รายงานจากสภาสหภาพแรงงานแห่งออสเตรเลีย หรือ เอซีทียู ชี้ว่า ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส ค่าบริการดูแลเด็ก ค่าเช่าบ้าน และราคาบ้าน กำลังพุ่งสูงขึ้น มากกว่าดัชนีชี้วัดค่าครองชีพ
รายงานดังกล่าว ซึ่งเอซีทียู เผยแพร่ออกมาในวันนี้ (ศุกร์ 12 ต.ค.) แสดงให้เห็นว่า ค่าไฟฟ้า ได้เพิ่งสูงขึ้นร้อยละ 10.4 ในปีที่ผ่านมา ขณะที่ค่าแก๊สเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 ในช่วงเวลาเดียวกัน
ค่าบริการดูแลเด็กก็เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉลี่ยร้อยละ 6 ขณะที่ค่าเดินทางนั้นเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 5
ค่าที่พักอาศัย เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยสูงกว่าร้อยละ 3 เล็กน้อย เช่นเดียวกันกับค่าบริการสุขภาพ ขณะที่ค่าบริการด้านการศึกษามากขึ้นร้อยละ 2.7 ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
สถิติดังกล่าวเผยให้เห็นค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นนำหน้าดัชนีราคาผู้บริโภค (consumer price index) ที่เป็นมาตรฐานชี้วัดการใช้จ่ายของครัวเรือน ซึ่งในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาจนถึงช่วงไตรมาศในเดือนมิถุนายนนั้น ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.1
รายงานดังกล่าวของ เอซีทียู จึงเรียกร้องให้มีการปฏิวัติอย่างเร่งด่วน ให้นำมาตรการการต่อรองกลุ่มระหว่างกลุ่มลูกจ้างกับกลุ่มนายจ้างในอุตสาหกรรมต่างๆ (multi-employer bargaining) กลับมาใช้ได้อีกครั้งหนึ่ง ให้มีการกำหนด ‘ค่าจ้างเพื่อชีวิต’ (living wage) หรือค่าจ้างที่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานได้ ให้เพิ่มค่าจ้างภาคราชการ และพยายามทำให้กฎหมายแรงงานช่วยลดจำนวนงานที่ไม่มั่นคงให้น้อยลง
นางแซลลี แมคมานัส เลขาธิการเอซีทียู กล่าวว่า ขณะที่เงินเดินผู้บริหารสูงสุดของธุรกิจต่างๆ เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 5.2 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ แต่ชาวออสเตรเลียที่เหลือกลับเห็นค่าจ้างของพวกเขามีกำลังซื้อน้อยลง
“ประชาชนกำลังรู้สึกถึงผลกระทบจริงๆ จากการที่ต้องพยายามให้งบประมาณครัวเรือนขยายไปให้พอกับค่าใช้จ่าย ซึ่งมากกว่าที่สถิติอย่างเป็นทางการบ่งชี้ และการศึกษาวิจัยชิ้นนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าค่าครองชีพหลักๆ กำลังเพิ่มขึ้นสูงกว่า ซีพีไอ (ดัชนีราคาผู้บริโภค)” นางแมคมานัส กล่าว
“ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ค่าจ้างจะก้าวถอยหลังในขณะเดียวกันกับที่จำนวนลูกจ้างที่ได้รับการปกป้องจากข้อตกลงเงื่อนไขและสภาพการจ้างงานระหว่างกลุ่มนายจ้างกับกลุ่มลูกจ้าง (collective agreements) นั้นล่มสลายลง”
เธอกล่าวว่าการศึกษาวิจัยของเอซีทียู พบว่า มีลูกจ้างน้อยลงอีก 700,000 คนที่อยู่ภายใต้สัญญา collective agreements เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อ 3 ปีก่อน
ด้านนางเคลลี โอ ดไวเอร์ รัฐมนตรีด้านแรงงานสัมพันธ์ ที่คัดค้านการผลักดันเรื่องนี้ของสหภาพแรงงานมาอย่างแข็งขัน กล่าวว่า การสร้างงานให้มีมากขึ้นต่างหาก ที่จะผลักดันให้ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นได้
เธอกล่าวว่า รัฐบาลพรรคร่วมได้ริเริ่มมาตรการที่ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งนำไปสู่การสร้างงานตำแหน่งใหม่ 1.1 ล้านตำแหน่ง
“ทุกอย่างจะตกอยู่ในความเสี่ยงหมด หากคุณต้องการกระโดดขึ้นเครื่องย้อนเวลาไปหาช่วงก่อนปีทศวรรษ 1970 และสร้างความโกลาหลวุ่นวาย ในที่ทำงานของเรา ด้วยการให้อำนาจที่ลูกจ้างจะกระทำการประท้วง คว่ำบาตร หรือนัดหยุดงานของโดยหวังผลทางเศรษฐกิจ ไปทั่วภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้” นางโอ ดไวเออร์ กล่าวกับเอบีซี
เรื่องราวที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
รัฐบาลเผยแผนผลักดันผู้อพยพไปอยู่ชนบท