช่น ภาคที่พัก ภาคการบริการ การค้าปลีก ภาคธุรการ ภาคศิลปะ และภาคนันทนาการ ต่างก็ประสบกับผลกำไรที่ลดลงในช่วงสองปีที่ผ่านมา” นาย แมคเคลลาร์ กล่าว
ธนาคารกลางแห่งออสเตรเลียกล่าวในแถลงการณ์ล่าสุดสัปดาห์ที่แล้วว่า การเติบโตของค่าจ้างนั้น "สอดคล้องกับเป้าหมายเงินเฟ้อ ทั้งนี้หากผลิตภาพเพิ่มขึ้น"
นาย โทนี เบิร์ก รัฐมนตรีด้านแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งเป็นอดีตตัวแทนสหภาพแรงงานด้านลูกจ้างค้าปลีก กล่าวว่า ค่าจ้างกำลังตามไม่ทันค่าครองชีพ
แต่ธนาคารกลางก็จับตาดูความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ “wage-price spiral” ซึ่งเป็นวัฏจักรการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างและราคาสินค้าเป็นวงจรต่อเนื่องกัน เนื่องจากกำลังการผลิตสำรองที่จำกัดในระบบเศรษฐกิจและอัตราการว่างงานที่ต่ำเป็นประวัติการณ์
ลูกจ้างที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำกำลัง 'วิ่งตามรถเมล์'
นางแซลลี แมคมานัส เลขาธิการ ACTU กล่าวว่า ไม่มีภาวะ “wage-price spiral” (การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างและราคาสินค้าเป็นวงจรต่อเนื่องกัน) หลังจากการตัดสินใจเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อปีที่แล้ว
“การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 5 เปอร์เซ็นต์ในปีที่แล้วแทบไม่มีผลกระทบต่อการเติบโตของค่าจ้างโดยรวม นายจ้างไม่ควรได้รับอนุญาตให้รีไซเคิลเหตุผลเดิมๆ มาอ้างเพื่อขอลดมูลค่าที่แท้จริงของค่าจ้าง (real wage) ให้น้อยลงไปอีก” นาง แมคมานัส กล่าว
แม้ว่ารัฐบาลพรรคแรงงานจะไม่ได้ระบุตัวเลขเปอร์เซ็นต์ที่แน่นอนไว้ แต่วางแนวทางที่รัฐบาลต้องการคือ "รัฐบาลออสเตรเลียแนะนำให้คณะกรรมการแฟร์เวิร์กต้องทำให้แน่ใจได้ว่ามูลค่าที่แท้จริงของค่าจ้าง (real wage) สำหรับลูกจ้างค่าแรงขั้นต่ำในออสเตรเลียจะไม่ก้าวถอยหลัง"
นาย โทนี เบิร์ก รัฐมนตรีด้านแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งเป็นอดีตตัวแทนสหภาพแรงงานด้านลูกจ้างค้าปลีก อธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้มีรายได้น้อยว่า "เหมือนกับเมื่อคุณพยายามวิ่งไล่ตามรถบัส และรถบัสกำลังแล่นไปอย่างเร็วกว่าที่คุณจะวิ่งตามได้"
“ขณะที่มีบิลเก็บเงินเข้ามา ค่าจ้างของผู้คนก็ตามไม่ค่อยจะทันอยู่แล้ว เราจึงต้องการทำให้แน่ใจได้ว่าคนงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเหล่านั้นสามารถตามทัน และสุดท้ายแล้วก็ช่วยพาพวกเขากลับขึ้นรถบัสได้”
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ขึ้น ลง หรือคงที่ สถาบันการเงินออสฯ มองทิศทางดอกเบี้ยอย่างไร